ขุมทรัพย์ความรู้ “ดอยสุเทพ” ห้องเรียนขนาดใหญ่อันล้ำค่า เคียงคู่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

20 กันยายน 2567

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

           “ดอยสุเทพ” เป็นหนึ่งในสถานที่ที่เชื่อมโยงความงดงามแห่งชีวิต เป็น “ขุมทรัพย์” ที่อยู่คู่กับชาวเชียงใหม่มาอย่างยาวนานลักษณะภูเขาสลับซับซ้อนตามแนวเทือกเขาถนนธงไชย ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย พื้นที่แห่งนี้อุดมไปด้วยความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ แหล่งทรัพยากรสำคัญ ที่เปรียบเสมือน “ห้องเรียนการขนาดใหญ่” ที่ทำให้เราได้ค้นหาความน่าสนใจของวิทยาศาสตร์ได้ไม่รู้จบ ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นสากล ของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากความสงสัย สู่ความใส่ใจ ประกอบสร้างเป็นคุณค่าแห่งองค์ความรู้ส่งต่อไปยังหัวใจของทุกคนให้หวงแหน ตั้งแต่พื้นธรณี ไปสู่พื้นฟ้าอันแสนไกล

            การศึกษาความหลากหลายของหินบริเวณดอยสุเทพโดย ผศ.ดร.บูรพา แพจุ้ย ปรากฏให้เห็นว่าลักษณะทางธรณวิทยามีส่วนประกอบทางแร่แตกต่างกันเมื่อผุพังจะให้ชุดดินที่แตกต่างกัน และมีความหลากหลายทางชีวภาพที่กระจายพันธ์ตามดินที่ผพังจากหินเหล่านี้ หินบริเวณดอยสุเทพประกอบด้วยหินแปร และหินอัคนี หินทั้งสองปรากฏกระจายตัวอย่างไม่เป็นระเบียบ ในขนาดปรากฏที่แตกต่างกันตั้งแต่น้อยกว่า 1 เมตรถึงมวลขนาดใหญ่ บริเวณตีนเขามีกรวดทรายที่ผุพังลงมาดอยสุเทพ และบางบริเวณเป็นแร่ดินขาว ความหลากหลายของหินในบริเวณดอยสุเทพ ทำให้เกิดการผลิตชุดดินหลายแบบ รอยเลื่อนเป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ก่อกำเนิดและมีความสัมพันธ์กับความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณดอยสุเทพ

           เมื่อกาลเวลาผ่านไป การผุพังของหินแร่เหล่านั้นแปรเปลี่ยนเป็นดิน จากลักษณะภูมิประเทศที่มีสภาพเป็นป่าดิบ ความชุ่มชื้น พร้อมกับอินทรีย์วัตถุในจำนวนมากเพียงพอที่จะสร้างดินที่อุดมสมบูรณ์ ดอยสุเทพแห่งนี้จึงเป็นสถานที่แห่ง “การค้นพบ” ทางชีวิวิทยา พร้อมเสริมสร้างสิ่งใหม่แก่วงการวิทยาศาสตร์ระดับโลกได้เสมอ

          “มอสส์ทองแดง” เป็นมอสส์ที่หายาก (rare copper moss) จัดเป็นมอสส์ที่ถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในธรรมชาติ (endangered species, threatened categories of IUCN red list) (Hodgetts et al., 2019) ถูกค้นพบในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติในพื้นที่ดอยสุเทพ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scopelophila cataractae (Mitt.) Broth., Pottiaceae ที่ผ่านมามีการศึกษาการอนุรักษ์มอสส์ทองแดงใกล้สูญพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ นำมอสส์ทองแดงไปใช้เป็นดัชนีชีวภาพและบำบัดโลหะหนัก โดย อาจารย์ ดร. นรินทร์ พรินรากุล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์มอสส์ทองแดงใกล้สูญพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พบว่า มอสส์ทองแดงมีศักยภาพในการดูดซับทองแดงและแคดเมียมได้สูง(ประมาณ 5,000 mgKg-1) ซึ่งสูงกว่าพืชดอกอย่างมีนัยสำคัญ อธิบายวงจรชีวิตของมอสส์ทองแดงที่จำเพาะต่อถิ่นอาศัยจำกัดด้วยทองแดง ซึ่งเป็นสาเหตุของการลดจำนวนลงในธรรมชาติ

          ด้วยองค์ความรู้ที่สั่งสมมากว่าหลายทศวรรษกับความหลากชนิดของเห็ดราขนาดใหญ่ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งนำโดย ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.สายสมร ลำยอง ได้ริเริ่มศึกษาจุลินทรีย์บนดอยสุเทพ-ปุย และรวมถึงเห็ดราขนาดใหญ่ ในฤดูฝนของทุกปีโดยนักวิจัยเก็บตัวอย่างเห็ดราตั้งแต่ยอดเขาจนถึงพื้นล่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันทำให้ทราบข้อมูลความหลากชนิดของเห็ดราขนาดใหญ่บนดอยสุเทพ-ปุย มากกว่า 450 ตัวอย่าง โดยนำมาศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาตามหลักอนุกรมวิธานสมัยใหม่ สามารถจัดจำแนกเห็ดราขนาดใหญ่ชนิดใหม่ของโลกมากกว่า 120 ชนิด (new species) และชนิดที่รายงานการพบครั้งแรกในประเทศไทย มากกว่า 15 ชนิด (new record) การค้นพบที่สำคัญของการศึกษาเห็ดรามายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ คือการค้นพบ “เห็ดทรัฟเฟิล”จำนวน 3 ชนิด คือเห็ดทรัฟเฟิลขาวเทพสุคนธ์ (Tuber thailandicum) ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อสามัญจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นเห็ดทรัฟเฟิลขาวชนิดแรกของประเทศไทยและเป็นชนิดใหม่ของโลก เห็ดทรัฟเฟิลล้านนา (Tuber lannaense) เป็นเห็ดทรัฟเฟิลสีน้ำตาลชนิดแรกของประเทศไทยและเป็นชนิดใหม่ของโลก อีกทั้งยังค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลขาวอิตาเลี่ยน (Tuber magnatum) เป็นเห็ดทรัฟเฟิลขาวชนิดที่ 2 ของประเทศไทย และเป็นชนิดที่มีราคาแพงที่สุดในโลก โดยการค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลทั้งสามชนิดนี้ถือว่าเป็นการพบเห็ดทรัฟเฟิลครั้งแรกในประเทศไทย และครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทฤษฎี “เห็ดทรัฟเฟิลจะพบได้ในเขตหนาวเท่านั้น” ซึ่งปัจจุบันสามารถพบได้ในเขตร้อน ประเทศไทย

           ปัจจุบันทีมวิจัยได้พัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านการเพาะเลี้ยงเส้นใยบริสุทธิ์ของเห็ดทรัฟเฟิลขาวเทพสุคนธ์ และเห็ดทรัฟเฟิลขาวอิตาเลียน โดยสามารถชักนำให้เกิดสภาวะไมคอร์รซากับต้นกำลังเสือโคร่งได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระดับห้องปฏิบัติการแบบปลอดเชื้ออื่นอาศัย และเตรียมต่อยอดสร้างแปลงทดลองถาวร อีกทั้งเป็นการเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่สูงเขาหัวโล้นในประเทศไทย และรวมถึงสร้างแหล่งผลิตออกซิเจนธรรมชาติเพิ่มขึ้นจากการปลูกต้นกำลังเสือโคร่งในการผลิตเห็ดทรัฟเฟิลขาว ภายใต้โครงการไทยทรัฟเฟิล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แกลลอรี่