กุญแจไขปริศนา หอนาฬิกามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

11 กรกฎาคม 2565

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

     หอนาฬิกาสีขาวที่ตั้งอยู่กลางวงเวียนสี่แยก โดยมีดอยสุเทพตั้งตระหง่านเป็นฉากหลัง เป็นแลนด์มาร์คหรือจุดสังเกตที่โดดเด่นในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ชาว มช. คุ้นเคยดี และสำหรับคนที่จาก มช. ไปนาน เมื่อได้กลับมาเห็นภาพนี้ คงอดไม่ได้ที่จะส่งยิ้มให้หอนาฬิกา ด้วยความรู้สึกเหมือนว่าได้กลับมาพบเพื่อนเก่า...

    หอนาฬิกาจึงเป็น “แลนด์มาร์ค” ในทางความรู้สึกของลูกช้าง มช. ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ด้วยความที่เป็นอาคารทรงสูง ดีไซน์เรียบ ๆ แต่ดูมีลูกเล่นหรือกิมมิคที่น่ารัก รวมทั้งตั้งอยู่ในจุดที่ใกล้กับหอพักนักศึกษาชาย-หญิง ทำให้หลายคนรู้สึกคุ้นเคยและผูกพันกับหอนาฬิกา แต่น่าแปลกที่ในความเป็นจริงแล้ว เรากลับรู้จักเพื่อนคนนี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น จนเกิดเป็นคำถามที่หาคำตอบไม่ได้ขึ้นมากมายเกี่ยวกับ หอนาฬิกา มช. ไม่ว่าจะเป็นความเป็นมาของหอนาฬิกา กลไกการทำงานของระบบนาฬิกา ภาพปริศนาต่าง ๆ ไปจนถึงเรื่องราวความเชื่อเรื่องเปรตหอนาฬิกาที่เล่าลือในสื่อสังคมออนไลน์ คำถามทั้งหลายเหล่านี้ จึงต้องอาศัย “กุญแจ” ที่จะช่วยไขปริศนาหาคำตอบเกี่ยวกับหอนาฬิกาให้กระจ่างมากขึ้น ด้วยการสืบค้นข้อมูลทั้งจากเอกสารและคำบอกเล่าจากผู้เกี่ยวข้องที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อที่เราจะได้รู้จักหอนาฬิกา มช. อย่างถ่องแท้มากขึ้น

     ปริศนาข้อที่ 1 : หอนาฬิกา มช. สร้างขึ้นเมื่อใด?

     ใน พ.ศ. 2522 ได้มีการคัดลอกสำเนาพิมพ์เขียวหอนาฬิกา มช. ฉบับหนึ่ง สำเนาฉบับนี้ แสดงรายละเอียดทั้งภาพด้านหน้าและด้านทแยง แปลนห้องเครื่องของหอนาฬิกา ฯลฯ ที่สำคัญคือ มุมซ้ายล่างของพิมพ์เขียวระบุชื่อผู้คัดลอกและวันเดือนปีที่คัดลอกว่า “คัดลอก มาวิน ยุทธภิญโญ 16 กรกฎาคม 2522”


     จากวันเดือนปีที่คัดลอกสำเนาพิมพ์เขียวนี้ อาจทำให้คาดการณ์ในเบื้องต้นได้ว่า หอนาฬิกา มช. อาจสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2522 แต่อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหอนาฬิกาโดยตรง นั่นคือหนังสือ “เรื่องเล่าในวัยสนธยา” ของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ร้อยโท ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าหอนาฬิกามหาวิทยาลัยเชียงใหม่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519 ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิการบดี และท่านได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างหอนาฬิกาไว้ดังนี้

