คอมพิวเตอร์วิชั่น ซินโดรม คือ กลุ่มอาการของการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อเรื่องวิชชั่น หรือการมองเห็นภาพ แต่ไม่ได้มีอาการทางสายตา อาจจะมีอาการอื่นที่เกี่ยวเนื่องตามมา เช่นอาการเกิดกล้ามเนื้อบางอย่าง อาการปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นกลุ่มที่เป็นคอมพิวเตอร์วิชั่น ซินโดรม ให้สังเกตตัวเองว่า ถ้ามีอาการปวดศีรษะ ที่มักจะเป็นช่วงหลังจากเลิกงาน หรือระหว่างงาน อาการปวดศีรษะรอบดวงตา หรือปวดบริเวณขมับ บางรายอาจจะมีอาการปวดตึงร้าวไปถึงท้ายทอย บางรายลงมาบริเวณ คอ บ่า ไหล่
นอกจากนั้นยังมีอาการปวดตา กระบอกตาร้อน บางรายอาจจะเห็นภาพไม่ชัด แต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา เป็นแค่ช่วงเวลาทำงานหรือหลังจากทำงานระยะเวลาหนึ่ง บางคนมีอาการเคืองตา ตาแห้ง ตลอดเวลาที่ทำงาน ซึ่งอาการเหล่านี้ เป็นต้นเหตุมาจากการทำงานคอมพิวเตอร์ และปัจจุบันคนส่วนใหญ่ใช้มือถืออยู่ตลอดเวลา ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ทำให้เราจ้องหน้าจอ เพราะฉะนั้นคำว่าคอมพิวเตอร์วิชั่น ซินโดรม อาจจะเป็นคำหนึ่งที่ มักใช้กันคือ display terminal syndrome เป็นกลุ่มอาการเกี่ยวกับการใช้หน้าจอ ในระยะเวลา 7-8 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อยเฉพาะเวลาทำงาน ไม่นับรวมเวลาอื่น
โรคกลุ่มอาการ คอมพิวเตอร์วิชั่น ซินโดรม สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคคือ การจดจ่ออยู่กับหน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ พบว่าการกระพริบตาจากเดิมอย่างน้อย 10-20 ครั้งต่อนาที แต่ถ้าเราทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ จะลดลงประมาณ 6 ครั้งต่อนาที การกระพริบตาจะเป็นการบีบไล่น้ำตาให้ชะโลมเลี้ยงลูกตา ป้องกันอาการตาแห้ง เมื่อเราจ้องหน้าจอเป็นเวลานานจนไม่กระพริบตา จึงทำให้เกิดตาแห้ง มีอาการระคายเคือง มีอาการต่างๆ ตามมา นอกจากนั้นการก้มมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่วางผิดมุม ผิดองศาเป็นเวลานานจะมีอาการปวดคอตามมา ปวดตึงไปถึงศีรษะ ท้าทอย ขมับ เพราะกล้ามเนื้อมีการต่อกันเป็นมัดเชื่อมโยงกันทำให้เกิดอาการปวดตึงตามมา
บุคคลส่วนใหญ่ที่เป็นคอมพิวเตอร์วิชั่น ซินโดรม จะเป็นวัยทำงาน เพราะวัยทำงานจะอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งช่วงเวลาที่พักผ่อน รองลงมาเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะใช้สายตาปรับตามอายุ เนื่องจากกล้ามเนื้อของดวงตาผู้สูงอายุไม่สามารถที่จะควบคุมการหดยืดของเลนส์เพื่อปรับระยะได้ ทำให้หลายคนอาจมองว่าเป็นสายตายาวเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่ความเป็นจริงอาจจะเป็นสายตาเสื่อมตามอายุ ดังนั้นผู้สูงอายุจะพบปัญหาเรื่องของจอดได้เหมือนกัน
กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่เลี่ยงไม่ได้กับการใช้สื่อต่างๆ ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เพราะส่วนใหญ่จะพกแท็บเล็ต และอ่าน E-Book แทน
สำหรับเรื่องของความรุนแรงสำหรับตัวโรคนี้ไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบที่มีความรุนแรงถึงด้านร่างกาย แล้วทำให้เสียชีวิต หรือพิการ แต่จะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สร้างความรำคาญ และอาจจะส่งผลต่อการเรื้อรังโดยเฉพาะกลุ่มอาการกล้ามเนื้อ อาจจะเกิดโรคอื่นที่เพิ่มขึ้นเกิดออฟฟิศซินโดรมได้ เช่น กล้ามเนื้อตึงบริเวณคอ บ่า ไหล่ บางรายเกิดโรคกระดูกหมอนรองคอเสื่อมได้จากท่าทางที่ไม่เหมาะสมในการใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน คือ Text Neck Syndrome หรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็น คอมพิวเตอร์วิชั่น ซินโดรม
ได้แก่
1. เลิกพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ ให้เลือกการใช้คอมพิวเตอร์ที่จะปลอดภัยจากคอมพิวเตอร์วิชั่น ซินโดรม ถ้าเป็นไปได้ ให้ใช้หน้าจอขนาดพอเหมาะ ถ้าเลี่ยงได้ให้เลี่ยงใช้มือถือหรือแท็บเล็ต ในการทำงาน ให้ใช้เป็นคอมคอมพิวเตอร์ในลักษณะมุม องศาที่เหมาะสมกับระยะมองจอ หรืออย่างน้อยให้ใช้โน๊ตบุ๊ค ยิ่งจอใหญ่ยิ่งดี
2. แสงไฟ ทั้งจากหน้าจอหรือบริเวณรอบข้างปรับให้เหมาะสมเพื่อลดแสงสะท้อน หรือแสงที่อาจจะเข้าตาเราได้ ทำให้เกิดความไม่สบายตาเกิดขึ้น ลดเรื่องการปรับแสงให้รอบๆในระดับที่พอเหมาะ จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม มีจุดพักสายตา ที่เป็นสีเขียวให้มองที่จุดนั้นเป็นเวลา 20 วินาที ทุก 20 นาที เพื่อเป็นการลดความเกร็งล้าของกล้ามเนื้อตา
3. การเว้นระยะจอกับดวงตาให้เหมาะสม ระยะความห่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์กับดวงตาที่เหมาะสมได้ดีอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ถ้าเป็นมือถืออย่างน้อยต้องห่าง 20 เซนติเมตร
4. การพักที่จะไม่อยู่หน้าจอ การสังเกตอาการของตัวเอง เมื่อปรับทุกอย่างแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นแนะนำให้พบจักษุแพทย์ เพราะโรคของดวงตาบางอย่าง อาจจะมีอาการคล้ายๆกัน ใกล้เคียงกัน แต่อาจจะมีโรคอื่นที่แฝงอยู่
ขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.นพ.กัมปนาท วังแสน แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มช. และรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน มช.
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่