คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกแห่งที่ 203 (World Health Organization Collaborating Center: WHO CC 203)

9 พฤศจิกายน 2566

คณะพยาบาลศาสตร์


คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้ว ทั้งในรูปแบบการจัดทำคู่มือต่าง ๆ การทำวิจัย การพัฒนาสื่อถ่ายทอดความรู้ การส่งผู้เชี่ยวชาญจากคณะฯ ไปเป็นที่ปรึกษา และร่วมพัฒนาหลักสูตรด้านการพยาบาล อีกทั้งจัดการศึกษาด้านการพยาบาลและผดุงครรภ์ให้แก่ประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้เป็นแหล่งฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านสาธารณสุขให้แก่ผู้รับทุนขององค์การอนามัยโลกให้ด้านต่าง ๆ เช่น Midwifery Education for Safe Motherhood, Elderly Care, Community Nursing เป็นต้น
.
จากความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวทำให้คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2546 ให้เป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านการพยาบาลและผดุงครรภ์ซึ่งเป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกแห่งที่ 203 จากทั่วโลก (World Health Organization Collaborating Center for Nursing and Midwifery Development No.203: WHO CC) โดยได้รับการต่ออายุการเป็นศูนย์ความร่วมมือฯ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบั ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก ให้เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีศักยภาพทางวิชาการในระดับมาตรฐานสากล ปัจจุบันมีศูนย์ความร่วมมือของ WHO มากกว่า 800 แห่งในประเทศสมาชิกกว่า 80 ประเทศที่ทำงานร่วมกับ WHO ในด้านต่างๆ เช่น การพยาบาล อาชีวอนามัย โรคติดต่อ โภชนาการ สุขภาพจิต โรคเรื้อรัง และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ
.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกดังกล่าว เป้าหมายเพื่อพัฒนาการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น การให้ความช่วยเหลือภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย การเป็นศูนย์ฝึกอบรมในด้านการศึกษา การวิจัย และ การให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมขององค์การอนามัยโลก ตลอดจนการเป็นที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ ให้กับองค์การอนามัยโลก ตามความต้องการของ WHO Office ในแต่ละประเทศหรือภูมิภาค ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกของคณะฯ มุ่งเน้นการนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาใช้ในการพยาบาลและผดุงครรภ์ (Evidence Based Nursing and Midwifery) ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติการพยาบาลและผดุงครรภ์ที่เป็นเลิศ (Best Practice) รวมทั้งด้านการจัดการพยาบาลตลอดจนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ อันจะเป็นการขยายขอบข่ายงานของคณะฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการพัฒนาให้คณะฯ มีความแข็งแกร่งทางด้านวิชาการมากขึ้นอีกด้วย


แกลลอรี่