มช. ร่วมมือ Raisewell Ventures ปั้นนวัตกรรมและสตาร์ทอัพไทยไประดับโลก ตั้งเป้าสร้างอิมแพ็คกว่า 8 หมื่นล้านบาท

25 เมษายน 2568

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเส้นทางสู่ความสำเร็จครั้งใหญ่อีกขั้น ในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม และสตาร์ทอัพของมหาวิทยาลัยไทย ด้วยการร่วมมือกับ Raisewell Ventures ภายใต้พันธกิจในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบนิเวศนวัตกรรมระดับโลก นับเป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ร่วมมือกับ Raisewell Ventures กองทุน Impact Fund ระดับโลกจาก Silicon Valley ที่ก่อตั้งและบริหารงานโดยคุณ Jeep Kline คนไทยผู้เชี่ยวชาญด้าน Impact Investing และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ (Professional Faculty) ที่ UC Berkeley, Haas School of Business ซึ่งมีประสบการณ์กว่า 20 ปี ในซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) เคยบริหารกองทุนสำเร็จมาแล้ว 4 กองทุน และเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงจาก World Bank และ Intel Corporation ในการสร้างสะพานเชื่อมกลไกผลักดันปั้นสตาร์ทอัพ และ Deep Tech ให้สามารถขยายตัวสู่ตลาดสากลอย่างมีประสิทธิภาพ


ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญของมหาวิทยาลัยในการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก โดยเฉพาะแนวทางของ Raisewell Ventures ซึ่งเป็นกองทุน VC ที่มีลักษณะเป็น Impact fund มุ่งเน้นการสร้างผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย มช. จะเป็นผู้นำในการทำงานกับกองทุน VC ต่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ นักวิจัย และสตาร์ทอัพจาก มช. เข้าถึงระบบนิเวศนวัตกรรม และแหล่งทุนระดับโลก รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรมืออาชีพระดับนานาชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเร่งกระบวนการพัฒนาและผลักดันเทคโนโลยีเชิงลึกสู่เชิงพาณิชย์ในระดับสากล นอกจากนี้ มช. ยังพร้อมที่จะเป็น Gateway สำหรับนักวิจัย และสตาร์ทอัพของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย ที่ต้องการโอกาสในการเข้าถึงการทำงานร่วมกับกองทุนและเครือข่ายระดับโลก


ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีที่รับผิดชอบการบริหารนวัตกรรม พันธกิจสากล และสื่อสารองค์กร กล่าวถึงความพร้อมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า ที่ผ่านมา มช. ได้มอบหมายให้ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เป็นหน่วยงานสำคัญในการสนับสนุนทั้งนักวิจัย และผู้ประกอบการในการสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาสตาร์ทอัพ โดยตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา มช. มีผลงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม 2,694 ผลงาน มีงานวิจัย เทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดและนำไปใช้ประโยชน์ 231 ผลงาน ปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพมากกว่า 465 บริษัท และสร้างการจ้างงานทักษะสูงในพื้นที่มากกว่า 5,718 ตำแหน่ง และสามารถสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจรวมจากสตาร์ทอัพ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีคิดเป็นมูลค่ากว่า 20,916.79 ล้านบาท ในปัจจุบัน มช. มีระบบและกลไกที่ส่งเสริมอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาในการนำผลงานเข้าสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และการตั้งธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถตั้งธุรกิจได้ในระหว่างการศึกษาภายใต้โปรแกรม builds การบ่มเพาะ และเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพผ่าน Basecamp24 รวมถึงการ spin-off งานวิจัยมาตั้งบริษัทเทคโนโลยีภายใต้ อ่างแก้วโฮลดิ้ง

