คณาจารย์และนักวิจัย CAMT ได้รับรางวัลงานวิจัยแห่งชาติระดับดี ประจำปี 2568

25 พฤศจิกายน 2567

วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี

       วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอแสดงความยินกับรองศาสตราจารย์ ดร.รัฐพล วุฒิการณ์ ประธานหลักสูตรการจัดการความรู้และนวัตกรรม ระดับปริญญาเอก พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.ภาสิทธิ์ เจริญขวัญ ประธานสาขาวิชาการจัดการสมัยใหม่และเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูดินันท์ สิงห์คำฟู อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (หลักสูตรนานาชาติ) และทีมนักวิจัย ที่ได้รับรางวัลงานวิจัยแห่งชาติระดับดี ประจำปี 2568 ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในผลงาน “การพัฒนาระบบต้นแบบสำหรับการตรวจนับสินค้าคงคลังโดยการบูรณาการอากาศยานไร้คนขับ เทคโนโลยีบาร์โค้ด การเรียนรู้เชิงลึก และเทคโนโลยีการประมวลผลภาพ” ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ผลงานจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยประจำปี 2568 และเป็น 1 ใน 53 รางวัลของผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลจากทั่วประเทศประจำปี 2568 จากผลงานที่ยื่นขอจำนวนทั้งสิ้น 235 ผลงาน
.        

        ทั้งนี้ผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการตรวจนับสินค้าคงคลังแบบดั้งเดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านระยะเวลาและต้นทุน นอกจากนี้ยังส่งผลต่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานในคลังสินค้าที่ดีขึ้น โดยระบบและวิธีการนี้เป็นแนวคิดเชิงบูรณาการแบบใหม่ที่ไม่เคยถูกดำเนินการมาก่อนในอดีตทั้งในเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติ ซึ่งประกอบไปด้วย (1) อากาศยานไร้คนขับ ที่สามารถปฏิบัติงานได้ในที่ ๆ มีความสูง และในพื้นที่ ๆ มีบริเวณจำกัด รวมไปถึงการบินได้อย่างแม่นยำทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ (2) วิธีการเรียนรู้เชิงลึก ที่สามารถช่วยค้นหาสินค้าคงคลังและบาร์โค้ดได้อย่างถูกต้องและแม่นยำโดยอัตโนมัติ และ (3) เทคโนโลยีบาร์โค้ด ที่สามารถบรรจุข้อมูลเบื้องต้นของสินค้าคงคลัง ซึ่งสามารถนำไปสู่การเชื่อมโยงหรืออ้างอิงข้อมูลและสารสนเทศเชิงลึกของสินค้าคงคลังได้ ด้วยการผสมผสานความสามารถเฉพาะตัวของเครื่องมือและวิธีการเหล่านี้ สามารถทำให้ประสิทธิผลการตรวจนับสินค้าคงคลังของระบบที่ถูกพัฒนานั้นมีความใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับวิธีการทำงานแบบดั้งเดิมในเรื่องของความถูกต้องและความแม่นยำ ยิ่งไปกว่านั้นระบบต้นแบบที่ถูกนำเสนอนี้มีประโยชน์และประสิทธิภาพในการทำงานที่เหนือกว่าวิธีการทำงานแบบดั้งเดิมในหลายมิติ คือ ความปลอดภัย ระยะเวลา และต้นทุนในการทำงาน โดยสามารถเพิ่มการแข่งขันทางด้านโลจิสติกส์ขององค์กรและประเทศไทยสูงขึ้น เนื่องจากคะแนน Logistics performance index (LPI) ที่เพิ่มสูงขึ้นมาจากการพัฒนาประสิทธิผลและประสิทธิภาพในหมวดการติดตามและตรวจสอบ(Tracking and tracing) และหมวดการตรงต่อเวลา (Timeliness)

แกลลอรี่