โมเดล BCG มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

7 มกราคม 2565

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำ BCG Model ผสานการดำเนินงานเชิงรุก 3 ด้าน 1.อาหารสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ 2. สิ่งแวดล้อมและพลังงาน 3.ล้านนาสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อน Medicopolis Biopolis และ Creative Lanna พร้อมผลักดัน “BCG แม่เหียะโมเดล”เป็นพื้นที่ต้นแบบในการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติ ให้ชุมชนนำไปต่อยอดให้เหมาะกับแต่ละท้องที่ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

BCG โมเดล เป็นโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ที่มุ่งสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ ที่จะนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B : Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C : Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และสอดรับกับ G : Green Economy ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา จำนวน 114,634.7682 ล้านบาท และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) จำนวน 29,100 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 143,734.7682 ล้านบาท ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สนอว.) เสนอ ซึ่งการอนุมัติกรอบงบประมาณในครั้งนี้เป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของประเทศ

  

ในการกำหนดนโยบายบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) ฉบับปรับปรุง 2563 ซึ่งจะนำไปสู่แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 ในช่วงปีหน้านี้ ได้มีการนำ BCG โมเดล เข้ามาผนวกกับยุทธศาสตร์เชิงรุก 3 ด้านหลักของมหาวิทยาลัย ได้แก่ 1.อาหารสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ 2. สิ่งแวดล้อมและพลังงาน และ 3.ล้านนาสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเรือธงสำคัญของการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย ผ่านการดำเนินงาน CMU BCG PLATFORM ประกอบด้วย Medicopolis เมืองนวัตกรรมการแพทย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ มุ่งสร้างสังคมสุขภาพดี ลดความเหลื่อมลํ้าเข้าถึงเทคโนโลยีและบริการ สร้างมูลค่า งานวิจัย นวัตกรรม พัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วยนวัตกรรมการแพทย์ Biopolis ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจฐานชีวภาพ และ Creative Lanna ศูนย์รวมองค์ความรู้ ศิลปะ วัฒนธรรมและสร้างนวัตกรรมเพื่อชูภูมิปัญญาอย่างสร้างสรรค์

ในการดำเนินการเกี่ยวกับ BCG โมเดล นั้น มหาวิทยาลัยได้พัฒนาศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะให้เป็น “BCG แม่เหียะโมเดล” เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยบูรณาการองค์ความรู้ 3 ด้าน Bio Circular Green ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์การแพทย์การดูแลผู้สูงอายุ อาหาร มาผนวกกับสิ่งแวดล้อมพลังงาน และการสร้างสรรค์เศรษฐกิจมูลค่าสูงของวัฒนธรรมล้านนาเข้าด้วยกัน

BCG แม่เหียะโมเดล เป็นพื้นที่ที่มีการดำเนินการทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ


ต้นน้ำ – มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมเป็นหลัก ทั้งในเรื่องของการเพาะปลูกพืชการเลี้ยงสัตว์

กลางน้ำ – จากเดิมเป็นการแปรรูปที่ต่อยอดจากการเกษตร เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีการ แปรรูปแบบขั้นเดียว เช่น แปรรูปจากธัญพืชข้าว มันสำปะหลังเป็นแป้ง ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ ด้านเทคโนโลยีเชิงลึก ซึ่งได้พัฒนานวัตกรรม CMURL 1-3 มีการบ่มเพาะเทคโนโลยีมาระดับหนึ่งแล้ว และได้มีการขยายผลของกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลางน้ำ ส่งผลให้พื้นที่แม่เหียะมี Pilot Project หลายโครงการเกิดขึ้น เช่น โรงงานสกัดสารมูลค่าสูงกลายเป็นวัตถุดิบทางชีวภาพ แทนการแปรรูปขั้นเดียวเหมือนที่ผ่านมา โดยมีการนำวัตถุดิบมาเพิ่มมูลค่า ด้วยกระบวนการสกัดแล้วแยกสารบริสุทธิ์ออกมา ซึ่งมีคุณประโยชน์ในเชิงการแพทย์ และอาหารฟังค์ชั่นเป็นอย่างมาก เช่น กัญชา เมื่อนำหลักวิทยาศาสตร์เชิงลึกเข้ามาใช้ในกระบวนการสกัดน้ำมันทำให้สามารถแยกองค์ประกอบของสารได้หลากหลายชนิดและมีความบริสุทธิ์สูงขึ้น เมื่อนำสารเหล่านี้ไปต่อยอดใช้ในเชิงการแพทย์ จะสามารถพัฒนาไปสู่กระบวนการในการผลิตยาใหม่ได้ในอนาคต

ปลายน้ำ – มุ่งเน้นการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกพืช ซึ่งมักเกิดของเหลือทิ้งทางการเกษตร หากกำจัดด้วยวิธีแบบดั้งเดิม คือนำไปเผา จะเกิดปัญหา PM 2.5 จึงเกิดแนวคิดว่าทำอย่างไรให้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเหล่านี้นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยมีการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม สร้างเป็น Pilot Project เพื่อจัดการวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร รวมถึงของเสียจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขยะชุมชน ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ไร่แม่เหียะ มช. มุ่งเป็น Zero Waste เป็นการตอบโจทย์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สนับสนุนแนวทาง circular economy คือ มีการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ในขณะเดียวกันมีการนำของเสียแปรรูปเป็น Bio Energy พลังงานชีวภาพ เป็น Green พลังงานสะอาด และนำกลับมาใช้ประโยชน์ช่วยลดต้นทุน ในการดำเนินงานได้

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความตั้งใจสร้างแม่เหียะโมเดล ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบของ Bio Circular Green เพื่อให้ประชาชนและชุมชนได้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า แต่ละท้องที่ทั้งระดับของเทศบาล อบต.หรือชุมชน ไม่ว่าจะมีขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ก็สามารถใช้โมเดลที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สร้างขึ้นนี้ เพื่อเรียนรู้และนำไปประยุกต์ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ได้

กล่าวได้ว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอบสนองรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Model โดยใช้องค์ความรู้ ที่เรียกว่า CMURL 1-3 ที่ได้พัฒนาความรู้เชิงลึกขึ้นมา มีการขยายผลให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการผลิตนำร่องในขอบข่ายของ CMURL 4-7 แล้วต่อยอดไปสู่การใช้งานในพื้นที่ชุมชนได้จริง เป็น CMURL 8-9 ท้ายที่สุดแล้ว คนที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดก็คือประชาชนและสังคม ด้วยการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจจากรูปแบบของพืชเศรษฐกิจใหม่ กระบวนการแปรรูปแบบใหม่ที่ทำให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นนี้ ก็จะเป็นตัวที่สะท้อนกลับในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจในชุมชนอย่างแท้จริง ที่สำคัญที่สุดก็คือ ชุมชนจะปลอดมลพิษ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

#CMU #ChiangMaiUniversity #มช #มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน #CMUSDGs #CMUSDG3 #CMUSDG6 #CMUSDG7 #CMUSDG8 #CMUSDG9 #CMUSDG10 #CMUSDG11 #CMUSDG12 #CMUSDG13 #CMUSDG17
แกลลอรี่