หอพักหญิง อาคาร 5
ผังอาคารของหอพักหญิง อาคาร 5 มีลักษณะคล้ายตัว H ในภาษาอังกฤษ โดยแบ่งเป็นตึกที่พักสองฝั่งตั้งขนานกัน เชื่อมต่อด้วยอาคารชั้นเดียวเพดานสูงกรุด้วยกระจก เมื่อมองในมุมกว้าง จะพบว่า อาคารชั้นเดียวที่ว่านี้มีลักษณะคล้ายหมวกบัณฑิต เพื่อเป็นสัญลักษณ์เตือนใจให้ใครหลายคนต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายและก้าวไปถึงวันแห่งความสำเร็จให้ได้
หอพักหญิง อาคาร 5 หรือเฮือนพวงคราม เป็นหนึ่งใน “หอใน” หรือหอพักในสังกัดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2511 ด้วยรูปแบบของหอพักในมหาวิทยาลัยอาจทำให้หลายคนรู้สึกว่าไม่มีความเป็นส่วนตัวหรือสะดวกสบายเท่ากับหอพักภายนอก เช่น ไม่มีห้องน้ำส่วนตัว ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมห้องที่มาจากต่างถิ่นต่างที่ ต้องรักษาระเบียบวินัย เข้าหอพักให้ทันเวลาปิด เป็นต้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง ข้อจำกัดเหล่านี้ก็ทำให้นักศึกษา มช. หลายคนเรียนจนจบเป็นบัณฑิต อีกทั้งยังเป็นที่มาของ “เรื่องเล่าชาวหอใน” ซึ่งได้สร้างประสบการณ์ชีวิตที่หาไม่ได้จากที่ไหนอีกแล้ว นอกจาก “หอใน” มช. เท่านั้น
จุดเริ่มต้นประสบการณ์ปีนหอ
ปีนหอ ประสบการณ์นี้มักเกิดขึ้นกับนักศึกษาที่กลับเข้าหอไม่ทันตามเวลา จึงต้องปีนรั้วด้านหลัง เพื่อเข้าหอพัก ปัจจุบันการปีนหอไม่ค่อยเกิดขึ้นแล้ว เพราะมีกล้องวงจรปิดจับภาพตลอด 24 ชั่วโมง และมี รปภ.อำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาที่เข้าหอไม่ทัน แต่ต้องมีการบันทึกชื่อไว้เพื่อรักษาระเบียบวินัย
สิงหอ หมายถึง การแอบพักอาศัยอยู่กับเพื่อนเจ้าของห้องในหอพักต่าง ๆ ในอดีตบางครั้งมีการสิงหอเกิดขึ้นนานนับเดือนจากเพื่อนในมหาวิทยาลัยเดียวกันและต่างมหาวิทยาลัย ปัจจุบันไม่สามารถทำได้แล้วเนื่องจากนักศึกษาจะต้องสแกนลายนิ้วมือเพื่อเข้าพัก
ตกหอ เป็นช่วงเวลาแห่งความเศร้า เมื่อนักศึกษาหอในไม่สามารถจับฉลากเข้าพักในปีต่อไปได้
เปิดหอ หนึ่งปีมีหนึ่งครั้งเท่านั้นที่หอพักหญิงและชายจะเปิดให้นักศึกษาทุกคนขึ้นไปร่วมงาน วันเปิดหอได้ทุกหอพัก โดยในวันเปิดหอ จะมีการประกวดห้องพัก มีการเตรียมขนมนมเนยไว้ต้อนรับเพื่อน ๆ ที่มาร่วมงานวันเปิดหอ น่าเสียดายปัจจุบันประเพณีนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้วเนื่องจากเคยเกิดเหตุนักศึกษาชาย ดื่มแอลกอฮอล์และทะเลาะวิวาทกันบนหอพัก
แจกของ เมื่อไรที่ไฟดับ บรรดานักศึกษาชายจะขี่มอเตอร์ไซค์มา “แจกของ” หรือตะโกนด้วยถ้อยคำไม่สุภาพที่หอพักหญิงเพื่อคลายเครียดจากการอ่านหนังสือสอบ แม้การแจกของเป็นการกระทำที่ผิดวินัยนักศึกษา อาจมีโทษถึงขั้นพักการเรียน แต่ก็สร้างสีสันให้แก่ชาวหอในเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมหาวิทยาลัย ได้แก้ไขปัญหาเรื่องการแจกของอย่างจริงจังโดยการดูแลเรื่องระบบไฟฟ้าเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้ไฟดับ ทำให้ปัจจุบันการแจกของเกิดขึ้นเพียงนาน ๆ ครั้งเท่านั้น
เรื่องเล่าชาวหอในเหล่านี้เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับหอพักนักศึกษา มช. ซึ่งมีรากฐานที่เก่าแก่ยาวนาน พอ ๆ กับอายุของมหาวิทยาลัยก็ว่าได้ โดยในยุคเริ่มต้นก่อตั้งมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญกับที่พักของนักศึกษาอย่างมาก เพราะ มช. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เกิดขึ้นในส่วนภูมิภาค ท่านจึงได้กำหนดแนวคิดและวางแผนเรื่องหอพักนักศึกษาอย่างรัดกุมตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อให้นักศึกษาที่มาจากต่างถิ่นได้มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่ง และสามารถศึกษาเล่าเรียนจนจบการศึกษาได้แม้ว่าจะไม่มีผู้ปกครองคอยดูแล
ภาพถ่าย มช.เมื่อ พ.ศ. 2513 ซ้ายสุดคือหอพักชาย 2 ถัดไปคือหอพักหญิง 3 และหอพักหญิง 2
ภาพโดยบุญเสริม สาตราภัย
ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น ได้นำรูปแบบ Residential University ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ของอังกฤษมาใช้จัดการเรียนการสอนของ มช. ให้เป็น 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรของคณะ เพื่อให้ความรู้ทางวิชาการ และหลักสูตรวิทยาลัย เพื่อให้ความรู้ด้านพื้นฐานการดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ทั้งสองหลักสูตรนี้จะทำให้นักศึกษา มช. มีทั้งความรู้และความรอบรู้ และสร้างนิสัย (Character) ให้แก่นักศึกษาด้วย โดยกำหนดว่านักศึกษาจะต้องสังกัดอยู่ในวิทยาลัยใดวิทยาลัยหนึ่งและต้องพักอาศัย อยู่ในวิทยาลัยไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา เพื่อจะได้เรียนรู้ทักษะชีวิตนอกห้องเรียน
ในยุคก่อตั้ง มช. หอพักของนักศึกษาจึงเรียกว่า “วิทยาลัย” โดยแบ่งเป็นวิทยาลัยที่ 1 สำหรับนักศึกษาชาย และวิทยาลัยที่ 2 สำหรับนักศึกษาหญิง โดยมีคณาจารย์เป็นผู้ปกครอง ดูแลอบรมนักศึกษาในด้านการใช้ชีวิตและการเรียนอย่างใกล้ชิดคล้ายกับโรงเรียนกินนอนนั่นเอง ต่อมาเมื่อจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้น จึงได้ทยอยก่อสร้างอาคารเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยการเรียกชื่ออาคารหอพักในสมัยนั้นจะใช้คำว่าวิทยาลัยขึ้นต้นก่อน เช่น “วิทยาลัยที่ 2 อาคาร 5” หมายถึงหอพักหญิง อาคาร 5 ในปัจจุบันนั่นเอง
วิทยาลัยที่ 1
วิทยาลัยที่ 2
เมื่อจำนวนนักศึกษามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คณาจารย์ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ระบบวิทยาลัยจึงถูกยกเลิกไปใน พ.ศ. 2521 กลายเป็นหอพักนักศึกษาชาย และหอพักนักศึกษาหญิงทั่วไปจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบวิทยาลัยมาเป็นระบบหอพัก แต่แนวคิด ในเรื่องความใส่ใจเอื้ออาทรต่อนักศึกษาก็ยังคงอยู่ โดยในปัจจุบันหอพักนักศึกษา มช. อยู่ในความดูแลของสำนักงานหอพักนักศึกษา ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนาให้หอพักเป็น “ศูนย์อาศัย ศึกษาและเอื้ออาทรต่อกัน” (Living, Learning and Caring Center) มีจุดเด่นคือ เป็นทั้งที่พักอาศัย เป็นสถานที่ศึกษา และเป็นสถานที่พัฒนานักศึกษา โดยมีระบบการดูแลนักศึกษาที่เน้นความใส่ใจและเอื้ออาทรต่อผู้พักอาศัย ประกอบด้วยผู้ปกครองหอพัก ทำหน้าที่บริหารจัดการดูแลหอพัก อาจารย์ที่ปรึกษาหอพัก ดูแลเรื่องกิจกรรมนักศึกษาและวิชาการ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมทั้งวิชาการและวิชาชีวิต เช่น จัดติววิชาการ สอนภาษาต่างประเทศ อบรมบุคลิกภาพ และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทำบุญหอพัก กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ฯลฯ ส่วน กรรมการหอพัก ที่เป็นนักศึกษารุ่นพี่ มีหน้าที่คอยสอดส่องดูแลทุกข์สุขของน้อง ๆ ชาวหอทั้งในเรื่องวิชาการและเรื่องทั่วไป
สำนักงานหอพักนักศึกษา ที่ควบคุมดูแลการดำเนินการของหอพักนักศึกษาทั้งหมด