     “...วันหนึ่งได้ตามผู้จัดการบริษัทพระนครก่อสร้างมาพบ แจ้งเขาว่า บริษัทมาก่อสร้างหลายตึก หลายอาคารในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยากขอหอนาฬิกาที่วงเวียนกลางมหาวิทยาลัยไว้เป็นอนุสรณ์สืบไป เขาตกลงสร้างฐานหอนาฬิกาให้โดยไม่คิดค่าก่อสร้างแต่อย่างใด และได้ทำหนังสือถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ ขายนาฬิกา ขอบริจาคนาฬิกาขนาดใหญ่ติดตั้งบนหอนาฬิกา เพื่อเป็นการสนับสนุนมหาวิทยาลัย และเป็นการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์นาฬิกาของบริษัทด้วย บริษัทยินดีมอบนาฬิกา ดังนั้น หอนาฬิกาที่วงเวียนกลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ. 2519”

     เมื่อศาสตราจารย์ นายแพทย์ ร้อยโท ยงยุทธบันทึกปีที่สร้างหอนาฬิกาไว้ชัดเจนเช่นนี้ ทำให้ ต้องกลับไปค้นหาคำตอบว่า สำเนาพิมพ์เขียวเมื่อ พ.ศ. 2522 นั้น เป็นแบบสำหรับก่อสร้างหอนาฬิกาหรือไม่และทำขึ้นเพราะเหตุใด ผู้ที่ไขข้อข้องใจในประเด็นนี้ก็คือ คุณมาวิน ยุทธภิญโญ ซึ่งเคยทำงานที่กองสวัสดิการ (กองอาคารและสถานที่ในปัจจุบัน) และเป็นผู้คัดลอกแบบพิมพ์เขียวหอนาฬิกาฉบับนี้ ได้ให้คำตอบว่า เป็นสำเนาพิมพ์เขียวที่ทำขึ้นเพื่อประเมินราคาสำหรับงานปรับปรุงหอนาฬิกาใน พ.ศ. 2522 ดังนั้น จึงได้ข้อสรุปว่า หอนาฬิกาสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2519 ตามที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ร้อยโท ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ ได้บันทึกไว้นั่นเอง และในปัจจุบันหอนาฬิกา มช. ของเรามีอายุ 46 ปีแล้ว แต่โครงสร้างต่าง ๆ ยังมีความมั่นคงแข็งแรง โดยรูปทรงของหอนาฬิกานั้นเป็นอาคารทรงสูงที่มีรูปแบบเรียบง่าย มีหน้าปัดนาฬิกา 4 ทิศอยู่ด้านบนสุด ทำให้สามารถมองเห็นได้จากหลายทิศทาง และสามารถตอบสนองต่อการใช้งานได้จริงในฐานะแลนด์มาร์ค (Landmark) หรือจุดสังเกตที่โดดเด่นภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2519 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

      ปริศนาข้อที่ 2 : หอนาฬิกาใช้ระบบอะไร


ภาพถ่ายหอนาฬิกาในอดีต

      ความสงสัยนี้ถูกส่งต่อผ่านยุคสมัยมาเรื่อย ๆ จากรุ่นพี่ มช. รุ่นก่อน ๆ มาสู่รุ่นน้องในปัจจุบัน ว่าหอนาฬิกาใช้ระบบใด ใช้ถ่านหรือใช้ไฟ? มีระบบในการควบคุมอย่างไร? ปริศนาข้อนี้ คุณชาติชาย โอสถาพันธ์ อดีตผู้อำนวยการกองกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักสะสมนาฬิกาที่รู้จักหอนาฬิกา มช. เป็นอย่างดี ได้เฉลยคำตอบให้ฟังว่า หอนาฬิกา มช. เป็นระบบไฟฟ้า และมีถ่านเป็นตัวเก็บไฟสำรอง ทั้งนี้ จะมีตู้คอนโทรลทำหน้าที่ควบคุมระบบทั้งหมด อยู่ใกล้ ๆ กับหอพักหญิง อาคาร 6 ห่างจากหอนาฬิกา ราว 50 เมตร ตู้คอนโทรลนี้สามารถควบคุมได้ทั้งการตั้งเข็มนาฬิกา และการตั้งเสียงให้นาฬิกาตีบอกเวลา เป็นต้น

