CMU
Curricular
Seperating Faculties
Search for Curriculums
Bachelor’s Degree
Master’s Degree
Doctoral Degree
Other Curriculums
|
Studying at CMU
Application of Bachelor's Degree
Application for Graduate Studies
Application of International Program
CMU Presidential Scholarship
|
Faculties and Departments
Faculties
CMU’s Organizations
Other Division
|
TH
EN
CN
TH
EN
CN
Curricular
Seperating Faculties
Search for Curriculums
Bachelor’s Degree
Master’s Degree
Doctoral Degree
Other Curriculums
Studying at CMU
Application of Bachelor's Degree
Application for Graduate Studies
Application of International Program
CMU Presidential Scholarship
Faculties and Departments
Faculties
CMU’s Organizations
Other Division
News
Research and Innovation News
Outstanding News
Outstanding Staff
Prize and Pride
Conference and Seminar
Executives' News
Job Application
Procurement
Event Calendar
COVID-19 and PM2.5
About CMU
Background
The 60th Anniversary of Chiang Mai University
Resolution/ Vision/ Mission/Values and Organizational Culture
Authority
The University’s Logo
About CMU
Open Data Integrity and Transparency Assessment : OIT
CMU 360
Sustainable Development Goals
Organizational Structure and Administration of Chiang Mai University
Education Development Plan 5 years
Committee of University Council
Executives
Deans
Directors
Employee Council
Download CMU Powerpoint Template
Q&A
Privacy Policy
Contact
Suggestion
ข่าว
8 พฤษภาคม วันธาลัสซีเมียโลก
8 พฤษภาคม 2567
คณะแพทยศาสตร์
วันที่ 8 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันธาลัสซีเมียโลก (World Thalassemia Day)” เพื่อรณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของโรคธาลัสซีเมียและผลกระทบของโรค และแสดงถึงความร่วมมือของชุมชนผู้ป่วยธาลัสซีเมียทั่วโลก สำหรับปี พ.ศ.2567 นี้ องค์กรธาลัสซีเมียนานาชาติ (Thalassaemia International Federation) ได้กำหนดหัวข้อของงานเป็น “Empowering Lives, Embracing Progress: Equitable and Accessible Thalassaemia Treatment for All.” เสริมคุณภาพชีวิต พัฒนาการเข้าถึงการรักษาแก่ผู้ป่วยธาลัสซีเมียทุกรายอย่างเท่าเทียม
โรคธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติคืออะไร
โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรมที่เกิดจากการกลายพันธุ์บนยีนที่ควบคุมการสร้างโปรตีนโกลบินที่เป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้สร้างโปรตีนโกลบินทำได้ลดลงหรือไม่ได้เลย เกิดความไม่สมดุลของสายโกลบิน ส่งผลให้การสร้างเม็ดเลือดแดงไม่มีประสิทธิภาพ เม็ดเลือดแดงแตกง่าย
ภาวะฮีโมโกลบินผิดปกติเกิดจากการกลายพันธุ์บนยีนที่ควบคุมการสร้างโปรตีนโกลบินเช่นเดียวกัน แต่ทำให้สาย
โกลบินที่สร้างได้มีโครงสร้างที่ผิดปกติไป และส่งผลต่อหน้าที่ของโกลบิน เช่น ทำให้เกิดฮีโมโกลบินที่สลายตัวง่ายทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ทำให้ความสามารถในการจับออกซิเจนเปลี่ยนแปลง หรือทำให้โครงสร้างโกลบินผิดปกติร่วมกับมีปริมาณลดลง
เหตุใดโรคธาลัสซีเมียจึงสำคัญสำหรับประชากรไทย
โรคธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติเป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบในประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้พบในประชากรแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ ด้วย ประชากรไทยมียีนแฝงธาลัสซีเมียหรือที่เรียกว่าเป็นพาหะธาลัสซีเมียประมาณหนึ่งในสามของประชากร และมีผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณร้อยละ 1 ของประชากร
เม็ดเลือดแดงปกติ
เลือดของคนเราประกอบด้วยส่วนเม็ดเลือดและน้ำเหลืองหรือพลาสมา โดยเม็ดเลือดมีสามชนิด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งมีหน้าที่ต่างๆ กัน เม็ดเลือดแดงมีฮีโมโกลบินซึ่งทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ส่วนเกล็ดเลือดมีหน้าที่ทำให้เลือดแข็งตัวโดยเมื่อมีแผลเลือดจะทำให้เลือดกลายเป็นลิ่มและหยุดไหล สำหรับพลาสมาจะมีโปรตีนต่างๆ หลายชนิด เช่น โปรตีนที่ทำหน้าที่ในกระบวนการแข็งตัวของเลือด และโปรตีนที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน
โรคธาลัสซีเมีย
ธาลัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรม มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย เนื่องจากคนเรามีโครโมโซมหรือแท่งพันธุกรรมที่บรรจุลำดับรหัสทางพันธุกรรมอยู่เป็นคู่รวม 23 คู่ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียเกิดจากการมียีนธาลัสซีเมียเข้าคู่กัน
ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียมีอาการซีดในความรุนแรงต่างๆ กัน ตามแต่ชนิดของโรคธาลัสซีเมีย ตั้งแต่มีอาการซีดเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด ไปจนถึงมีอาการซีดรุนแรงจำเป็นต้องได้รับเลือดแดงอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว หรือบางชนิดผู้ป่วยมีอาการซีดรุนแรงตั้งแต่ช่วงทารกในครรภ์และเสียชีวิตในครรภ์หรือเมื่อแรกเกิด การวินิจฉัยทำโดยการตรวจนับเม็ดเลือด และการตรวจลักษณะของเม็ดเลือดแดง ซึ่งจะพบเม็ดเลือดแดงรูปร่างและการติดสีผิดปกติ มีเม็ดเลือดแดงใหม่เพิ่มมากขึ้น ร่วมกับการวิเคราะห์ฮีโมโกลบิน และการตรวจยืนยันในระดับพันธุศาสตร์ การรักษาโรคธาลัสซีเมียในปัจจุบันสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการซีดรุนแรงประกอบด้วยการให้เลือดแดงอย่างสม่ำเสมอซึ่งโดยทั่วไปให้ทุก 2-5 สัปดาห์ ร่วมกับการให้ยาขับธาตุเหล็ก และการเฝ้าระวังและรักษาภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ส่วนการรักษาให้ผู้ป่วยหายขาดทำโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด และมีการรักษาใหม่ด้วยยีนบำบัดซึ่งจะมีการใช้แพร่หลายมากขึ้น
พาหะธาลัสซีเมีย
กรณีผู้ที่มียีนธาลัสซีเมียยีนเดียวและอีกยีนที่คู่กันนั้นปกติจะจัดว่าเป็นพาหะของโรค ซึ่งไม่มีอาการซีด แต่มียีนธาลัสซีเมียแฝงอยู่ในร่างกายและสามารถส่งต่อไปให้ลูกหลานได้
การตรวจให้ทราบว่าเป็นพาหะธาลัสซีเมียหรือไม่ ใช้การส่งเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเพาะเจาะจง ได้แก่การตรวจวิเคราะห์ฮีโมโกลบินและการตรวจพีซีอาร์สำหรับธาลัสซีเมีย ส่วนการตรวจเลือดเพื่อตรวจเช็คสุขภาพทั่วไป เช่น การตรวจค่าการทำงานของตับและไต ตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมัน จะไม่สามารถวินิจฉัยพาหะธาลัสซีเมียได้
การตรวจคัดกรองพาหะธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์และคู่สมรส
เนื่องจากพาหะของธาลัสซีเมียบางชนิดเมื่อแต่งงานกับผู้ที่เป็นพาหะในสายเดียวกันจะสามารถส่งต่อยีนธาลัสซีเมียไปให้ลูกและทำให้เกิดโรคธาลัสซีเมียชนิดที่มีอาการรุนแรงได้ ในประเทศไทย หญิงตั้งครรภ์และคู่สมรสเมื่อมาฝากครรภ์ จะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียและการตรวจคัดกรองพาหะธาลัสซีเมีย 3 ชนิดที่อาจมีบุตรที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงได้ (กรณีที่คู่สมรสเป็นพาหะในสายเดียวกัน) ได้แก่ พาหะของอัลฟ่า-ธาลัสซีเมีย 1 พาหะของเบต้า-ธาลัสซีเมีย และพาหะของฮีโมโกลบิน อี เนื่องจากภาวะธาลัสซีเมียแฝงนี้พบได้บ่อยในประชากรไทย โดยประชากรไทยประมาณหนึ่งในสามเป็นพาหะของธาลัสซีเมีย แยกเป็นพาหะของอัลฟ่า-ธาลัสซีเมีย (ทั้งอัลฟ่า-ธาลัสซีเมีย 1 และอัลฟ่า-ธาลัสซีเมีย 2) ร้อยละ 10-30 พาหะของเบต้า-ธาลัสซีเมีย ร้อยละ 3-9 และพาหะของฮีโมโกลบิน อี ร้อยละ 10-53
การดูแลตนเองของผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย
เนื่องจากผู้ที่เป็นพาหะของธาลัสซีเมียมียีนธาลัสซีเมียแฝงอยู่แต่ไม่มีอาการ จึงสามารถปฏิบัติตัวและดูแลสุขภาพตามปกติ ได้แก่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารครบทุกหมู่และสุกสะอาด ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาหรือวิตามินเสริม และควรปรึกษาแพทย์เมื่อวางแผนจะมีบุตร
ศูนย์ธาลัสซีเมียและโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียอย่างครบวงจร โดยความร่วมมือระหว่างภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ทั้งด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยการให้เลือด การให้ยาขับธาตุเหล็ก การเฝ้าระวังและการรักษาภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ การคัดกรองพาหะธาลัสซีเมียในคู่สมรสและการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ โดยมีศูนย์ธาลัสซีเมียและโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินงานประสานการดูแลผู้ป่วย การพัฒนาการตรวจวินิจฉัย การรักษา เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษาแพทย์ ฝึกฝนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโลหิตวิทยา ทั้งกุมารแพทย์ อายุรแพทย์ สูติแพทย์ และเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งในด้านวิชาการ การอบรมบุคลากรสำหรับกระบวนการตรวจคัดกรอง การตรวจวินิจฉัยและการแปลผลการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการของธาลัสซีเมีย และการวิจัยสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโรค เพื่อให้ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียให้มีสุขภาพดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอันเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.พญ.พิมพ์ลักษณ์ เจริญขวัญ รองหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์ธาลัสซีเมียและโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สุขภาพ
บทความ
ข่าวเด่น
แกลลอรี่
×
RoomID:
Room Name:
Description: