แถลงข่าวการรื้อฟื้นการผลิตกระจกเกรียบและจืนแบบโบราณเพื่องานบูรณะและอนุรักษ์
10 ธันวาคม 2563
ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์
รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.กมลพรรณ เพ็งพัด หัวหน้าโครงการวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นายรชต ชาญเชี่ยวครูช่างศิลปกรรม 2563 (กระจกเกรียบ) ร่วมแถลงข่าวการรื้อฟื้นการผลิตกระจกเกรียบและจืนแบบโบราณเพื่องานบูรณะและอนุรักษ์ ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เล็งเห็นความสำคัญของวิทยาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ใหม่จากประสบการณ์และภูมิปัญญาของคนไทยซึ่งเป็นฐานรากที่มั่นคงในการเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยในปี 2559 วช.อว. ได้สนับสนุนการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาแก้วคริสตัลปราศจากตะกั่วและการประดิษฐ์แก้วคริสตัลบาง” ภายใต้แผนงานเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมด้านวัสดุนาโนและนาโนเทคโนโลยี นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.กมลพรรณ เพ็งพัด นักวิจัย สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ และปัจจุบันได้พัฒนางานที่เน้น “การประดิษฐ์แก้วคริสตัลบางเพื่อประยุกต์เป็นกระจกโบราณ” ร่วมกับโรงงานการผลิตกระจกโบราณของ นายรชต ชาญเชี่ยว และคณะ เพื่อพัฒนาสูตรกระจกโบราณใหม่ ๆ เป็นกระจกจืนและกระจกเกรียบ จนสามารถนำกระจกจืนและกระจกเกรียบไปบูรณะโบราณสถานและโบราณวัตถุได้หลายแห่ง อีกทั้งยังสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบประดับกระจกจืนและกระจกเกรียบที่สามารถนำไปใช้งานในการบูรณะโบราณสถานและโบราณวัตถุ และสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ใช้กระจกจืนและกระจกเกรียบตกแต่งเพื่อขยายผลเชิงพาณิชย์ในอนาคต และได้ถวายสัตภัณฑ์ที่ประดับกระจกจืน ซึ่งเป็นกระจกที่ได้จากงานวิจัย โดยได้รับความร่วมมือจาก ศิลปิน “ฝุ่น หอสูง” นายชาญยุทธ โตบัณฑิต ออกแบบและสร้างสัตภัณฑ์ เป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของการนำผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการ ที่สามารถต่อยอดทั้งเชิงพาณิชย์และสามารถนำไปทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย เพื่อรักษามรดกอันทรงคุณค่าให้คงอยู่เคียงคู่คนไทยสืบไป ณ วัดช่างฆ้อง ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563