มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัล สถาบันอุดมศึกษากลุ่มพัฒนาการวิจัย ระดับแนวหน้าของโลก ประจำปี พ.ศ. 2566 จากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี เข้ารับรางวัลจากนางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานในพิธีมอบรางวัลสถาบันอุดมศึกษากลุ่มพัฒนาการวิจัย ระดับแนวหน้าของโลก ประจำปี พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ณ ห้อง Eternity Ballroom โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ ถนนรางน้ำ กรุงเทพฯ
โดยการประกาศรางวัลมีด้วยกัน 3 ด้าน เป็นผลสำเร็จของการดำเนินการทั้งจากทีมคณาจารย์ ผู้วิจัย และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกัน จนกำเนิดผลงานได้สร้างคุณประโยชน์ในด้านที่มีผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่
1. รางวัลดีเด่น ด้านการสร้างและพัฒนาระบบนิเวศด้านการวิจัย จากผลงาน "การพัฒนาแพลท ฟอร์มการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"
เป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและนวัตกรรม และการบริการทางวิชาการแก่สังคม ร่วมส่งเสริม กำกับ ประสานงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม งานทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมแสวงหาแหล่งทุนสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและส่งเสริมให้บุคลากรสามารถเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานวิจัยและภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในทุกมิติ และพัฒนาโครงสร้างการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมให้มีศักยภาพในการแข่งขันและบรรลุตามเป้าหมายยุทธศาสตร์การวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. รางวัลชมเชย ด้านการสร้างกำลังคนด้านการวิจัยของประเทศ จากผลงาน "การพัฒนาระบบนิเวศ วิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"
การพัฒนากำลังคนเพื่อส่งเสริมด้านการวิจัย โดยมหาวิทยาลัยดำเนินการในรูปแบบ platform อาทิ IDP สำหรับอาจารย์และนักวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านวิจัย IDP สำหรับเจ้าหน้าที่ประสานงานวิจัยเพื่อส่งเสริมการทำงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยให้มีประสิทธิภาพ การเพิ่มอัตรากำลังเพื่อรับนักวิจัยยุทธศาสตร์เชิงรุกทั้งระดับหลังปริญญาเอกและระดับหลังปริญญาโท เพื่อพัฒนางานวิจัยเชิงรุกตามกรอบวิจัยของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
3. รางวัลชมเชย ด้านการวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ จาก ผลงาน "การพัฒนาระบบนิเวศวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"
มุ่งเน้นด้านการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันได้ โดยมหาวิทยาลัยมี platform สนับสนุน อาทิ การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ ศูนย์วิจัยและกลุ่มวิจัย, การส่งเสริมความร่วมมือกับอาจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, การสนับสนุนงบประมาณเงินรายได้ มช. เพื่อตีพิมพ์บทความวิจัยที่อยู่ใน Q1-Q2 รวมทั้ง วารสารกลุ่ม Nature Index และมีความร่วมมือกับนานาชาติ, การคัดเลือกอาจารย์ นักวิจัยรุ่นใหม่ตลอดจนบุคคลภายนอกที่มีประสบการณ์และผลงานเชิงประจักษ์สนับสนุนการสรรหาอาจารย์และนักวิจัยในรูปแบบ Active Recruitment, Rolling plan และ Visiting Professor รูปแบบพิเศษเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และการวิจัย
รางวัลสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ประจำปี พ.ศ.2566 เป็นรางวัลเพื่อยกย่องและตระหนักในคุณค่าของผลงาน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างกำลังคนด้านการวิจัยของประเทศ และพัฒนานวัตกรรมจากผลงานวิจัยและองค์ความรู้ขั้นสูง อันจะนำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อเป็นการกระตุ้นและผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษา เห็นความสำคัญและมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากลและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ และเพื่อเป็นการประเมินระดับความสำเร็จของผลงานสถาบันอุดมศึกษาในการสร้างและพัฒนาระบบนิเวศด้านการวิจัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการวิจัยระดับแนวหน้าของโลกดีเด่น อันจะสามารถนำผลที่ได้มาใช้ในการขับเคลื่อน การปรับปรุงแนวทาง และการดำเนินงานตามนโยบาย