มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างเส้นทางสีเขียว สู่ “มหาวิทยาลัยแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอน”

23 กันยายน 2567

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

             มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดนโยบายนำมหาวิทยาลัยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) ภายในปี 2032 โดยกำหนดเป็น 1 ในนโยบายแผน 13 ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมุ่งสร้างต้นแบบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลักดันนโยบายการใช้พลังงานทดแทน การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางด้านสภาพแวดล้อมเท่านั้น ยังพัฒนาการดำเนินการจัดการอย่างยั่งยืนด้วยด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา และพัฒนาการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย โดยเน้นการใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ (Data-Driven) ที่นำไปสู่การยอมรับในวงกว้าง ได้รับมอบตราสัญลักษณ์จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นพื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศ (Smart City)

             ด้วยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานที่นำไปสู่วิถีชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าเป็นต้นแบบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมทั้งลดต้นทุนการบริหารจัดการพลังงานทั้งระบบ โดยมีกรอบการดำเนินงานด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งหมด 5 ด้าน คือ

  1. การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกขององค์กร (Organization GHG Management)
  2. การจัดทำมาตรการลดคาร์บอนในองค์กร (CMU Carbon Reduction Projects)
  3. มาตรการการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่สีเขียว (CMU Carbon Sinks)
  4. ารพัฒนาบุคลากรและปลูกจิตสำนึก (CMU Human Developments)
  5. การปรับตัวเตรียมความพร้อมต่อ Climate Change (CMU Climate Adaptation and Resilience)

           ดังสะท้อนให้เห็นจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่การบริหารจัดการทรัพยากร เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย รวมถึงระบบผลิตพลังงานความร้อน Solar Collector ณ หอพักนักศึกษา สามารถลดค่าไฟฟ้า และลดการปล่อยคาร์บอน รวมกว่า 8,000 tCO2e/ปี อีกทั้งครอบคลุมไปถึงกิจกรรมนักศึกษาที่จัดขึ้นโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างเช่น การรับน้องขึ้นดอยประจำปี 2566 และขบวนแห่กระทงใหญ่ “โคมคำ สุวรรณหงส์” ที่ร่วมรณรงค์การจัดการขยะอย่างครบวงจร ไม่ก่อมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
ในปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้โครงการต่าง ๆ ได้รับรางวัล และการรับรองเป็นที่ประจักษ์ อาทิ การรับรองเป็นองค์กรผู้นำด้านก๊าซเรือนกระจก Climate Action Leading Organization จากเครือข่าย Thailand Carbon Neutral Network โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ

          นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานศึกษาที่ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหา PM 2.5 ในทุกปี ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ สุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ความสำคัญของอากาศสะอาดจึงเป็นความต้องการพื้นฐานของสุขภาพที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ “โครงการสร้างห้องปลอดฝุ่นให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” เป็นหนึ่งในโครงการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดทำร่วมกับมูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) สำหรับอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 603 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ

         โครงการสร้างห้องปลอดฝุ่นให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ดำเนินโครงการมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 สร้างห้องปลอดฝุ่นให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสำเร็จไปแล้ว 24 แห่ง ในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ต อำเภอเชียงดาว และอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่

  1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลสันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
  2. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านป่าขุย ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
  3. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดปทุมสราราม ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
  4. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านผาลาย ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
  5. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดดอนศรีสะอาด อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
  6. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดห้วยคอก ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
  7. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดแม่สาบใต้ ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
  8. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านถ้ำ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
  9. ห้องการศึกษาพิเศษ โรงเรียนบ้านทุ่งหลุก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
  10. โรงเรียนบ้านห้วยทราย ทต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
  11. โรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนเบญจมะ 1 อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
  12. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลแม่ก๊า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
  13. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทต.สันผักหวาน อ.หางดง จ.เชียงใหม่
  14. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทต.แม่ท่าช้าง อ.หางดง จ.เชียงใหม่
  15. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเวียงยอง อ.เมือง จ.ลำพูน
  16. โรงเรียนบ้านน้ำตกแม่กลาง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
  17. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กน้ำตกแม่กลาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
  18. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กน้ำตกแม่กลาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
  19. โรงเรียนบ้านโป่งน้อย ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
  20. โรงเรียนบ้านพระนอน ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
  21. โรงเรียนชุมชนวัดท่าเดื่อ ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
  22. โรงเรียนชลประทานเขื่อนแม่กวง (จิราธิวัฒน์อุปถัมภ์) ต. หนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
  23. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านป่ารวก ต.ไชยปราการ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่
  24. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดสันต้นเปา-บ้านอ่าย ต.ไชยปราการ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่

         ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมบริจาคสมทบทุน โดยยอดรวมปัจจุบันอยู่ที่ 2,177,069.99 บาท และยังคงรับบริจาคสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่องผ่าน CMU e-Donation หรือเว็ปไซต์ https://donate.cmu.ac.th/home/project-home-details/48/7 สามารถนำใบเสร็จรับเงินไปลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า

         โครงการฯ ดังกล่าวดำเนินการโดยใช้ “นวัตกรรมสร้างอากาศสะอาด (Clean air)” จากทีมนักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ออกแบบห้องปลอดฝุ่นด้วยหลักการเติมอากาศสะอาดเข้าไปในห้องด้วยพัดลมที่มีเครื่องกรองอากาศผ่านทางท่อเข้าไปในห้องพัก และปิดช่องเปิดขนาดใหญ่ด้วยการติดตั้งมุ้ง หรือผ้าม่านกันฝุ่นบริเวณหน้าต่าง หรือบานเกร็ดภายใน เป็นการควบคุมระดับของสิ่งปนเปื้อนในอากาศ เช่น เชื้อโรค ฝุ่นละออง ไอ สารเคมี ก๊าซ ควัน ฯลฯ ป้องกันการเกิดผลกระทบด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้และโรคหืด ทางเดินหายใจของเด็กกลุ่มนี้จะมีความไวต่อการกระตุ้นจากฝุ่นละอองได้มากกว่าคนทั่วไป ช่วยลดการสะสมสิ่งปนเปื้อนในอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งจะนำมาซึ่งความเจ็บป่วยของเด็กเล็ก นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าวยังช่วยลดความร้อน ตลอดจนควบคุมปัญหาเรื่องกลิ่น ความชื้น และคุณภาพอากาศในห้องอีกด้วย ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่พวกเขาสามารถเรียนรู้ และเติบโตได้อย่างปลอดภัย



แกลลอรี่