CMU
Curricular
Seperating Faculties
Search for Curriculums
Bachelor’s Degree
Master’s Degree
Doctoral Degree
Other Curriculums
|
Studying at CMU
Application of Bachelor's Degree
Application for Graduate Studies
Application of International Program
CMU Presidential Scholarship
|
Faculties and Departments
Faculties
CMU’s Organizations
Other Division
|
TH
EN
CN
TH
EN
CN
Curricular
Seperating Faculties
Search for Curriculums
Bachelor’s Degree
Master’s Degree
Doctoral Degree
Other Curriculums
Studying at CMU
Application of Bachelor's Degree
Application for Graduate Studies
Application of International Program
CMU Presidential Scholarship
Faculties and Departments
Faculties
CMU’s Organizations
Other Division
News
Research and Innovation News
Outstanding News
Outstanding Staff
Prize and Pride
Conference and Seminar
Executives' News
Job Application
Procurement
Event Calendar
COVID-19 and PM2.5
About CMU
Background
The 60th Anniversary of Chiang Mai University
Resolution/ Vision/ Mission/Values and Organizational Culture
Authority
The University’s Logo
About CMU
Open Data Integrity and Transparency Assessment : OIT
CMU 360
Sustainable Development Goals
Organizational Structure and Administration of Chiang Mai University
Education Development Plan 5 years
Committee of University Council
Executives
Deans
Directors
Employee Council
Download CMU Powerpoint Template
Q&A
Privacy Policy
Contact
Suggestion
ข่าว
คณบดีคณะแพทย์ มช. - ผอ.รพ.สวนดอก ยืนยันพร้อมรับมือ โควิด-19 ระลอกใหม่
23 กรกฎาคม 2564
คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ พร้อมเชิญชวนประชาชนที่ลงทะเบียนฯ เข้ารับบริการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง
ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้ยังคงน่าเป็นห่วง มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในแต่ละวัน ภาพรวมทั่วประเทศ วันที่ผ่านมา (21 ก.ค.64) มีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อใหม่ประมาณ 13,000 คน ตัวเลขผู้ป่วย 5 วันที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเกิน 10,000 รายทุกวัน แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัดตามประกาศ ขณะที่ผู้ป่วยสะสมในประเทศมีเกิน 400,000 คนแล้ว อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยก็สูงประมาณ 100 รายต่อวัน
ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากผ่านวิกฤติช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ล่าสุดวันนี้ (21 ก.ค.64) พบว่ามีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นถึง 64 ราย หลังจากช่วงกลางเดือนกรกฎาคม เป็นต้นมา แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยใหม่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางวันเกินกว่า 70 ราย แม้ว่าจังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้ยังไม่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ความคุมสูงสุดเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม แต่ก็อยากให้ประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ ภาคส่วนต่างๆ เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมรับมือโควิด-19 ตลอดเวลา
