วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มช. นำพันธมิตรภายใต้โครงการ MetaChef เข้าพบรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อหารือการสร้างนวัตกรรมการทำอาหารผ่านโลกเมตาเวิร์ส

3 เมษายน 2568

วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุจิรา อุ่นเจริญ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล นำพันธมิตรภายใต้โครงการ MetaChef เข้าพบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทศพร พิชัยยา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการ MetaChef: International Culinary Education Alliance via Metaverse Immersive Training ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ERASMUS+ แห่งสหภาพยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และองค์กรชั้นนำระดับนานาชาติในด้านการศึกษาและนวัตกรรมการทำอาหาร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตรจากภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในระดับนานาชาติ ดังนี้

• รองศาสตราจารย์ Johanna Edelbloude คณบดีฝ่ายวิชาการและหัวหน้าภาควิชาการศึกษาและการวิจัยด้านการจัดการการต้อนรับ Institut Paul Bocuse Ecole De Management ประเทศฝรั่งเศส
• รองศาสตราจารย์ Ding Li อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการการต้อนรับด้านบริการอาหารและศิลปะการทำอาหาร Institut Paul Bocuse Ecole De Management ประเทศฝรั่งเศส
• รองศาสตราจารย์ Pearl Lin ผู้แทนจาก Hong Kong Polytechnic University ฮ่องกง
• ศาสตราจารย์ Vasilis Kostoglou อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ International Hellenic University ประเทศกรีซ
• ศาสตราจารย์ Konstantinos Diamantaras อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ International Hellenic University ประเทศกรีซ
• Marina Delianidi นักวิจัยวิทยาศาสตร์ นักศึกษาปริญญาเอก International Hellenic University ประเทศกรีซ
• รองศาสตราจารย์ Mu Lei รองผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ Chengdu University สาธารณรัฐประชาชนจีน
• รองศาสตราจารย์ Fu Jing รองคณบดีคณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมวัฒนธรรม Chengdu University สาธารณรัฐประชาชนจีน
• ศาสตราจารย์ Yu Xi คณบดี Stirling College, Chengdu University สาธารณรัฐประชาชนจีน
• Zhao Min เจ้าหน้าที่ Stirling College, Chengdu University สาธารณรัฐประชาชนจีน

โครงการนี้ดำเนินการภายใต้กรอบเวลาสามปี เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 เป็นต้นมา และมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรการทำอาหารที่ผสมผสานเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส (Metaverse) เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนการสอนที่เสมือนจริงผู้เรียนสามารถฝึกฝนทักษะการทำอาหารหลากหลายวัฒนธรรม และเรียนรู้เรื่องอาหารจากทั่วโลกผ่านห้องเรียนเสมือนจริง

โครงการนี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา แต่ยังเปิดโอกาสสู่ความร่วมมือในโครงการอื่น ๆ กับ ERASMUS ในอนาคต โดยมีเป้าหมายในการสร้างความก้าวหน้าให้กับวงการการศึกษานานาชาติอย่างยั่งยืน
แกลลอรี่