มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คว้า 3 รางวัล "สถาบันอุดมศึกษากลุ่มพัฒนาการวิจัย ระดับแนวหน้าของโลก ประจำปี พ.ศ. 2566"

28 มีนาคม 2567

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

        มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัล สถาบันอุดมศึกษากลุ่มพัฒนาการวิจัย ระดับแนวหน้าของโลก ประจำปี พ.ศ. 2566 จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี เข้ารับรางวัลจากนางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานในพิธีมอบรางวัลสถาบันอุดมศึกษากลุ่มพัฒนาการวิจัย ระดับแนวหน้าของโลก ประจำปี พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ณ ห้อง Eternity Ballroom โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ ถนนรางน้ำ กรุงเทพฯ

       โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับรางวัล ดังนี้

  1. รางวัลดีเด่น ด้านการสร้างและพัฒนาระบบนิเวศด้านการวิจัย
  2. รางวัลชมเชย ด้านการสร้างกำลังคนด้านการวิจัยของประเทศ
  3. รางวัลชมเชย ด้านการวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้

       รางวัลสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ประจำปี พ.ศ.2566 เป็นรางวัลเพื่อยกย่องและตระหนักในคุณค่าของผลงาน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างกำลังคนด้านการวิจัยของประเทศ และพัฒนานวัตกรรมจากผลงานวิจัยและองค์ความรู้ขั้นสูง อันจะนำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อเป็นการกระตุ้นและผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษา เห็นความสำคัญและมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ และเพื่อเป็นการประเมินระดับความสำเร็จของผลงานสถาบันอุดมศึกษาในการสร้างและพัฒนาระบบนิเวศด้านการวิจัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการวิจัยระดับแนวหน้าของโลกดีเด่น อันจะสามารถนำผลที่ได้มาใช้ในการขับเคลื่อน การปรับปรุงแนวทาง และการดำเนินงานตามนโยบาย
โดยมีประกาศผลรางวัล ดังนี้

ด้านที่ 1 การสร้างกำลังคนด้านการวิจัยของประเทศ

รางวัลดีเด่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผลงาน "โครงการการพัฒนากำลังคนด้านการวิจัยของประเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง"

รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่

  1. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงาน "โครงการพัฒนาระบบนิเวศวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"
  2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลงาน "โครงการการสร้างกำลังคนด้านเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม"

ด้านที่ 2 การวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้

รางวัลดีเด่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผลงาน "การวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้"

รางวัลชมเชย จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงาน "โครงการพัฒนาระบบนิเวศวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"

ด้านที่ 3 การสร้างและพัฒนาระบบนิเวศด้านการวิจัย

รางวัลดีเด่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงาน "โครงการพัฒนาระบบนิเวศวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"

รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่

  1. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลงาน "ระบบสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์และสร้างผลกระทบสูง"
  2. มหาวิทยาลัยนเรศวร ผลงาน "สถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (COSNAT) มหาวิทยาลัยนเรศวร"

.
ข่าวโดย : สำนักงานบริหารงานวิจัย
อ้างอิง : การประกาศผลการพิจารณาผลงานสถาบันอุดมศึกษา ประจำปี 2566 (อว.) ( https://cmu.to/ThWAE )

ข้อมูลโดย : สำนักงานบริหารงานวิจัย
แกลลอรี่