ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือฤกษ์งามยามดีวันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคม 2563 จัดงานเปิด “เรือนเพาะชำกล้าไม้ท้องถิ่น” ณ ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน และศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติจากหลากหลายหน่วยงานพันธมิตรที่มาร่วมมือกันทำกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนปลูกจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศไทยให้อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป ภายในงานมีการเดินเยี่ยมชมเรือนเพาะชำกล้าไม้ท้องถิ่น กิจกรรมสาธิตการเพาะเมล็ดและการย้ายกล้าไม้ท้องถิ่นแก่ผู้ที่สนใจ และการแจกต้นกล้าไม้ท้องถิ่นเพื่อให้นำกลับไปปลูกที่บ้าน
อาจารย์ ดร.เดีย พนิตนาถ แชนนอน หัวหน้าศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวว่า “เรือนเพาะชำกล้าไม้ท้องถิ่นแห่งนี้เป็นแหล่งเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์ไม้ท้องถิ่นภาคเหนือหายาก สำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับเมล็ดไม้ท้องถิ่นในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตกล้าไม้ท้องถิ่นเพื่อการฟื้นฟูป่าบนดอยสุเทพซึ่งระบบนิเวศป่าได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไฟไหม้ป่าในทุกๆ ปี และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงการวิจัยกล้าไม้ท้องถิ่นร่วมกับหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) ของคณะวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเป็นพื้นที่สำหรับสนับสนุนกิจกรรมบริการวิชาการต่างๆ ของศูนย์ฯ ซึ่งถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรรมชาติวิทยา นิเวศวิทยา การอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านการอบรมและการลงมือปฏิบัติในสถานที่จริง เพื่อสร้างความตระหนักแก่เยาวชนและชุมชนให้เห็นความสำคัญของธรรมชาติ และส่งเสริมชุมชนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามวิสัยทัศน์ของศูนย์ฯ และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ 1 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเรื่องนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดยมีเป้าหมายในการเป็นผู้นำในการสร้าง จัดการ สร้างเสริมสมรรถนะ และแบ่งปันด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมสีเขียวที่ยั่งยืน”
เรือนเพาะชำกล้าไม้ท้องถิ่นของศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ ลักษณะเป็นอาคารศูนย์การเรียนรู้ และเรือนเพาะชำ ขนาดพื้นที่โดยรวม 100 ตารางเมตร สร้างขึ้นเมื่อปี 2562 โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ธันวาคม 2563
เรือนเพาะชำกล้าไม้ท้องถิ่นแห่งนี้ ประกอบด้วย
1. ห้องนิทรรศการ
จัดแสดงข้อมูลการฟื้นฟูป่าโดยวิธีพรรณไม้โครงสร้าง องค์ประกอบของเมล็ด ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง และตัวอย่างอุปกรณ์เรือนเพาะชำ
2. ห้องเก็บตัวอย่างเมล็ด
จัดแสดงข้อมูลโครงการธนาคารเมล็ดเพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมของไม้ท้องถิ่น ประเภทของเมล็ด ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ไม้ท้องถิ่น และตัวอย่างพรรณไม้แห้ง
3. ห้องเก็บอุปกรณ์
เก็บอุปกรณ์เรือนเพาะชำ วัสดุเพาะเมล็ด วัสดุปลูก และอุปกรณ์ต่างๆ
4. พื้นที่เตรียมและเพาะเมล็ด
พื้นที่สำหรับการเพาะเมล็ดและจัดเตรียมวัสดุปลูก
5. พื้นที่อนุบาลกล้าไม้
พื้นที่สำหรับวางกล้าไม้ท้องถิ่นเพื่อเตรียมนำไปปลูก
เรือนเพาะชำกล้าไม้นับเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของการฟื้นฟูระบบนิเวศป่า โดยเป็นแหล่งเพาะชำและผลิตต้นกล้าไม้เพื่อนำไปปลูกป่า นอกจากนั้น ยังเป็นศูนย์กลางของกิจกรรม ทั้งทางการศึกษาและสังคมของชุมชน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมกับการฟื้นฟูป่ามากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสภาพแวดล้อมต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
นางสาวเอื้องอริน สายจันทร์ โทรศัพท์ 084-6116345
ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อีเมล์ doisuthep.center@cmu.ac.th