คณะแพทยศาสตร์ มช.จัดงานนิทรรศการบริการวิชาการสู่ชุมชน ผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา “โครงการดวงตาสดใส เทิดไท้องค์ราชัน” และเฉลิมฉลองครบรอบ 65 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

15 สิงหาคม 2567

คณะแพทยศาสตร์

ธนาคารดวงตา ภาควิชาจักษุวิทยา ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มช. จัดนิทรรศการบริการวิชาการสู่ชุมชน โครงการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา “โครงการดวงตาสดใส เทิดไท้องค์ราชัน” และเฉลิมฉลองครบรอบ 65 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2567 ระหว่างเวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี โดยมี ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช.เป็นประธานในพิธี


ธนาคารดวงตา ภาควิชาจักษุวิทยา ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มช. จัดนิทรรศการบริการวิชาการสู่ชุมชน โครงการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา “โครงการดวงตาสดใส เทิดไท้องค์ราชัน” และเฉลิมฉลองครบรอบ 65 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2567 ระหว่างเวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี โดยมี ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช.เป็นประธานในพิธี


ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า “ดวงตาถือเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำให้เรามองเห็น ให้เราได้ใช้เรียนรู้สิ่งต่างๆตั้งแต่เกิดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ใช้ในการประกอบอาชีพเพื่อดำรงชีวิต ตลอดจนใช้เพื่อชื่นชมความงามต่างๆรอบตัวเรา หากสุขภาพตาหรือการมองเห็นแย่ลงไป ย่อมส่งผลกระทบต่อบุคคลนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และโรคของกระจกตาถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ที่ทำให้เกิดสายตาพิการหรือตาบอดในคนไทย ในผู้ป่วยบางรายสามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้ด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ปัจจุบันการจัดหาและบริการดวงตา ที่นำมาผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วย มีจำนวนไม่เพียงพอแก่ความต้องการของผู้ป่วยโรคกระจกตาที่รอรับการผ่าตัด โดยหวังว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์และสร้างทัศนคติที่ดีต่อการบริจาคดวงตา และการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน”

รศ.นพ.ดิเรก ผาติกุลศิลา หัวหน้าธนาคารดวงตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า “โรคกระจกตาขุ่นฝ้าหรือกระจกตาพิการ ถือเป็นสาเหตุอันดับต้นของภาวะตาบอดในคนไทยที่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้ด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ซึ่งได้ผลคุ้มค่ามาก ถือเป็นการชุบชีวิตใหม่ให้แก่ผู้ป่วยที่หมดหวังที่จะรักษาด้วยวิธีการอื่นให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติได้
ปัจจุบันศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย เป็นศูนย์กลางที่รับผิดชอบดูแลด้านการรับบริจาคดวงตา โดยมีวัตถุประสงค์ในการรับอุทิศและมอบดวงตาที่ได้รับจากผู้อุทิศให้จักษุแพทย์ เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยตาดำพิการ โดยดวงตาของผู้บริจาคภายหลังจากที่เสียชีวิตจะสามารถนำมาผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาให้กับผู้ป่วยโรคกระจกตาพิการได้ 2 ราย ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มีธนาคารดวงตา ภาควิชาจักษุวิทยา เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานจัดหาและบริการดวงตาเช่นเดียวกับศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย ตลอดจนการทำการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาให้ผู้ป่วยกระจกตาพิการในพื้นที่โดยเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลต่างๆ ในเครือข่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดสรรดวงตาเพื่อผ่าตัดให้กับผู้ป่วยกระจกตาพิการ อย่างไรก็ตาม จำนวนดวงตาที่ได้รับอุทิศในแต่ละปียังไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา โดยปัจจุบันยังมีผู้ป่วยรอการผ่าตัดอยู่ประมาณเกือบ 400 ราย
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ธนาคารดวงตา ภาควิชาจักษุวิทยา ได้จัดทำโครงการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาและบริจาคดวงตาเฉลิมพระเกียรติ “โครงการดวงตาสดใส เทิดไท้องค์ราชัน” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคกระจกตาพิการให้มีการมองเห็นที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนคนไทยมีเจตคติที่ดีในการอุทิศดวงตาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ 29 กรกฏาคม พ.ศ. 2567 ถึง 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2568”

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยนิทรรศการ “ดวงตาสดใส เทิดไท้องค์ราชัน” ตอบคำถามชิงรางวัล ตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ การแสดงจากแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ใช้ทุนภาควิชาจักษุวิทยา และเสวนากับจักษุแพทย์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในหัวข้อ “การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาและคุณค่าของดวงตาบริจาค” โดย รศ.พญ.นภาพร ตนานุวัฒน์ และรศ.พญ.จุฬาลักษณ์ ตั้งมั่นคงวรกูล ,”การดูแลดวงตาหากได้รับอุบัติเหตุ” โดยผศ.พญ.เหมือนพลอย นิภารักษ์ และ“การดูแลโรคตาในหน้าฝน” โดย ผศ.นพ.พิชญ์ อุปพงศ์, อ.พญ.ชัชฎา คฤหโยธิน


เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่