สถานการณ์ในช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุลื่นล้มเองโดยเฉพาะผู้สูงอายุ การบาดเจ็บจากรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ เนื่องมาจากฝนตก ถนนลื่น
นอกจากนี้ยังมีอันตรายจากสัตว์และแมลงกัดต่อยได้ เช่น งูมีพิษและงูไม่มีพิษ ผึ้ง แมงป่อง และตะขาบ
รวมถึงโรคที่ตามมาช่วงหน้าฝน เช่น ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 และไข้เลือดออก โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุควรระมัดระวัง มีโอกาสที่จะทำให้เกิดอาการรุนแรงได้
การเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าฝนอื่นๆ
โรคท้องเสีย
โรคที่มาจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน จะทำให้อาหารบูดเสียได้ รวมถึงน้ำหรือน้ำแข็งที่ปนเปื้อนเชื้อโรคแบคทีเรีย เชื้อโปรโตซัว เชื้อไวรัส อาจปนเปื้อนกับอาหารได้ เมื่อทานเข้าไป จะทำให้มีอาการตามมา ในเรื่องของอาหารเป็นพิษ โดยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน มึนงง ท้องเสีย ปวดท้อง ปวดเกร็ง
การป้องกัน รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยต้องสะอาด ปกปิดอาหารให้มิดชิด ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
การรักษา ดื่มเกลือแร่เพราะร่างกายจะเสียเกลือแร่จากการอาเจียน การขับถ่าย ทำให้อ่อนเพลียหน้ามืด เป็นลม ได้
ปวดขนาดไหนที่ต้องมาโรงพยาบาล
ถ้ามีอาการปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน การปฐมพยาบาลเองเบื้องต้นโดยดื่มน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย จิบบ่อยๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีไข้ขึ้นสูง มีท้องเสีย อาเจียน ถ่ายในปริมาณมากหรือมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดท้อง มือ-เท้าเย็น หน้าซีดเหมือนจะเป็นลม เริ่มมีอาการขาดน้ำ และทำให้เกิดช็อกได้ ควรรีบมายังโรงพยาบาล
โรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่
ช่วงหน้าฝนจะพบโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19
ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ พบในทุกกลุ่มอายุ แต่ต้องระวังในกลุ่มผู้สูงอายุถ้าเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ อาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น เมื่อมีอาการไข้หวัดใหญ่แล้วภูมิคุ้มกันไม่ดี เชื้อจะลงปอดทำให้ปอดอักเสบ หรือปอดบวม
ไข้หวัด โดยทั่วไปจะมีอาการ ไอ มีน้ำมูก มีไข้ต่ำ อาจปวดเมื่อยตัวเล็กน้อยได้ ไข้หวัดจะรักษาตามอาการ หายเอง แต่เมื่อไหร่ก็ตามเป็นไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการไข้ขึ้นสูงมากกว่า 38-39 องศาเซลเซียส ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ มีอาการไอ มีน้ำมูก ปวด
ศีรษะ ปวดเมื่อยตัว
การรักษาไข้หวัดใหญ่ โดยปกติกลุ่มอาการของไวรัสไข้หวัดใหญ่ แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส และรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ
***วัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี จึงเป็นสิ่งสำคัญ ฉีดป้องกันก่อนเข้าฤดูฝน หรือเข้าฤดูหนาว ฉีดปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก จะช่วยลดความรุนแรงของการเกิดโรค และลดการแพร่กระจายของโรคได้
โรคติดต่อที่มากับยุง
ยุงพบได้หลายชนิด มีสีที่ต่างกัน ยุงแต่ละชนิดจะเป็นพาหะนำโรคที่แตกต่างกัน ได้แก่
-ยุงลาย เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา ไวรัสซิก้า
-ยุงก้นปล่อง เป็นสาเหตุของโรคไข้มาลาเรีย
-ยุงรำคาญ เป็นสาเหตุของโรคไข้สมองอักเสบเจอี
-ยุงเสือ เป็นสาเหตุของโรคเท้าช้าง
ไข้เลือดออก ติดเชื้อไวรัสเดงกี
มีอาการ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อย มักไม่มีน้ำมูกหรือไอ มีจุดเลือดเล็กบริเวณแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระสีดำร่วมด้วย
การตรวจวินิจฉัย จากการเจาะเลือด
โรคไข้เลือดออก
การรักษา จะรักษาตามอาการและความรุนแรงด้วยการเช็ดตัว ใช้น้ำอุณหภูมิห้อง ห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือไอบูโพรเฟนเด็ดขาด หากมีไข้สูงไม่ลด ให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
โรคชิคุนกุนยา
มีอาการ ไข้สูงเฉียบพลัน ตาแดง มีผื่นแดง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ เกล็ดเลือดไม่ต่ำ ไม่มีเลือดออก
การรักษา แพทย์จะรักษาตามอาการ
โรคมือเท้าปากเปื่อย
มักพบการติดเชื้อในเด็กเล็ก เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enteroviruses มีไข้ เจ็บคอ มีตุ่มที่มือ ปาก เท้า รับประทานอาหารได้น้อย อ่อนเพลีย
การรักษา แพทย์จะรักษาตามอาการ
ตาแดง
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียมักมีตาแดง มีขี้ตามาก ปวดตา ส่วนการติดเชื้อไวรัส มักมีอาการตาแดง น้ำตาไหล ระคายเคืองตา ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
โรคฉี่หนูหรือเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis)
โรคเลปโตสไปโรซิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จะมีหนูที่เป็นพาหะนำเชื้อโรค เนื่องจากเชื้ออยู่ในหนู เมื่อหนูอุจจาระปัสสาวะออกมา เมื่อฝนตกน้ำขัง เมื่อเรามีแผลที่เท้า เดินลุยน้ำขังในช่วงฤดูฝน เชื้อจะเข้าทางบาดแผลได้
อาการ มีไข้ขึ้นสูง 39-40 องศาเซลเซียส ใน 2-3 วันแรก บางรายมีอาการปวดเมื่อยตามน่อง ลำตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ตาเหลืองตัวเหลือง ปัสสาวะไม่ออก
วินิจฉัยโรคได้จากการเจาะเลือดส่งตรวจหาการติดเชื้อ เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเลปโตสไปโรซิส แพทย์จะให้นอนรักษาอาการที่โรงพยาบาล ให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด
การป้องกัน ควรสวมรองเท้าบูทเมื่อเดินลุยน้ำ เมื่อกลับถึงบ้านให้รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ เมื่อมีแผลให้ปิดบาดแผลที่เท้า โดยใช้พลาสเตอร์กันน้ำ ให้สังเกตอาการว่ามีไข้ขึ้นสูง ปวดเมื่อยตัว รับประทานยาลดไข้อาการไข้ไม่ลดลง หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์
อันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจร
การป้องกัน ควรอยู่ห่างสายไฟในบริเวณที่มีพื้นที่เปียก ให้เช็คความเสียหาย และการชำรุดของอุปกรณ์ไฟฟ้า ทำการติดอุปกรณ์ตัดไฟ หากมีไฟรั่วก็สามารถที่จะทำการตัดได้ หรือใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าให้ได้มาตรฐาน
หากพบผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูด วิธีการช่วยเหลือคือ ต้องทำการตัดไฟให้ได้ก่อน โทร 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ ห้ามแตะต้องตัวผู้ป่วยหากยังไม่ตัดไฟฟ้า เมื่อหาทางตัดไฟได้แล้ว ควรนำผู้ป่วยออกมาจากพื้นที่ให้อยู่ในที่ปลอดภัย ประเมินการรู้สึกตัว การหายใจ หากหมดสติหัวใจหยุดเต้นให้ช่วยปั๊มหัวใจทันที
การเกิดอุบัติบนท้องถนน
มักเกิดจากฝนตกแล้วทำให้ถนนลื่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ควรสวมหมวกกันน็อคและรองเท้าหุ้มส้น ผู้ขับขี่รถยนต์ควรขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ความเร็วที่เหมาะสม มีการเช็คสภาพรถตามระยะทาง ที่ปัดน้ำฝน สภาพเบรค เปลี่ยนยางรถเมื่อไม่มีดอกยาง ขับขี่เว้นช่วงระยะห่างที่เหมาะสม ปฎิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด
การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ
การเคลื่อนไหวในผู้สูงอายุ ควรให้ความระมัดระวังไม่ว่าจะเป็นการเดิน การทรงตัว หากลื่นล้มอาจเกิดแผลถลอก กระดูกหักได้ง่าย ศีรษะได้รับบาดเจ็บ
สัตว์และแมลงกัดต่อย
-งู มีทั้งงูมีพิษและไม่มีพิษ ถ้างูไม่มีพิษกัด มักเป็นแค่รอยถลอก แต่ถ้าถูกงูมีพิษกัด มักเห็นรอยเขี้ยว โดยงูที่มีพิษแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่งูที่มีพิษต่อระบบประสาท ระบบเลือดและระบบกล้ามเนื้อ
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด ให้ล้างแผลด้วยการฟอกสบู่ ล้างน้ำสะอาด หลังจากนั้นให้เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ หรือเบตาดีน ที่สำคัญห้ามดูดแผล ห้ามกรีดแผล ห้ามการขันชะเนาะรัดแผล หลังจากนั้นหาไม้ดามและพันแผลเอาไว้ จัดท่าให้ส่วนที่ถูกกัดอยู่นิ่ง ต่ำกว่าระดับหัวใจ และนำส่งโรงพยาบาล ถ้าเป็นไปได้ให้นำซากงูมาด้วย หรือถ่ายรูปไว้ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย หากไม่ทราบชนิดงู ก็จะมีวิธี
การสังเกตอาการ ให้ยารักษาและการเจาะเลือดตรวจให้กับผู้ป่วย
แมงป่องหรือตะขาบกัด
การปฐมพยาบาลให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสบู่ ประคบเย็น หากมีอาการปวดมาก ให้มา โรงพยาบาล แพทย์จะให้ยาแก้ปวด และพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
ผึ้งต่อย
เมื่อถูกผึ้งต่อย การปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้นำเหล็กในออก ไม่ควรใช้แหนบหรือคีมคีบ เพราะอาจทำให้ถุงน้ำพิษแตก ควรใช้บัตรแข็งเขี่ยออก ประคบเย็น หากมีอาการผื่นขึ้น แน่นอก หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง อาเจียน หน้ามืด แสดงว่ามีอาการแพ้รุนแรง ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที
การถูกฟ้าผ่า
ป้องกันการถูกฟ้าผ่า ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ภูเขาสูง เนินเขาสูง บริเวณที่มีความสูง เช่น ดาดฟ้าอาคารสูง และต้นไม้ใหญ่ บริเวณที่มีสื่อนำไฟฟ้าและโลหะ เช่น รั้วลวดหนาม รางรถไฟฟ้า พื้นที่โล่งแจ้ง เช่น สระน้ำ สนามกอล์ฟ ป้ายโฆษณา ทุ่งนา บริเวณโดยรอบที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกฟ้าผ่า
ให้รีบนำออกมาจากพื้นที่บริเวณที่ถูกผ่า ให้การช่วยเหลืออย่างรวดเร็วในผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวหัวใจหยุดเต้นจะมีโอกาสรอดชีวิตได้ และรีบโทร 1669 ขอความช่วยเหลือ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อ.นพ.อุดมศักดิ์ ตั้งชัยสุริยา อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่