นักจุลชีววิทยา คณะวิทย์ มช. ประสบความสำเร็จในการพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กร่วมกับแอคติโนแบคทีเรีย เพื่อประยุกต์ใช้ในการผลิตพลังงานชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

23 มีนาคม 2565

คณะวิทยาศาสตร์

         ทีมนักวิจัยสาขาจุลชีววิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผศ.ดร.ชยากร ภูมาศ, ดร.บัญชา ขำศิริ, ดร.กิตติยา ภิญโญ, ผศ.ดร.จีรพร เพกเกาะ, รศ.ดร.วสุ ปฐมอารีย์, ศ.ดร.สายสมร ลำยอง และ ดร.ศิรสิทธิ์ ศรีนวลปาน สำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กสายพันธุ์ Tetradesmus obliquus AARL G022 ร่วมกับแอคติโนแบคทีเรียสายพันธุ์ Piscicocus intestinalis WA3 โดยใช้น้ำเสียจากบ่อหมักก๊าซชีวภาพของฟาร์มเลี้ยงไก่เป็นแหล่งอาหารราคาถูกสำหรับการเจริญร่วมกัน


ผลลัพธ์ของงานวิจัยที่ได้พบว่า P. intestinalis WA3 สามารถผลิตกรดอินโดล-3-อะซิติกและไซด์โรฟอร์ ซึ่งเป็นสารส่งเสริมการเจริญของสาหร่าย และในระหว่างการเพาะเลี้ยงร่วมกันของ P. intestinalis WA3 กับ T. obliquus AARL G022 ในน้ำเสียจากบ่อหมักก๊าซชีวภาพ พบว่าผลผลิตชีวมวล ปริมาณคลอโรฟิลล์ และผลผลิตไขมันเพิ่มขึ้น 1.30, 1.39 และ 1.55 เท่า ตามลำดับ เมื่อเทียบกับการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเพียงอย่างเดียว ไขมันที่สกัดได้มีองค์ประกอบหลักเป็นกรดไขมันสายยาวที่มีคุณสมบัติทางเชื้อเพลิงสอดคล้องกับมาตราฐานไบโอดีเซลสากล แสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพในการใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตไบโอดีเซล ผลลัพธ์โดยรวมแสดงให้เห็นว่าการเพาะเลี้ยงร่วมของสาหร่ายขนาดเล็กและแอคติโนแบคทีเรีย จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากจุลินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยจากผลสัมฤทธิ์จากงานวิจัยดังกล่าวจึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญอย่างมากในการต่อยอดเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ อีกทั้งยังตอบสนองต่อนโยบายของประเทศโดยเฉพาะนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ด้านการเกษตร อาหาร และพลังงานชีวภาพให้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านพานิชย์และอุตสาหกรรม โดยกำหนดให้อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีรากฐานแข็งแรงเพื่อการต่อยอด (First S curve) และให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพในการพัฒนา (New S curve) ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้ล้วนเป็นกลไลหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ

งานวิจัยถูกตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำ Bioresource Technology ในปี 2021 (Q1 ISI/Scopus, Impact Factor 9.642, Top 2% in Environmental Science)
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://doi.org/10.1016/j.biortech.2021.125446

อ้างอิง
Kumsiri, B., Pekkoh, J., Pathom-Aree, W., Lumyong, S., Phinyo, K., Pumas, C. and Srinuanpan, S., 2021. Enhanced production of microalgal biomass and lipid as an environmentally friendly biodiesel feedstock through actinomycete co-culture in biogas digestate effluent. Bioresource Technology, 337, p.125446.

แกลลอรี่