มช.พัฒนา VR โลกเสมือนจริง ช่วยเด็กออทิสซึม คว้ารางวัลเชิดชูเกียรติระดับประเทศ

6 พฤษภาคม 2565

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

          เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเด็กออทิสซึม ทำให้มีข้อจำกัดในการช่วยเหลือและส่งผลต่อทักษะการเรียนรู้ที่ถูกชะลอไว้ จนอาจก่อให้เกิดการขาดการพัฒนาการในที่สุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกเหนือจากมุ่งเน้นทางด้านการศึกษาแล้ว ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการความรู้ที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง จึงได้พัฒนานวัตกรรม “ระบบความเป็นจริงเสมือน (VR) เพื่อพัฒนาทักษะการเข้าสังคมสำหรับเด็กกลุ่มอาการออทิสซึม” โดย อาจารย์ ดร.กรรณิการ์ อินต๊ะวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมวิจัย ล่าสุดได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในงาน "TMF Media Innovation Awards 2021"ที่จัดขึ้นเพื่อผลักดันให้มีการผลิตสื่อที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์ และไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม

        โครงการนี้เป็นหนึ่งในผลงานของโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และสามารถนำไปใช้ได้จริง โดย อาจารย์ ดร.กรรณิการ์ อินต๊ะวงศ์ ผู้คว้ารางวัลบุคคลดีเด่น ด้านนวัตกรรมสื่อโครงการ “ระบบความเป็นจริงเสมือน (VR) เพื่อพัฒนาทักษะการเข้าสังคมสำหรับเด็กกลุ่มอาการออทิสซึม” ในงาน“TMF Media Innovation Awards 2021” ที่ผ่านมา จากการคัดสรร 62 ผลงาน โดยแบ่งเป็น 4 ด้าน คือ นวัตกรรมสื่อเพื่อสังคม นวัตกรรมสื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมสื่อเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ และนวัตกรรมสื่อเพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม อันเป็นพื้นฐานและเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการสื่อสาร เพื่อถ่ายถอดความรู้สึก ความต้องการหรือตอบโต้กับบุคคลอื่น โดยเฉพาะกับเด็กที่มีความต้องการการดูแลเป็นพิเศษอย่างเด็กที่มีภาวะออทิสซึม ซึ่งมีความบกพร่องของพัฒนาการด้านการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การสื่อสารด้วยวัจนภาษาและอวัจนภาษา จึงเป็นปัจจัยที่ทีมวิจัยพัฒนานวัตกรรมระบบความเป็นจริงเสมือน (VR) ดังกล่าวขึ้น ด้วยเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้จำลองเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ยกระดับวิธีการดูแล เสริมสร้างและพัฒนาทักษะในด้านการเข้าสังคมของเด็กออทิสซึม โดยปรากฏวัตถุ 3D object ที่มีความสมจริง ซึ่งพฤติกรรมการตอบโต้ของเด็กจะถูกนำมาวิเคราะห์และแสดงผลภายหลังการใช้งาน ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดสามารถนำข้อมูลไปทำการวางแผนการดูแลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้พวกเขามีทักษะในการเข้า สามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กที่มีภาวะออทิสซึมสามารถใช้ชีวิตในสังคม อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นปกติ ช่วยบรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อตัวเด็กในอนาคตได้

         นับว่าเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ และสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับคณาจารย์ นักวิจัย ที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ออกมาสู่สาธารณะมากขึ้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแนวคิดที่จะประยุกต์ปัญญาความรู้ ภายใต้อุดมการณ์การมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เกิดการเจริญเติบโตทางนวัตกรรม ควบคู่กับการไม่ละทิ้งใครคนใดคนหนึ่งไว้ การเชิดชูรับใช้สังคม และเตรียมพร้อมปรับตัวให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของโลก

แกลลอรี่