     ในอดีตหอนาฬิกาของเรานั้นเคยตั้งเสียงให้ตีบอกเวลาตามเวลาที่ต้องการได้ ครั้งหนึ่งเคยมีการตั้งนาฬิกาให้ตีทุกชั่วโมง แต่ปรากฏว่าได้รับการร้องเรียนจากบรรดานักศึกษาว่าเป็นการรบกวนการพักผ่อน จึงได้ปรับให้ตีเพียง 4 เวลาสำคัญ คือ 8.00 น., 12.00 น., 13.00 น. และ 18.00 น. อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเนื่องจากระบบเครื่องหอนาฬิกามีอายุยาวนานแล้ว จึงไม่สามารถตีบอกเวลาได้อีก

     ปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลตู้คอนโทรลระบบหอนาฬิกาคือ ฝ่ายรักษาความปลอดภัย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการดูแลหอนาฬิกา ด้วยความตระหนักดีว่านี่คือแลนด์มาร์ค ของ มช. แม้ว่าจะประสบปัญหาบ้าง เนื่องจากนาฬิกามีอายุการใช้งานที่ยาวนานแล้ว จึงต้องมีการซ่อมบำรุงและเปลี่ยนอะไหล่เป็นระยะ ๆ ปัญหาที่มักพบบ่อยที่สุดของหอนาฬิกาคือ นาฬิกาหยุดเดินเพราะไฟดับ เพราะแม้ว่านาฬิกาจะมีระบบสำรองไฟ แต่หากไฟดับกินเวลานานกว่า 6 ชั่วโมง นาฬิกาจะหยุดเดิน และต้องมีการจูนเวลากันใหม่ ซึ่งการจูนเวลาบนหน้าปัดหอนาฬิกานั้นสามารถทำผ่านตู้คอนโทรลได้

     ปริศนาข้อที่ 3 : ทำไมเข็มนาฬิกาบนหน้าปัดทั้ง 4 ด้านจึงเดินไม่เท่ากัน?


     หลายครั้งที่มีผู้สังเกตเห็นว่าเข็มนาฬิกาทั้ง 4 ด้านบนหน้าปัดหอนาฬิกาเดินไม่ตรงกัน และเข็มนาฬิกาไม่เที่ยงตรงตามเวลามาตรฐาน เช่น เข็มนาฬิกาด้านคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เดินช้ากว่าด้านอื่น ๆ ปัญหานี้ เกิดจากแกนที่ควบคุมเข็มหย่อนหลวม ทำให้เฟืองเข็มหย่อนและหมุนช้ากว่าเดิมนั่นเอง

     ปัญหานี้แก้ไม่ง่ายเหมือนปัญหานาฬิกาหยุดเดิน เพราะการซ่อมหรือเปลี่ยนเข็มนาฬิกาตรงหน้าปัด หอนาฬิกานั้น ไม่สามารถทำผ่านตู้คอนโทรลได้ ต้องทำผ่านหน้าปัดหอนาฬิกาเท่านั้น และวิธีเดียวที่จะขึ้นไปถึงบนยอดนาฬิกาทั้ง 4 ด้านก็ไม่ง่ายเลย นั่นคือ ต้องใช้รถกระเช้าเพื่อบรรทุกช่างเทคนิคขึ้นไปปฏิบัติงาน ตอกแกนเข็มและทำความสะอาดหน้าปัดหอนาฬิกาเท่านั้น ซึ่งรถกระเช้าที่ใช้กับความสูงระดับนี้ ทางมหาวิทยาลัยต้องขอความอนุเคราะห์ขอยืมจากเทศบาลนครเชียงใหม่เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ การซ่อมบำรุง หอนาฬิกาแต่ละครั้งจึงไม่ง่ายเลย

     ปริศนาข้อที่ 4 : บันไดหอนาฬิกาสามารถขึ้นไปถึงหน้าปัดนาฬิกาได้จริงไหม?


      ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าหอนาฬิกามีบันไดที่สามารถปีนขึ้นไปได้ บันไดนี้สร้างขึ้นสำหรับให้ช่างขึ้นไปทำความสะอาดเครื่องนาฬิกา แต่เมื่อขึ้นไปถึงบนยอดหอนาฬิกา จะไม่สามารถปีนออกไปยังด้านหน้าปัดหอนาฬิกาได้ การทำความสะอาดหน้าปัดด้านหน้าจะต้องใช้รถกระเช้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จากข้อเท็จจริงนี้เอง สรุปได้ว่า ภาพคนนั่งอยู่บนหน้าปัดหอนาฬิกาที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ หรือการปักป้ายเขียนข้อความบนหน้าปัดหอนาฬิกาที่ชวนให้ผู้คนสงสัยว่าขึ้นไปได้อย่างไรนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่ภาพที่เกิดขึ้นจริง แต่เกิดจากการตัดต่อภาพทั้งสิ้น

      นอกจากนี้ ตลอด 46 ปีที่ผ่านมาของหอนาฬิกา มช. บันไดหอนาฬิกาได้กลายเป็นทั้งที่ประลองกำลังและสร้างวีรกรรมการปีนหอนาฬิกาของนักศึกษาหลายคณะที่กำลังอยู่ในวัยคึกคะนอง ทั้งนี้ คุณภิเษก อินใจ หัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า มักจะพบปัญหานักศึกษาแอบปีนขึ้นไปบนหอนาฬิกา ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เพราะการปีนขึ้นไปบนหอนาฬิกานั้น นอกจากจะเสี่ยงที่จะตกลงมาแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกไฟดูดอีกด้วย ดังนั้น เมื่อพบนักศึกษาที่กระทำผิด ฝ่ายรักษาความปลอดภัยจะต้องตักเตือน ทำบันทึกประวัติไว้ และส่งตัวไปบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะต่อไป

     ปริศนาข้อที่ 5 : เปรตหอนาฬิกามีจริงหรือไม่?


        เรื่องราวของเปรตหอนาฬิกาได้รับการเล่าขานในหมู่นักศึกษา มช. รุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่เล่าลือว่าในยามดึกดื่นของบางค่ำคืน จะมีผู้พบเห็นเปรตที่มีความสูงพอ ๆ กับหอนาฬิกา มช. เรื่องเล่านี้อาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่สำหรับฝ่ายรักษาความปลอดภัยที่ปฏิบัติหน้าที่ใน มช. มายาวนานหลายสิบปี ขอยืนยันว่า ไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคนใดเคยพบเห็นเปรตหอนาฬิกาเลยแม้แต่คนเดียว ส่วนความเชื่อที่ว่า หากอยากเห็นเปรตหอนาฬิกาให้เดินทวนเข็มนาฬิกา 3 รอบ แล้วมองลอดใต้หว่างขานั้น เป็นประสบการณ์ และความเชื่อที่คงต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน


      คำตอบจากปริศนา 5 ข้อนี้ คงทำให้ใครหลายคนได้รู้จักหอนาฬิกา มช. ได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ในฐานะแลนด์มาร์คของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ “เพื่อนเก่า” ที่คอยบอกเวลา กิน นอน เรียน เล่น และได้บันทึกช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไว้เป็นความทรงจำอันงดงามของลูกช้าง มช.ทุกคนตลอดไป

เอกสารอ้างอิง
- หนังสือ “เรื่องเล่าในวัยสนธยา” ของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ร้อยโท ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- หนังสือ 50 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- บทสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ ตุวานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- บทสัมภาษณ์ ชาติชาย โอสถาพันธ์ อดีตผู้อำนวยการกองกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- บทสัมภาษณ์ อาจารย์ไชยันต์ ปานะจำนงค์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- บทสัมภาษณ์ ณัฐวิทย์ ครูบา ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่และสาธารณูปโภค
- บทสัมภาษณ์ ภิเษก อินใจ หัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่