วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ตรงกับวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญคือ วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003)
รายงานจากองค์การอนามัยโลกว่าในแต่ละปี จะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวน มากกว่า 8 แสนคน เมื่อคิดเฉลี่ยต่อเวลาจะพบว่ามีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที โดยในประเทศไทยมีแนวโน้มการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น เฉลี่ยที่ 6.47 ต่อแสนประชากร โดยพบว่าเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ถึง 4 เท่า
สำหรับปัจจัยและสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย
อันดับหนึ่ง ได้แก่ ปัญหาความสัมพันธ์ รองลงมาคือโรคทางกาย โรคทางจิต ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาผู้ตกงาน นอกจากนั้นยังพบว่า ประเด็นความรักความหึงหวง ที่มาจากปัญหาความสัมพันธ์ที่ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของการทำร้ายตนเอง มากที่สุดถึงร้อยละ 20 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รองลงมาคือโรคซึมเศร้า และน้อยใจคนใกล้ชิดดุด่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงปัญหา และสอดคล้องกับการสำรวจสุขภาพจิต(ความสุข) คนไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ แยกตามองค์ประกอบหลักของสุขภาพจิต 5 ด้าน พบว่าองค์ประกอบที่อ่อนแอที่สุดคือ สมรรถภาพด้านจิตใจ ดังนั้นเราจึงควรสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกันต่อตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้าง
ปัญหาการฆ่าตัวตาย เริ่มป้องกันได้จากครอบครัว โดย
1. การมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
2. สื่อสารที่ดีต่อกัน
3. เอาใจซึ่งกันและกัน
นอกจากการสังเกตสัญญาณเตือนที่จะทำร้ายตนเองไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือพฤติกรรม อย่ามองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ หรือเรื่องล้อเล่น ให้มองเป็นความต้องการช่วยเหลือเร่งด่วน โดยการให้คำแนะนำอย่างจริงใจ ไม่ตำหนิหรือซ้ำเติม ให้กำลังใจ สร้างความหวังว่าปัญหานั้นสามารถแก้ไขได้ คอยระวังอย่างใกล้ชิด โดยมีช่องทางที่สามารถแนะนำ ช่องทางการปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือคลินิกให้คำปรึกษา ห้องตรวจเบอร์ 24 ชั้น 2 อาคารตะวัน กังวานพงศ์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือโดยเร็ว
โดย ผศ.นพ.อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ ประธาน CLT ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่