"สำหรับสถานการณ์ ผู้ป่วยโควิดรายใหม่ ที่รับเข้ามารักษาใน รพ.มหาราชฯ วันนี้ (21 ก.ค.64) มี 6 ราย และยังคาดว่าจะมีการส่งต่อผู้ป่วยรายใหม่เข้ามาเรื่อยๆ เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่ มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยตามสี ตามอาการ รพ.มหาราชฯ ถูกกำหนดไว้ว่าจะเป็นจุดรับผู้ป่วยหนัก (สีเหลือง ส้ม แดง) ซึ่งทางคณะแพทย์ฯ มีการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มาโดยตลอด ขณะนี้ รพ.มหาราช มีการเพิ่มจุดรับผู้ป่วยหนัก มีการเปิดตึกโรคปอด และมีความร่วมมือกับ รพ.ประสาท เชียงใหม่ ซึ่งก็เคยร่วมมือกันดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ระลอก 3 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เชื่อมั่นว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้การบริหารจัดการรองรับผู้ป่วยหนักของจังหวัดเชียงใหม่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ เรายังมีการเตรียมการจัดตั้ง รพ.สนาม ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกครั้ง หลังจากที่จัดตั้งมาแล้วเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ใช้เวลารับมือกับโควิดประมาณ 1 เดือน ก่อนที่จำนวนผู้ป่วยลดลงจนหมดกระทั่งมีการปิดไป หลังจากนี้หากผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก เราก็มีแผนที่จะเปิดรพ.สนาม ขึ้นมาใหม่ทันที ส่วนจะอยู่ที่จุดไหนก็แล้วแต่ความเหมาะสม"
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า คณะแพทย์ฯ มีการวางแผนรับมือการระบาดของโควิดระลอกใหม่ มาอย่างต่อเนื่อง เราเตรียมกันมาตั้งแต่การระบาดระลอก 3 แล้ว ขณะนี้เรามีการตั้งวอร์รูม ประชุมกันในกลุ่มที่เกี่ยวข้องทุกวัน เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ขณะเดียวกันทางจังหวัดฯ ได้มอบหมายให้เราเป็นจุดรับผู้ป่วยหนัก (เหลือง ส้ม แดง)
ที่ผ่านมา ช่วงเดือนเมษายน เราได้เปิดโรงพยาบาลสนาม ที่ หอหญิง 5 มช. เพื่อรองรับผู้ป่วยไม่มีอาการ (สีเขียว) รวมถึงมีการเปิดตึกโรคปอด เปิดห้องไอซียูที่โรงพยาบาลประสาท รวมถึงการจัดพื้นที่บางส่วนของโรงพยาบาลสงฆ์อาพาธ เพื่อรับมือผู้ป่วยระดับกลาง ส่วนนี้เป็นการเตรียมการวางแผน จากประสบการณ์การทำงานของทีมเวิร์คที่ดี เราจึงสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง
"ในส่วนของพันธกิจหลักของคณะแพทย์ฯ มีอยู่ 3 ส่วน คือ การศึกษา การวิจัย และการบริการ เราก็ให้ความสำคัญอยู่ตลอดเวลา ช่วงโควิดส่วนใหญ่จะพูดถึงในการบริการเป็นหลัก ส่วนเรื่องการศึกษา เรามีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว คณะแพทย์ มีการเรียนการสอนที่แตกต่างกับคณะอื่นๆ พอสมควร การเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎี ปฏิบัติจะมีการสลับสับเปลี่ยนกันไปตามสถานการณ์ แม้จะต้องมีการเรียนออนไลน์บ้าง แต่ก็ยังมีความเข้มข้นเหมือนเดิม ส่วนนักศึกษาแพทย์ที่มีการเดินทางข้ามจังหวัดพื้นที่ควบคุม หลังจากปิดเทอม กลับมาเรียน ก็มีการปฏิบัติตัวตามขั้นตอนของจังหวัดทั้งหมด ทั้งการกักตัวทุกอย่าง ทางคณะฯ เรายังได้จัดสรรวัคซีนมาให้บุคลากร รวมถึงนักศึกษาได้ฉีดอย่างทั่วถึงด้วย
ส่วนภาคของการวิจัย ทางคณะก็เดินหน้าอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ไม่ให้โควิดได้กระทบกับพันธกิจหลักของเรา ความร่วมมือกับต่างประเทศก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ มีการงดการเดินทาง เปลี่ยนเป็นความร่วมมือทางออนไลน์ไปก่อน เป็นการทำกลยุทธ์ใหม่ของคณะ เรียกว่าจะนำระบบดิจิตอล เข้ามาปรับใช้เต็มรูปแบบ ทั้งการศึกษา การวิจัย และการบริการ
ด้านผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้การระบาดของโควิด อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการระบาดในระลอกใหม่ เนื่องจากมีการเริ่มระบาดใหม่จากคนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ การระบาดครั้งนี้ก็ไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดิมในระลอกที่ 3 จึงอาจจะเรียกว่าเป็นการระบาดในระลอกที่ 4 ก็ได้ แต่จะเป็นระลอกอะไรก็แล้วแต่ เราก็คงต้องทำงานกันอย่างเข้มข้นเต็มที่ต่อไป
