นักวิจัย ม.เชียงใหม่ ค้นพบ "ดอกข้าวซอย" กระดังงาดอกหอมชนิดใหม่ของโลกจากภาคใต้ กลีบดอกเรียวยาวเหมือนเส้นข้าวซอย

25 ตุลาคม 2567

คณะวิทยาศาสตร์

             คณะนักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.อานิสรา ดำทองดี นักวิจัยหลังปริญญาเอก พร้อมทั้ง ดร.ฉัตรธิดา วิยา นักวิชาการ สังกัดองค์การสวนพฤกษศาสตร์ นายอับดุลรอแม บากา นักวิจัยอิสระ และนักวิจัยอีกหลายท่าน ได้ร่วมกันค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในวงศ์กระดังงาจากจังหวัดนราธิวาส มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Drepananthus khaosoi Damth. & Chaowasku ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Anales del Jardin Botanico de Madrid ปีที่ 81 ฉบับที่ 1 หมายเลขบทความ e144 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2567


โดยคณะนักวิจัยได้ตั้งคำระบุชนิด “khaosoi” และชื่อไทย “ดอกข้าวซอย” ให้กับพืชชนิดนี้ เนื่องจากกลีบดอกมีความเรียวยาวและมีสีเหลืองเหมือนเส้นข้าวซอย โดยข้าวซอยเป็นอาหารพื้นเมืองทางภาคเหนือของประเทศไทย มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในซุปที่ดีที่สุดของโลก งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงา (Annocaceae) ในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ววน. ดำเนินการโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม


สำหรับ “ดอกข้าวซอย” เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15 เมตร นอกจากมีกลีบดอกที่เรียวยาวและมีสีเหลืองเหมือนเส้นข้าวซอยแล้ว ดอกของพืชชนิดนี้ยังมีกลิ่นหอมแรง เมื่อออกดอกพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามมาก และส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปได้ไกล จากการสำรวจพบ “ดอกข้าวซอย” ไม่ถึง 10 ต้น ซึ่งขึ้นอยู่ริมสวนยางพาราและสวนผลไม้นอกเขตอนุรักษ์ สุ่มเสี่ยงที่จะถูกแผ้วถางในอนาคต จึงจัดเป็นพืชใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ที่ทุกภาคส่วนควรช่วยกันวางแผนอนุรักษ์พืชชนิดนี้ไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและจากโลก นอกจากนี้ ยังควรพัฒนาต้นดอกข้าวซอยเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องจากมีทรงพุ่มสวย ปลูกเลี้ยงง่าย โตเร็ว ดอกสวยแปลกตาและมีกลิ่นหอมแรง และควรมีการศึกษาสารทุติยภุมิและฤทธิ์ทางชีวภาพจากต้นดอกข้าวซอย เพื่อใช้ประโยชน์เป็นพืชสมุนไพรต่อไป

ขอบคุณภาพ / ข้อมูลจาก สกสว.
แกลลอรี่