นักวิจัยคณะวิทย์ มช. ร่วมทีมวิจัยนานาชาติ ศึกษา DNA กระดูกมนุษย์โบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ

24 ธันวาคม 2561

คณะวิทยาศาสตร์

นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มช. ร่วมทีมวิจัยนานาชาติ ศึกษา DNA กระดูกมนุษย์โบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยผลการวิจัยที่พบว่า มนุษย์โบราณในเวียดนามและไทยมีความใกล้ชิดกันทางพันธุกรรม โดยมีบรรพชนร่วมกับกลุ่มชนที่พูดภาษามอญ-เขมรซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคนี้อย่างน้อยตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน “Ancient genomes document multiple waves of migration in Southeast Asian prehistory” คือชื่องานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยวารสารดังกล่าว มีค่า Impact factor (2016) หรือจำนวนครั้งโดยเฉลี่ยที่บทความของวารสารนั้นจะได้รับการอ้างอิงในแต่ละปี สูงถึง 37.205 และยังถูกจัดอยู่ใน Quartile ที่ 1 ซึ่งถือเป็นวารสารวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่มีความสำคัญและเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จตุพล คำปวนสาย อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในทีมวิจัย จากนานาชาติ ซึ่งประกอบด้วยนักวิจัยจากไทย สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เวียดนาม เมียนมาร์ อิตาลี สาธารณรัฐเชค โปรตุเกส และโครเอเชีย กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ นักวิจัยมุ่งศึกษาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของดีเอ็นเอจากกระดูกของมนุษย์โบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมนุษย์ปัจจุบันที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับเส้นทางและปัจจัยที่ส่งผลต่อการอพยพของประชากรมนุษย์ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ความโดดเด่นของงานวิจัยนี้ก็คือ การศึกษาดีเอ็นเอจากกระดูกของมนุษย์โบราณที่ขุดค้นพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อายุประมาณ 4,000-2,000 ปีก่อน จากประเทศเวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา และไทย โดยอาศัยเทคโนโลยีการหาลำดับเบสของดีเอ็นเอที่เรียกว่า next-generation sequencing กระดูกของมนุษย์โบราณจากประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ขุดค้นพบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ที่มีอายุ 3,500-2,400 ปีก่อน ซึ่งอยู่ในช่วงปลายยุคหินใหม่ต่อเนื่องถึงยุคโลหะ ข้อมูลของดีเอ็นเอจากกระดูกโบราณถูกนำมาเปรียบเทียบกับกลุ่มชนปัจจุบันหลากหลายชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยผู้วิจัยชาวไทย คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จตุพล คำปวนสาย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภู กุตะนันท์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้เก็บตัวอย่างวัตถุชีวภาพของประชากรปัจจุบันในภาคเหนือ ซึ่งเชื่อว่าสืบเชื้อสายจากกลุ่มชนโบราณ ได้แก่ ชาวมลาบรี (ผีตองเหลือง) และชาวถิ่น ในจังหวัดน่าน ข้อมูลโดย : Faculty of Science
แกลลอรี่