สำหรับสายพันธุ์การระบาดในประเทศไทย และในจังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้ นอกจากสายพันธุ์อัลฟา ที่ระบาดมาก่อนแล้ว ยังมีการพูดถึงสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งระบาดไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคุณสมบัติของสายพันธุ์เดลต้า เป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์มีการแพร่กระจายได้ง่าย มีโอกาสติดได้ง่าย ต่อไปนี้คงจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของวัคซีนที่เราจะต้องคุยกันต่อไป
ในส่วนของการให้บริการของรพ.มหาราชฯ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ส่วนของแผนกผู้ป่วยนอก รพ.สวนดอกนั้น แต่ละวันมีผู้ใช้บริการมากถึง 4,500-5,000 คน ยังไม่นับรวมญาติผู้ป่วย คนจึงค่อนข้างแออัด ระยะนี้จึงมีมาตรการมุ่งลดผู้ป่วยลง แต่เพื่อไม่ให้กระทบกับการบริการปกติ รพ. จึงมีการประสานกับผู้ป่วยผ่านทางโทรศัพท์ ในรายที่ไม่วิกฤติ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องมารพ. หรือไม่ถึงรอบที่ต้องมาพบแพทย์ แต่ขาดเรื่องยาที่ต้องรักษาต่อเนื่อง เราก็มีการบริการส่งยาให้ทางไปรษณีย์ แล้วค่อยนัดพบแพทย์ทีหลัง ตรงนี้คนไข้ก็สบายใจ โรคก็ได้รับการรักษาต่อเนื่อง แถมลดความแออัดได้ด้วย
ส่วนของญาติผู้ป่วยที่มีความต้องการมาเยี่ยมผู้ป่วยในรพ. ในช่วงโควิดระบาดแบบนี้เราต้องการลดจำนวนคนที่เข้ามาสัญจรในรพ.อย่างยิ่ง จึงขออนุญาตประกาศงดเยี่ยมในตึกผู้ป่วยสามัญ ส่วนวอร์ดพิเศษจำเป็นต้องมีคนเฝ้า ยังอนุญาตให้มีญาติเฝ้าได้ 1 คน และขอให้เป็นคนเดิมไม่มีการเปลี่ยนคนเฝ้าสลับไปมาเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฯ ส่วนผู้ป่วยวิกฤตินั้นหากจำเป็นจริงๆ ก็ให้เยี่ยมได้ทีละคน ตามมาตรการ Social distancing
อีกประเด็นหนึ่งที่ขออนุญาตชี้แจง คือ ช่วงนี้เราจำเป็นต้องใช้อัตรากำลังของทีมแพทย์ พยาบาลไปรับมือกับสถานการณ์โควิด รวมถึงการทำภาระงานเรื่องการบริการวัคซีนฯ โควิด ซึ่งใช้เจ้าหน้าที่วันละหลายราย จึงต้องมีการประกาศลดการบริการการผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วนลง จากปกติมีบริการ 21 ห้องต่อวัน เหลือ 14 ห้อง ส่วนที่มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนก็ต้องบริการก่อน รายไหนที่ไม่เร่งด่วนก็อาจพิจารณาเลื่อนการบริการออกไปตามความจำเป็น แต่ก็ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบกับผู้ป่วยแน่นอน
ส่วนการบริการผู้ป่วยที่มาจาก 13 จังหวัดสีแดงเข้ม เราก็ไม่ได้ปฏิเสธการให้บริการ แต่จะมีการจัดพื้นที่บริการที่เรียกว่า EID Complex คลินิคตรวจโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ตั้งอยู่ใกล้กับภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว (ริมถนนฝั่งคูเมืองเชียงใหม่) ตรงนี้จะมีบริการสำหรับผู้ป่วยที่มาจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ไปใช้บริการได้ เพื่อจัดระเบียบจัดกลุ่มไม่ให้เข้ามาแออัดในพื้นที่รพ.มากเกินไป ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในตึกรพ.หลักได้ สำหรับเคสผู้ป่วยอุบัติเหตุ หรือเคสฉุกเฉินต่างๆ ก็จะมีการซักประวัติความเสี่ยง การคัดแยกผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง หรือไม่เสี่ยงออกจากกัน โดยที่ห้องฉุกเฉินเรามีห้องตรวจความดันลบ จำนวน 4 ห้อง เพื่อรับรักษาผู้ป่วยรายที่มีความเสี่ยงติดเชื้อฯ ด้วย ซึ่งห้องตรวจความดันลบนี้ เป็นความร่วมมือกันของหลายหน่วยงาน เช่นศิษย์เก่าคณะวิศวฯ มช. กลุ่มผู้มีอุปการะคุณต่างๆ หลายหน่วยงาน เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ผู้ป่วยโควิดระลอกใหม่ ที่มีจำนวนผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นจำนวนมากนั้น ทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีความจำเป็นจะต้องเปิดห้อง ICU ความดันลบ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเติม ล่าสุดโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ในการจัดเตรียมห้อง ICU ความดันลบอีก จำนวน 10 เตียง
