คณะวิทยาศาสตร์เปิด Central Science Laboratory พร้อมให้บริการเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูง

17 มกราคม 2562

คณะวิทยาศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการกลาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Central Science Laboratory) โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดอาคาร และเยี่ยมชมนิทรรศการ ผลงานวิจัย ตลอดจนเครื่องมือ นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ภายในอาคารปฏิบัติการ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวรายงานความเป็นมาและความสำคัญของอาคารปฏิบัติการดังกล่าว เมื่อวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อาคารปฏิบัติการกลาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Central Science Laboratory) เป็นศูนย์กลางในการให้บริการเครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และจัดการเรียนการสอน อีกทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยวิจัยควอนตัม และโครงการ Science Start up ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันให้ผลงานวิจัยออกไปสู่ภาคธุรกิจและเชิงพาณิชย์ ตามความต้องการของสังคมและภาคเอกชน ตลอดจนแสดงถึงศักยภาพของการวิจัย อันจะนำมาซึ่งการผลิตผลงานเพื่อรับใช้สังคมและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

อาคารปฏิบัติการกลางเป็นอาคาร 3 ชั้น ประกอบด้วย
ชั้น 1 ให้บริการเครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 5 เครื่อง คือ

NMR 500 MHz (Nuclear Magnetic Resonance Spectrometer)

NMR เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการวัดระดับพลังงานที่แตกต่างกันของนิวเคลียส ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสนามแม่เหล็ก ใช้ในการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับโครงสร้างทางเคมี เช่น การสังเคราะห์ทางเคมีและตรวจสอบปฏิกิริยาเคมี ตรวจสอบยา อาหาร และสารปนเปื้อนต่างๆ

XRD (X-ray Diffractometer)

เทคนิคเอกซเรย์ดิฟแฟรกชัน หรือ เทคนิค XRD เป็นเทคนิคที่นำรังสีเอกซ์มาใช้วิเคราะห์โครงสร้างผลึกของสารประกอบและแร่ ผลการวิเคราะห์จาก XRD ทำให้สามารถแยกแยะประเภทและชนิดของวัสดุที่พบในธรรมชาติว่ามีรูปแบบโครงสร้างผลึกแบบใด หรือจำแนกได้ว่าวัสดุที่พบเห็นนั้นเป็นแร่ชนิดใด โดยทำการวัดค่าความเข้มของรังสีที่สะท้อนออกมาที่มุมต่างๆเปรียบเทียบกับข้อมูลมาตรฐานที่ทำการตรวจวัด โดยองค์กร JCPDs (Joint Committee on Powder Diffraction Standard) เนื่องจากสารประกอบแต่ละชนิดมีรูปแบบโครงสร้างผลึกแตกต่างกันและระยะห่างระหว่างระนาบของอะตอมที่จัดเรียงกันอย่างเป็นระเบียบก็แตกต่างกันไปด้วย
ความสามารถของเครื่องมือ/ความละเอียด
- วิเคราะห์หาเฟส (2Theta 1-140องศา)
- วิเคราะห์หาขนาดของผลึกและหาปริมาณความเป็นผลึกสัมพัทธ์
- วิเคราะห์หาเฟสในฟิล์มบาง (โดยสามารถกำหนดมุมของ X-ray ได้ 0.4 – 2องศา ซึ่งทำให้หาเฟสของฟิล์มบางระดับนาโนเมตรได้)
- วัสดุที่รับทดสอบ ได้แก่ ของแข็ง (ชิ้น ผง ฟิล์มหนา และฟิล์มบาง), ของเหลว (สารละลายที่มีปริมาณความเข้มข้น 5 wt% ขึ้นไป) ตัวอย่างเช่น วัตถุดิบเซรามิก แป้ง ชิ้นงานโลหะ และตะกอน เป็นต้น

SC-XRD (Single Crystal X-ray Diffractometer)

