มช.หนุนวิจัยรองรับสังคมผู้สูงวัย พัฒนาเจลลี่อาหาร กลืนง่าย รสชาติดี สารอาหารครบถ้วน

28 เมษายน 2566

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

         มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เล็งเห็นความสำคัญของการวางรากฐานสังคมในหลากมิติเพื่อรองรับสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จำนวนประชากรในสังคมไทยปัจจุบันมีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มที่จะเข้าสูงสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ จึงเป็นเหตุผลให้ผู้วิจัยจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มช.ผุดไอเดียเจลลี่อาหารที่ช่วยให้กลุ่มผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการได้รับสารอาหารที่เพียงพอ อีกทั้งช่วยให้ง่ายต่อการรับประทานอีกด้วย

         ภาวการณ์กลืนอาหารยากเป็นหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยมีสาเหตุหลายประการ เริ่มตั้งแต่ในช่องปากไปจนถึงอาการของโรคประจำตัวของผู้ป่วย ก่อให้เกิดการสำลัก หรือแม้กระทั่งภาวะที่เป็นอันตรายต่อชีวิตตามมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้พัฒนาสองเจลลี่อาหารนั่นคือเจลลี่ รสผลไม้ และเจลลี่กระเพาะปลาน้ำแดง เจลลี่ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการ ลดความกังวลต่อการบดเคี้ยวอาหาร ลดความยากของการรับประทาน เพิ่มสารอาหารจำเป็น ช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น

          ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุในรูปแบบเจลลี่ รสผลไม้ มีลักษณะอ่อนนุ่ม อุดมด้วยไฟเบอร์และสารต้านอนุมูลอิสระ ไม่มีส่วนผสมของวัตถุเจือปนอาหาร (food additive) ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้รสชาติที่เหมือนกับการได้รับประทานผลไม้สด เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเนื่องจากภาวะการบดเคี้ยว การกลืน ซึ่งผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติด้านเนื้อสัมผัส และด้านการยอมรับทางประสาทสัมผัสโดยผู้สูงอายุที่มีภาวะกลืนลำบากให้อยู่ในเกณฑ์ดี โดยผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการพัฒนาโดย ผศ.ดร.ธรรณพ เหล่ากุลดิลก สาขาวิชาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ทางทะเล คณะอุตสาหกรรมเกษตร

         ในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุในรูปแบบเจลลี่กระเพาะปลาน้ำแดง เน้นที่การส่งเสริมภาวะโภชนาการด้านโปรตีน มีลักษณะเนื้อสัมผัสนุ่ม ให้รสชาติอร่อยตามแบบฉบับกระเพาะปลาน้ำแดงแบบดั้งเดิม สามารถกลืนได้ง่าย ผ่านการทดสอบจากกลุ่มตัวอย่างที่มีภาวะเคี้ยวกลืนลำบาก โดยใช้เวลาในการกลืนเพียง 1.7 วินาที ทั้งยังสามารถเลือกรับประทานได้ทั้งในรูปแบบเจลลี่ หรือรูปแบบซุปร้อนๆ เพิ่มทางเลือกในการรับประทานได้อีกทางหนึ่ง โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้มี ผศ.ดร.เอกสิทธิ์ จงเจริญรักษ์ สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นผู้พัฒนา



แกลลอรี่