ต้อหิน รู้ทัน ป้องกันตาบอด

22 เมษายน 2568

คณะแพทยศาสตร์

โรคต้อหิน เป็นกลุ่มโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงบริเวณขั้วประสาทตา เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น จะมีปัญหาเรื่องของลานสายตาที่ผิดปกติตามมา เริ่มแรกจะผิดปกติบริเวณลานสายตาด้านข้าง และค่อยๆ ลามเข้ามาบริเวณลานสายตาตรงกลาง จนถึงระยะที่มีความรุนแรงมาก ซึ่งรักษาไม่หายขาดและทำให้ตาบอดถาวรได้หากรักษาล่าช้า โรคต้อหินเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดการตาบอดถาวร ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการในระยะเริ่มแรก จึงไม่ได้มาพบแพทย์ หากเริ่มมีอาการตามัว มักจะเป็นระยะรุนแรงและสูญเสียการมองเห็นแล้ว การตรวจคัดกรองและรักษาตั้งแต่เริ่มแรก จะสามารถคงการมองเห็นและไม่นำไปสู่ภาวะตาบอดได้


ความเสี่ยงของโรคต้อหิน
เกิดจากความดันตาที่สูงขึ้น อายุมากขึ้น และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สายตาสั้นมากหรือยาวมาก พันธุกรรม โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ไมเกรน หยุดหายใจขณะนอนหลับเป็นต้น อุบัติเหตุหรือการผ่าตัดทางตา (คนไข้เหล่านี้ควรติดตามตรวจตากับแพทย์เป็นประจำ) การใช้ยาสเตียรอยด์
การคัดกรองโรคต้อหิน มีดังนี้
1. การตรวจระดับการมองเห็น
2.วัดความดันลูกตา
3. ตรวจจอประสาทตา
4. ตรวจมุมตา
5. ตรวจลานสายตา สแกนจอตา


ชนิดของโรคต้อหิน แบ่งได้ตามลักษณะกายวิภาคของมุมตา
– ต้อหินมุมเปิด
– ต้อหินมุมปิด


สาเหตุของการเกิดต้อหิน
– ปฐมภูมิ เป็นต้อหินที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ พบได้บ่อย มักเกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น
– ทุติยภูมิ เป็นต้อหินที่เกิดโดยมีสาเหตุจำเพาะ เช่น เบาหวานขึ้นตา ยาสเตียรอยด์ อุบัติเหตุ


ลักษณะการดำเนินโรค
– ชนิดเฉียบพลัน ความดันตาจะสูงขึ้นมาก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว และมักจะพบแพทย์เร็วกว่าต้อหินชนิดเรื้อรัง
– ชนิดเรื้อรัง ลักษณะการดำเนินโรคจะค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ จึงพบแพทย์ล่าช้า
อายุ
– ต้อหินแต่กำเนิดหรือในเด็ก ผู้ป่วยจะมีอาการหนังตากระตุก สู้แสงไม่ได้ น้ำตาไหล ลูกตาใหญ่กว่าปกติ กระจกตาขุ่นขาว
– ต้อหินในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ หากมีอาการตามัว มักจะเข้าสู่ระยะรุนแรง


การรักษาโรคต้อหินในระยะเบื้องต้น
1. การใช้ยา ส่วนใหญ่เป็นยาชนิดหยอด ส่วนยากินหรือยาฉีดจะให้เฉพาะระยะสั้นๆ ขณะรอการผ่าตัด
2. เลเซอร์ จะใช้เลเซอร์ต่างชนิดกันในต้อหินชนิดมุมเปิดหรือมุมปิด
3. การผ่าตัด


วิธีป้องกันตาบอดจากต้อหิน
1. แนะนำการตรวจคัดกรองทุกๆ ปี เมื่ออายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือมีปัจจัยสี่ยง
2. หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ หยุดหายใจขณะนอนหลับ ไมเกรน ควรควบคุมโรคให้ดี พบแพทย์เป็นประจำ
3. สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ยาสเตียรอย์ ไม่แนะนำให้ซื้อใช้เอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้งเพื่อควบคุมการใช้อย่างถูกวิธีและติดตามผลข้างเคียง เช่นต้อหิน


อาหารหรือกิจกรรมที่มีผลต่อความดันตา
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่ติดคาเฟอีนหรือชอบดื่มกาแฟ 3 แก้วต่อวัน อาจทำให้ความดันตาเพิ่มมาก การดื่มน้ำครั้งละมาก ๆ ในครั้งเดียว มีโอกาสทำให้ความดันตาสูงขึ้นเฉียบพลัน หรือการดำเนินชีวิตบางอย่างสำหรับผู้ป่วยโรคต้อหินที่ควรงด เช่น นักดนตรีที่เล่นเครื่องเป่า โยคะหัวต่ำ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.พญ.ลินดา หรรษภิญโญ อาจารย์ประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียงโดย : นางสาวกชพร มโนรส นักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นักศึกษาฝึกงานงานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์ มช.


#MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #โรงพยาบาลสวนดอก #โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช #หมอสวนดอก #แพทย์สวนดอก #MedCMUในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedCMU

แกลลอรี่