เป็นเครื่องมือที่ใช้ศึกษารูปแบบโครงสร้างของผลึกเดี่ยว (Single Crystal Structure) โดยอาศัยหลักการเลี้ยวเบนและการกระเจิงของรังสีเอ็กซ์ ข้อมูลที่ตรวจวัดได้ เมื่อผ่านการแปรผลแล้ว ทำให้ทราบค่า unit cell parameters ซึ่งทำให้สามารถสร้างรูปแบบโครงสร้างผลึก เนื่องจากสารประกอบแต่ละชนิด มีรูปแบบโครงสร้างผลึกแตกต่างกัน ระยะห่างระหว่างระนาบของอะตอม ที่จัดเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบก็แตกต่างกันไปด้วย โดยที่ขนาดและประจุของอะตอม ของสารประกอบแต่ละชนิดจะมีรูปแบบ XRD pattern เฉพาะตัว ทำให้สามารถพิสูจน์เอกลักษณ์ (Identification) ของผลึกตัวอย่างได้

SEM (Scanning Electron Microscope)

SEM เป็นกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดที่มีแหล่งกำเนิดอิเล็กตรอนแบบ Lanthanum Hexaboride Cathodes (Lab6) เป็นกล้องที่ทำงานในภาวะสุญญากาศสูง (HV mode) มีความแยกชัดสูง เท่ากับ 2.0 nm ศักย์เร่งอิเล็กตรอนปรับเปลี่ยนได้ในช่วง 0.3-30 kV เหมาะสำหรับงานทางวิทยาศาสตร์กายภาพ เช่น โลหะ, เซรามิก, พอลิเมอร์, ซีเมนต์, แก้ว เป็นต้น

FIB (Focus Ion Beam)

FIB (เครื่องโฟกัสไอออนบีม) เป็นเครื่องมือที่มีความสามารถในการมองเห็นภาพในระดับนาโน ด้วย SEM (Scanning Electron Microscope) และในขณะเดียวกันก็สามารถตัด เจาะ ไส เฉือน ชิ้นงานด้วยลำไอออน เหมาะสำหรับงานทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพและนิติวิทยาศาสตร์

ชั้น 2 Quantum Research Unit
ห้องวิจัยทัศนศาสตร์เชิงอะตอมควอนตัม ได้รับการประเมินผลงานประจำปี 2559 จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ให้เป็นห้องปฏิบัติการวิจัยเครือข่ายที่มีผลปฏิบัติงานดีเด่น และได้รับคัดเลือกให้นำเสนอผลงานการทำงานในหัวข้อ “Synopsis of the Development of Cold Atom Facility” ต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ และเป็นที่มาของการได้รับงบประมาณสนับสนุนในการจัดตั้งหน่วยวิจัยทัศนศาสตร์เชิงอะตอมควอนตัม เพื่อให้ดำรงไว้ซึ่งความเป็นผู้นำด้านสาขาวิจัยวิทยาศาสตร์ของอะตอม - โมเลกุล - แสง อันเปรียบได้กับกระดูกสันหลังของเทคโนโลยีอุบัติใหม่มากมายในปัจจุบัน

ชั้น 3 Science Startup Initiative Project
ศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ศวท-มช.) ดำเนินการให้บริการ Science Startup Company ตามแผนพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์ ระยะที่ 12 เพื่อตอบสนองการวิจัยและบริการวิชาการแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความร่วมมือด้านวิจัยกับบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ โดยปัจจุบันมีบริษัทเข้าร่วม 3 บริษัท คือ

บริษัท โนวเลจเซ็นทริค จำกัด ประกอบกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาและจำหน่ายระบบซอฟต์แวร์
บริษัท อินโนพลาสซีเอ็ม จำกัด ประกอบกิจการให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลาสมา
บริษัท ศาลานา ออแกนิค วิลเลจ จำกัด ประกอบกิจการให้คำปรึกษา วิจัย พัฒนา และจัดจำหน่ายพันธุ์ข้าว พันธุ์พืช ผลผลิตทางด้านเกษตรกรรม สัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ
แกลลอรี่