ลูกตัวเตี้ย โตช้า ไขปัญหาที่พ่อแม่อยากรู้

23 สิงหาคม 2567

คณะแพทยศาสตร์

การเจริญเติบโตของเด็ก สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ดังนี้



1. ช่วงวัยทารกแรกเกิด ถึง 3 ปี เป็นช่วงที่ความสูงของเด็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยประมาณ 25 เซนติเมตร ในขวบปีแรก และเพิ่มขึ้น 12 เซนติเมตรในปีที่ 2 หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นอีก 7-8 เซนติเมตรในปีที่ 3
2. ช่วงวัยเด็ก หลังอายุ 3 ปี อัตราการเพิ่มขึ้นของความสูงจะค่อนข้างคงที่ ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 5-6 เซนติเมตรต่อปี หากพบการเพิ่มของความสูงน้อยกว่านี้ ให้สงสัยว่าอาจมีความผิดปกติ
3. ช่วงวัยรุ่น วัยเจริญพันธุ์ เป็นช่วงที่การเจริญเติบโตจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง โดยเพิ่มมากที่สุดได้ถึง 8-10 เซนติเมตรต่อปี อย่างไรก็ตามในช่วงวัยรุ่นตอนท้าย อัตราการเพิ่มของความสูงจะชะลอลงและหยุดสูงในที่สุด

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสูงของเด็ก
– ปัจจัยทางพันธุกรรม
– ปัจจัยในครรภ์มารดา
– ปัจจัยด้านโภชนาการ
– ภาวะเจ็บป่วยของร่างกาย โรคประจำตัว
– อิทธิพลของฮอร์โมน มีฮอร์โมนหลายตัวที่มีผลต่อการเจริญเติบโต ที่สำคัญได้แก่ ฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนเจริญเติบโต และฮอร์โมนเพศ

การสังเกตว่าลูกโตช้าหรือไม่
สังเกตเบื้องต้นได้จากการเปรียบเทียบกับเด็กเพศเดียวกัน อายุเท่ากัน เชื้อชาติเดียวกัน และการเข้าเป็นหนุ่มเป็นสาวพอ ๆ กัน
อย่างไรก็ตามหากต้องการความถูกต้องควรเปรียบเทียบข้อมูลกับกราฟการเจริญเติบโตซึ่งอยู่ในสมุดคู่มือสุขภาพแม่และเด็ก หากพบว่าค่าความสูงต่ำกว่าปกติ หรือการเพิ่มของความสูงไม่เป็นตามเส้นกราฟการเจริญเติบโตปกติ ควรมาพบแพทย์

การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการซักประวัติเบื้องต้นเกี่ยวกับการเจริญเติบโตและประวัติพัฒนาการ รวมถึงสอบถามปัญหาด้านสุขภาพและภาวะโภชนาการที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโต หลังจากนั้นจะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียดได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และวัดสัดส่วนร่างกายด้วยเครื่องมือที่ได้มาตรฐานของโรงพยาบาล รวมถึงการตรวจร่างกายอื่น ๆ เพื่อมองหาความผิดปกติที่อาจบ่งชี้ภาวะโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ หากมีความจำเป็นอาจต้องมีการเอกซเรย์อายุกระดูก และการส่งตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงตรวจวัดระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องเพื่อหาสาเหตุของภาวะตัวเตี้ยหรือการเจริญเติบโตผิดปกติต่อไป

ผลกระทบหากเด็กตัวเตี้ย
ผลกระทบขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก หากสาเหตุของภาวะตัวเตี้ยเกิดจากปัญหาทางสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการมีโรคเรื้อรัง หรือมีการขาดออร์โมนต่าง ๆ แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กโดยตรง นอกจากนี้ภาวะตัวเตี้ยอาจส่งผลต่อความมั่นใจในตนเองของเด็ก ดังนั้นหากสงสัยความผิดปกติของการเจริญเติบโต ควรรีบนำเด็กมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและได้รับรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

ทำอย่างไรถึงจะสูงสมวัย และสูงตามศักยภาพพันธุกรรม
– ดูแลสุขภาพของมารดาและทารกให้ดีตั้งแต่ในช่วงตั้งครรภ์
– ดูแลให้เด็กมีสุขภาพดี ด้วยการรับประทานอาหารครบหมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอแต่ไม่หักโหมเกินไป และพักผ่อนเพียงพอ
– ดูแลให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่น้อยหรือมากเกินไป
– ระวังอย่าให้ป่วยบ่อย หากมีโรคประจำตัวให้รับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ดี
– ติดตามการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สังเกตเห็นความผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.ดร.นพ.กานต์ เวชอภิกุล อาจารย์หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่