การประชุมวิชาการนานาชาติ (International Conference on International Relations and Development หรือ ICIRD)

25 กรกฎาคม 2565

คณะสังคมศาสตร์

ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ (MAIDS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (IHRP) มหาวิทยาลัยมหิดล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายการประชุมวิชาการนานาชาติ (International Conference on International Relations and Development หรือ ICIRD) ซึ่งเป็นเวทีส่งเสริมให้คณาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัยในสังกัดมหาวิทยาลัยเครือข่าย ตลอดจนนักวิชาการจากทั่วโลก ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ และประสบการณ์วิจัย มีกำหนดจัดการประชุมอย่างต่อเนื่องทุก 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยมหาวิทยาลัยในเครือข่ายจะหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ซึ่งในปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับเป็นเจ้าภาพจัดงาน
การจัดการประชุม ICIRD ครั้งที่ 7 ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ โดยมีรองศาสตราจารย์ โรม จิรานุกรม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ มีกำหนดจัดในรูปแบบ Hybrid คือ การจัดงานแบบ online และ onsite ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 22 – 23 กรกฎาคม 2565 โดยหัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้ คือ “Disruption, Challenges and Resilience in Contemporary Southeast Asia” ซึ่งมุ่งเน้นมิติด้านการเมืองและสังคม วิกฤติการเปลี่ยนแปลง ความท้าทายและโอกาสที่ไม่คาดคิด การบริหารจัดการทรัพยากร ความขัดแย้งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม รวมไปถึงวิกฤติความขัดแย้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความมั่นคง ในภูมิภาคเอกเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นับตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนวิกฤติประชาธิปไตยในภูมิภาค ฯลฯ
2. เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการในระดับนานาชาติ และสร้างเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายระหว่างนักวิชาการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับนักวิชาการจากนานาชาติ
3. เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายทางวิชาการ ระหว่างนักวิชาการไทย นักวิชาการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนักวิชาการจากนานาชาติ ในประเด็นศึกษาร่วมสมัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

รายละเอียดประกอบข่าว : กองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่