ชาวหอในส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นนักศึกษาปี 1 ซึ่งมีปัญหาหลากหลาย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องปัญหาการเรียน และเรื่องความรัก ซึ่งหากน้องคนไหนมีสิ่งบ่งชี้ที่ไม่ปกติ เช่น ไม่อาบน้ำ หรือขยะล้นห้อง เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายก็จะทำงานประสานกันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยสำนักงานหอพักนักศึกษามีบริการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา มีนักจิตวิทยาประจำหอพักคอยให้คำปรึกษาและประเมินสุขภาพจิตของนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอ หรือในกรณีที่นักศึกษาคนใดมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ก็มีกองทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ด้วย
นอกจากระบบการดูแลแล้ว จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของหอใน มช. ที่ทำให้ห้องพักถูกจองหมด อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาที คือ ราคาห้องพักที่ย่อมเยาที่สุดในบรรดาหอพักนักศึกษาในประเทศไทย ก็ว่าได้ ปัจจุบันสำนักงานหอพักนักศึกษา มช. มีหอพักนักศึกษาในสังกัด จำนวน 20 อาคาร แบ่งเป็นอาคารหอพักชาย 7 อาคาร หอพักหญิง 12 อาคาร และหอพักแม่เหียะซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์วิจัยสาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ หอพักทั้งหมดนี้มีราคาแตกต่างกันไป แต่ราคาห้องพักที่ราคาย่อมเยาที่สุดคือหอสวัสดิการ ซึ่งเข้าพักได้ 3 คน ราคาเริ่มตั้งแต่ 2,400 บาทต่อเทอม (รวมค่าน้ำ - ไฟ) อย่างไรก็ตามห้องพักทุกประเภท จะมีน้ำอุ่นจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ให้บริการ และในห้องพักยังเป็นห้องปลอดฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย
ห้องพักในหอพักหญิง อาคาร 5
ห้องคอมพิวเตอร์ หอพักหญิง อาคาร 5
ห้องเตรียมอาหาร หอพักหญิง อาคาร 5
ห้องพักในหอพัก 40 ปี พักอาศัย 2 คน และมีห้องน้ำในตัว
ห้องอ่านหนังสือหอพักหญิง อาคาร 5
ห้องคาราโอเกะก็มี
ทิวทัศน์ริมเชิงดอยจากหอพักหญิง อาคาร 8
การผลิตน้ำอุ่นจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในหอพัก
หอพักหญิง อาคาร 2
ด้วยระบบการดูแลที่มุ่งเน้นความเอื้ออาทรนี้เอง ทำให้หอพัก มช. เป็นต้นแบบของ Living, Learning and Caring Center ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ เพราะที่นี่เป็นมากกว่าที่พักอาศัย แต่ยังเป็นสถานที่บ่มเพาะสร้างนิสัย (Character) และสร้างอัตลักษณ์ของบัณฑิต มช. รวมทั้งเป็นสถานที่ฝึกทักษะชีวิต ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และทักษะทางสังคมซึ่งเกิดจากการได้ฝึกใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนร่วมหอพัก ซึ่งต่างคนต่างที่มา ทั้งภูมิหลัง สังคม และฐานะ แต่เมื่อได้มาเป็นชาวหอในด้วยกันแล้ว ประสบการณ์นี้ อาจสร้างความทรงจำที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตวัยเรียน และหล่อหลอมให้เกิดมิตรภาพที่ยาวนานชั่วชีวิตของใครบางคนก็เป็นได้
ด้วยเหตุนี้ สัญลักษณ์ “หมวกบัณฑิต” ที่หอพักหญิง อาคาร 5 จึงมีความหมายไม่แพ้ปริญญาในทางวิชาการใด ๆ เพราะนี่คือใบปริญญาชีวิตจากหอใน ที่ผู้เรียนจะได้ค้นพบและประจักษ์ด้วยตัวเอง ถึงคุณค่าของการเรียนรู้วิชาชีวิตตลอดระยะเวลาที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แห่งนี้นั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
- บทสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ ตุวานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- บทสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ สุวรรณประพิศ ผู้อำนวยการสำนักงานหอพักนักศึกษา
- ประวัติความเป็นมาของหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากหนังสือครบรอบ 20 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่