ทั้งนี้เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา หอผู้ป่วยโรคปอด อาคารนิมมานเหมินท์ (รพ.มหาราช) ที่ได้ให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 ในรอบที่ 3 มาอย่างต่อเนื่องได้ปิดการให้บริการชั่วคราวเพื่อปรับปรุงห้อง อาทิ ปรับปรุงกล้องวงจรปิด ระบบระบายอากาศ เปลี่ยนไส้กรอง เครื่องกรองอากาศ ประตู ผนัง ฝ้าเพดานที่ชำรุด และตรวจสอบระบบเพื่อความปลอดภัยของบุคลากร จึงได้ย้ายผู้ป่วยไปที่ห้องไอซียูโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ จนกระทั่งการปรับปรุงหอผู้ป่วยโรคปอดฯ แล้วเสร็จทาง รพ.มหาราชฯ จึงได้เปิดบริการหอผู้ป่วยหนักทั้ง 2 แห่งขึ้นพร้อมกัน โดยแบ่งอัตรากำลังแพทย์และพยาบาล ออกเป็น 2 ส่วน เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่อย่างเต็มที่ โดยรวมศักยภาพหอผู้ป่วยโรคปอด รับผู้ป่วยได้จำนวน 11 เตียง รพ.ประสาทเชียงใหม่ รับได้จำนวน 10 เตียง รวม 21 เตียง สำหรับรับผู้ป่วยสีเหลือง สีส้ม และผู้ป่วยสีแดง (ผู้ป่วยอาการวิกฤติ) ตรงนี้สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของทางจังหวัดได้อย่างมาก
ล่าสุด เมื่อวานนี้ที่หอผู้ป่วยโรคปอด อาคารนิมมานเหมินท์ มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายแรกเข้ารักษาแล้ว เป็นหญิงตั้งครรภ์ผ่าคลอด ตรวจพบเชื้อด้วยวิธีแรพิดแอนติเจนเทสต์ ผลเป็นบวก จึงผ่าคลอดในห้องผ่าตัดผู้ป่วยโควิด-19 และหลังผ่าตัดได้นำลูกไปห้องสังเกตอาการ ส่วนผู้ป่วยย้ายไปหอผู้ป่วยโรคปอด อาการปลอดภัยทั้งแม่และลูก
ความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนในความดูแลของคณะแพทย์ฯ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ล่าสุด ได้ดำเนินการฉีดไปแล้วประมาณ 43,000 โดส ในส่วนของภาคประชาชน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในส่วนของวัคซีนซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ขณะนี้ได้ดำเนินการตามที่ประชาชนได้ลงทะเบียนในระบบหมอพร้อมใกล้เสร็จสิ้นแล้ว จากนั้นในเดือนสิงหาคม 64 จะเริ่มดำเนินการบริการให้ผู้ลงทะเบียนในระบบ "ก๋ำแปงเวียง" ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดสรรโควตาของจังหวัด อยากให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการเข้ารับบริการของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เนื่องจากมีศูนย์วัคซีนขนาดใหญ่ ที่สะดวกและปลอดภัย ณ หอประชุม มช. สามารถรองรับได้ถึง 1,600-1,700 คน ต่อวัน เวลาเฉลี่ยของการมารับบริการประมาณ 40 นาที เนื่องจากมีการสังเกตอาการ 30 นาที ถือว่ารวดเร็วมาก มีเจ้าหน้าที่ให้บริการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยตลอด
สำหรับการปรับวัคซีนสูตรใหม่ เห็นชอบโดยกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้มีการปรับสูตรวัคซีนใหม่ เพื่อความรวดเร็วในการรองรับสายพันธุ์เดลต้า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการมา 1 สัปดาห์แล้ว และมีประชาชนที่ลงทะเบียนหมอพร้อมไว้แล้วมารับบริการอย่างต่อเนื่อง
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
งานวิจัยและนวัตกรรม
ข่าวสาร (COVID-19)
ข่าวเด่น
ข่าวสาร PM2.5
แกลลอรี่
×
RoomID:
Room Name:
Description: