อาจารย์คณะวิทย์ มช. คว้ารางวัล The Tony Whitten Conservation Prize จากผลงานการวิจัยหอยทากบกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

22 ตุลาคม 2562

คณะวิทยาศาสตร์

             ขอแสดงความยินดีกับ อ.ดร.ณัฐวดี นันตรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับรางวัล The Tony Whitten Conservation Prize ภายใต้องค์กร The Cambridge Conservation Initiative (CCI) จากผลงานการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพและความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของหอยทากบกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งผลงานการพัฒนาโปรแกรมพื้นฐานสำหรับการอนุรักษ์หอยทากบกในพื้นที่ภูเขาหินปูน โดยเฉพาะกลุ่มหอยที่มีฝาปิดเปลือกสกุล Cyclophorus Montfort, 1810 (หอยหอม/หอยภูเขา) โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในเดือนธันวาคม 2562

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัล The Tony Whitten Conservation Prize จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 1000 ปอนด์สเตอร์ลิง อีกทั้งข้อมูลและรูปภาพของผู้ได้รับรางวัลจะได้ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr.Tony Whitten ณ ตึก David Attenborough สำนักงาน Cambridge Conservation Initiative (CCI) ประเทศอังกฤษ ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2562 นอกจากนี้จะมีการประกาศผู้ชนะรางวัลอย่างเป็นทางการเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับรางวัลในวารสารระดับนานาชาติในเครือ Cambridge อย่างวารสาร Oryx-The International Journal of Conservation (Q1, Impact Factor 2018– 2.801) ฉบับเดือนมกราคม 2563 อีกด้วย

//

             รางวัล The Tony Whitten Conservation Prize เป็นรางวัลที่อยู่ภายใต้องค์กร The Cambridge Conservation Initiative (CCI) ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และองค์กรอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพชั้นนำของโลก ที่มุ่งเน้นและเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสากล ทั้งด้านการวิจัย การศึกษานโยบาย รวมถึงการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่ต่อไป

รางวัล The Tony Whitten Conservation Prize เป็นรางวัลที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr.Tony Whitten (1953-2017) นักอนุรักษ์และนักสัตวศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของ Fauna and Flora International เป็นผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่ทำงานกับธนาคารโลก (world bank) อีกทั้งยังได้ร่วมประพันธ์หนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับนิเวศวิทยาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้อุทิศชีวิตให้กับการอนุรักษ์และการศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคเอเชีย

เพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr.Tony Whitten และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่นในการศึกษาด้านการอนุรักษ์และด้านความหลากหลายทางชีวภาพจึงได้มีการจัดตั้งและมอบรางวัล The Tony Whitten Conservation Prize ขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยทาง Cambridge Conservation Initiative (CCI) ได้เชิญผู้ที่สนใจสมัครเพื่อรับรางวัลนี้ โดยจะเปิดรับสมัครกลุ่มนักอนุรักษ์และนักวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพรุ่นใหม่จากเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รางวัลนี้กำหนดให้ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี และมีส่วนร่วมในด้านการอนุรักษ์หรือการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคดังกล่าวสมัครเข้ารับการคัดเลือก รางวัลจะถูกกลั่นกรองโดยคณะกรรมการผ่านเครือข่ายพันธมิตรที่เป็นผู้นำในการวิจัยด้านการอนุรักษ์และการศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยผู้คัดเลือกจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการทำงานด้านการศึกษาวิจัยสิ่งมีชีวิตระดับสปีชีส์และแหล่งที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะบริเวณที่ Dr.Tony Whitten หลงใหลมากที่สุด เช่น ถ้ำ ระบบนิเวศเขาหินปูน รวมถึงกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และปลา ผู้สมัครควรมีสัญชาติ บรูไน กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ติมอร์เลสเต หรือเวียดนาม

สำหรับผลงานด้านการวิจัยของ อ.ดร.ณัฐวดี นันตรัตน์ นั้น อาจารย์ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพและความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของหอยทากบกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งได้ทำการพัฒนาโปรแกรมพื้นฐานสำหรับการอนุรักษ์หอยทากบกในพื้นที่ภูเขาหินปูน โดยเฉพาะกลุ่มหอยที่มีฝาปิดเปลือกสกุล Cyclophorus Montfort, 1810 (หอยหอม/หอยภูเขา) โดยใช้เป็นโมเดลในการศึกษาตั้งแต่ปี 2552

สำหรับหอยในสกุล Cyclophorus นั้น มีการกระจายทั่วไปในเขตกึ่งเขตร้อนและเขตร้อน โดยเฉพาะในเขตภูเขาหินปูนทั้งภูเขาลูกเล็ก-ลูกใหญ่ รวมถึงบนเกาะต่างๆ หอยในสกุลนี้ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการดำรงชีวิตและวิวัฒนาการจากที่อาศัยอยู่ในน้ำไปสู่การอยู่อาศัยบนบก

ในด้านการใช้ประโยชน์หอยกลุ่มนี้เป็นอาหารของสัตว์หลายชนิดไม่ว่าจะเป็น หอยทากกินเนื้อ งูบางชนิด นก (รวมถึงนกเงือกกรามช้าง; Rhyticeros undulates) หนู ลิง รวมทั้งมนุษย์ โดยมีการบริโภคและจำหน่ายหอยชนิดนี้ทั้งในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา

การศึกษาครั้งนี้สามารถตอบคำถามในด้านซิสเทมาติกส์มากมาย รวมถึงมีการศึกษาอนุกรมวิธานและตัวอย่างต้นแบบในหอยสกุล Cyclophorus ในพิพิธภัณฑ์ Natural History Museum of London จัดทำเป็นแคตตาล็อกและทำการตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารระดับนานาชาติไม่ว่าจะเป็น ZooKeys, Molecular Phylogenetics and Evolution, PLOS One และ Scientific Reports โดยการศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับหอยทากบกชนิดนี้ได้ทำการศึกษาร่วมกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติคส์ของสัตว์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำทีมโดย ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา และได้เป็นส่วนหนึ่งของ FFI Limestone Conservation Project in Thailand and Myanmar ในการสร้างลิสท์รายชื่อของหอยทากบกในภูเขาหินปูนในพื้นที่ดังกล่าว


ภาพและข้อมูลโดย อ.ดร.ณัฐวดี นันตรัตน์
อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


แกลลอรี่