คุณ Jeep Kline กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ได้มีการหารือและประเมินความพร้อมร่วมกันเป็นเวลากว่าหนึ่งปี และเชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีศักยภาพในการยกระดับการสร้างนวัตกรรมและสตาร์ทอัพให้ทัดเทียมกับระดับโลกได้ นอกจากนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ยังถือเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย ในช่วงที่มีความผันผวนจากปัญหากำแพงภาษีและภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนำมาสู่ความตื่นตระหนกและความกังวลของประเทศต่างๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ดี ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และสตาร์ทอัพ ซึ่งสามารถเห็นได้จากสถานการณ์วิกฤติในอดีตที่มีนวัตกรรมและสตาร์ทอัพเกิดขึ้นและเติบโต เช่น ในช่วงสงครามและวิกฤติต่างๆ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ซึ่งช่วยพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อปกป้องข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเงิน หรืออุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ และความมั่นคงของชาติ
สืบเนื่องจากความร่วมมือดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 มช. จัดงาน IMO day ภายใต้ธีม


CMU x Raisewell: Bridging Thai Innovation and Startups to Global Ecosystem โดยมีสตาร์ทอัพ เทคโนโลยี Deep Tech และบริษัท Spin-off ภายใต้อ่างแก้วโฮลดิ้ง มาร่วมแสดงผลงานกว่า 30 บริษัท และมีอาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา ผู้ประกอบการ และนักลงทุนเข้าร่วมงานกว่า 500 คน อีกทั้งในงานคุณ Jeep Kline ยังได้ร่วมสัมมนาในหัวข้อ “From Chiang Mai to Global: Opportunities for Local Innovation and Startups in a Dynamic Global Era” ที่แสดงให้เห็นมุมมองของนักลงทุนระดับโลกที่มีต่อสตาร์ทอัพ ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ร่วมถึงแนวโน้มของตลาดปัจจุบันที่มีความผันผวน และโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถปรับตัว เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้ตอบโจทย์ตลาดโลกได้ และในวันนั้นได้มีการจัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง มช. และ Raisewell Ventures อย่างเป็นทางการ


ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ กล่าวเสริมว่า ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ มช. และ Raisewell Ventures จะร่วมกันสร้างโปรแกรมที่มุ่งเน้นการปฏิบัติจริง เพื่อยกระดับศักยภาพการพัฒนางานวิจัย และการทำธุรกิจนวัตกรรมให้กับอาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และผู้ประกอบการ โดยใช้แนวทางการทำงานอย่างมืออาชีพ และประสบการณ์จากคุณ Jeep Kline โดยการจัดกิจกรรมและ Workshop ให้ผู้เข้าร่วมสามารถทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในการปรับแนวทางการพัฒนางานวิจัย กลยุทธ์ทางธุรกิจ และการเชื่อมโยงกับนักลงทุนระดับโลก พร้อมทั้งโอกาสในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับหน่วยงานสำคัญด้านนวัตกรรมต่างๆ ในต่างประเทศ อาทิ Lawrence Lab, Hass School of Business ของ UC Berkeley รวมถึงเครือข่ายระดับโลกใน Silicon Valley และองค์กรพันธมิตรอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีโปรแกรมในการยกระดับศักยภาพความเป็นตัวกลางด้านนวัตกรรม (Innovation Intermediary) ให้สามารถทำงานที่เชื่อมต่อไปสู่ระดับสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าที่จะให้โอกาสอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษากว่า 400 คน ได้เรียนรู้การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบมืออาชีพในระดับสากล รวมทั้งผลักดันให้ผลงาน Deep Tech จาก มช. สามารถยกระดับความพร้อมสู่ระดับโลกไม่น้อยกว่า 5 ผลงาน อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายที่จะให้สตาร์ทอัพมากกว่า 100 ราย เข้าร่วมในกระบวนการทำงานภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้


ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ กล่าวสรุปตอนท้ายว่า เพื่อให้ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมที่จะยกระดับกลไกการสนับสนุนทั้งอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา ให้สามารถเข้าถึงระบบนิเวศนวัตกรรมระดับโลกผ่านการทำงานร่วมกับ Raisewell Ventures ได้อย่างเต็มที่ โดยคาดหวังว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยไปสู่ระดับโลก และมีโอกาสในการเกิดสตาร์ทอัพระดับ Unicorn ของประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นยังคาดหวังว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกในองค์รวมตามแนวทางของ Impact Fund นำไปสู่การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 80,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 10 ปี

แกลลอรี่