ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย อ.ดร.ธิดา แก้วคต และ รศ.ดร.ยิ่งมณี ตระกูลพัว ภาควิชาชีววิทยา ร่วมกับ Prof.Dr.Kaeko Kamei และ Dr.Duy Binh Tran จากสถาบันวิจัย Kyoto Institute of Technology (KIT) ประเทศญี่ปุ่น ทำการศึกษาประสิทธิภาพคอมบูชาในการป้องกันโรคอ้วนและต้านการอักเสบ โดยอาศัยแบบจำลองแมลงหวี่ (Drosophila models) ภายใต้งานวิจัย หัวข้อ Drosophila models of the anti-inflammatory and anti-obesity mechanisms of kombucha tea produced by Camellia sinensis leaf fermentation
การศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยได้ทดสอบประสิทธิภาพคอมบูชาที่ผลิตจากชาดำ ในการป้องกันโรคอ้วนและการอักเสบ โดยใช้แบบจำลองแมลงหวี่ (Drosophila models) ในการดูผลของคอมบูชาต่อการแสดงออกของ lipid metabolism และอาศัยแบบจำลองแมลงหวี่ศึกษาผลของคอมบูชาในการยับยั้งการอักเสบ โดยการยับยั้งยีน lipid storage droplet-1 ซึ่งเป็นยีนที่เทียบเคียงกับ perilipin-1 ของมนุษย์
ในแบบจำลองนี้ ความบกพร่องของยีน lipid storage droplet-1 ทำให้เกิดการอักเสบ โดยเกิดการแทรกซึมของเซลล์เม็ดเลือด (hemocytes) เข้าสู่เนื้อเยื่อไขมันเพิ่มมากขึ้น เกิดการสร้างสารออกซิเดชั่น (Reactive Oxygen Species, ROS) ส่งผลทำให้ระดับของไซโตไคน์ที่ก่อให้เกิดการอักเสบเพิ่มสูงขึ้น และกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เม็ดเลือด (hemocytes) เป็นเซลล์แมคโครฟาจ (macrophages) ซึ่งถูกควบคุมด้วยกระบวนการผ่าน c-Jun N-terminal Kinase (JNK)
ผลจากการศึกษาทำให้ทราบถึงประสิทธิภาพของคอมบูชาที่เกิดจากการหมักใบชากับแบคทีเรียที่ผลิตกรดอะซิติก (acetic acid bacteria) และยีสต์ (yeast) ซึ่งคอมบูชาเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ และพบสารสำคัญที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการหมัก เช่น กรดอินทรีย์ และสารประกอบสำคัญอื่นๆ ของใบชา
ในการศึกษา นักวิจัยได้ศึกษาประสิทธิภาพของคอมบูชาในการลดความอ้วนและต้านการอักเสบ โดยอาศัยแบบจำลองแมลงหวี่ (Drosophila models) ที่สามารถใช้เป็นโมเดลในการศึกษาที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์ พบว่าคอมบูชาชาดำที่ความเข้มข้น 6% สามารถกระตุ้นการสร้างเอนไซม์ไลเปส เพื่อย่อยสลายไขมัน นอกจากนี้ คอมบูชายังสามารถยับยั้ง Reactive Oxygen Species (ROS) ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบผ่าน JNK pathway โดยยับยั้งการเกิด phosphorylation ของ JNK (p-JNK)
ปัจจุบัน เครื่องดื่มคอมบูชามีการผลิตในเชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวาง โดยผลการศึกษาครั้งนี้จะช่วยเป็นข้อมูลพื้นฐานในการส่งเสริมคุณประโยชน์ของคอมบูชา ในการเป็นทางเลือกหนึ่ง สำหรับป้องกันการเกิดโรคอ้วนและต้านการอักเสบ นอกจากนี้ การผลิตคอมบูชาสามารถสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมการเกษตรด้วยการใช้วัตถุดิบจากใบชา
ผลงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร
Food Science & Nutrition
Volume 12, Issue 8
First published: 19 May 2024
https://doi.org/10.1002/fsn3.4223