บนก้าวย่างของ “ช้างชูคบเพลิง”

11 กรกฎาคม 2565

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่











     ในเขตรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีบางสิ่งเล็ก ๆ ที่แทรกอยู่แทบจะทุกมุมทั่วทั้งมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ประตูทางเข้า ในอาคาร ริมถนน ริมรั้ว ป้ายบอกทาง ไปจนถึงด้านหน้าคณะวิชาและสถานที่สำคัญต่าง ๆ นั่นคือ “ช้างชูคบเพลิง” สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีความน่ารักและมีจุดเด่น ที่ทำให้คนจดจำได้ง่าย

    ช้างชูคบเพลิงเหล่านี้มีหลากหลายลักษณะ ขนาด และสีสัน มีทั้งรูปแบบทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ขึ้นอยู่กับการออกแบบและลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นช้างที่มีลักษณะท่วงท่าสง่างามบนตราทองเหลืองที่ซุ้มกลางประตูทางเข้าทางออกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รูปปั้นช้างชูคบเพลิงหน้าศาลาธรรม รูปวาดช้างบนปกหนังสือ ไปจนถึงช้างชูคบเพลิงบนตรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปัจจุบัน แต่ในความหลากหลายเหล่านี้กลับมีอะไรที่น่าค้นหาไม่น้อยเลย โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของตราช้างชูคบเพลิงที่ยาวนานถึง 60 ปีมาแล้ว

     จากเอกสารที่สำนักงานสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รวบรวมไว้ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของตรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในหลายช่วงเวลา โดยในยุคแรกเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2505 ซึ่งในปีนั้น มช. ยังไม่เปิดการเรียนการสอน แต่ความคิดเรื่องการสร้างตรามหาวิทยาลัยได้ถูกจุดประกายขึ้นโดย ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น และประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากในอดีตธรรมเนียมของการจัดตั้งส่วนราชการจะมีการกำหนดเครื่องหมายราชการของส่วนราชการ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะบ่งชี้ว่าเป็นเครื่องหมายของหน่วยราชการนั้น ๆ ตามพระราชบัญญัติเรื่องหมายราชการ พุทธศักราช ๒๔๘๒ ซึ่งขณะนั้นตราของมหาวิทยาลัยที่ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร

      เมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ตรามหาวิทยาลัยจึงมีความสำคัญอย่างมากในการบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ทั้งนี้ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น ได้มีดำริว่าควรให้ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับตราและสีประจำมหาวิทยาลัย โดยหนังสือพิมพ์ชาวเหนือได้ลงข่าวนี้เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2505 หลังจากนั้นจึงได้มีผู้เสนอความเห็นมา 4 ราย เสนอให้ออกแบบตรา มช. เป็นรูปต่าง ๆ ได้แก่ ช้าง ตรารูปพระธาตุดอยสุเทพอยู่ภายในธรรมจักร ตรารูปดวงดาวภายในวงกลม เป็นต้น ซึ่งในจำนวนนี้แนวคิดที่ใกล้เคียงกับตราในปัจจุบันมากที่สุด คือ แนวคิดของ นายเซฟ ศิริพันธุ์ จากสำนักงานสอบบัญชีโรงแรมไชยณรงค์ ที่เสนอว่าตรา มช. ควรเป็นรูปช้าง เนื่องจากช้างเป็นสัญลักษณ์ของการทำป่าไม้ ในภาคเหนือ และสร้างความเจริญให้แก่จังหวัดทางภาคเหนือ อีกทั้งยังถือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย และอยู่ในตราของมณฑลพายัพมาแต่เดิมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในยุคแรกนี้การดำเนินงานเกี่ยวกับตรามหาวิทยาลัยของกระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องยุติลงโดยที่ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากมีการโอนงานจัดตั้ง มช. ให้ไปอยู่ในความดูแลของสภาการศึกษาแห่งชาติในปลายปี 2506


จดหมายจาก นายเซฟ ศิริพันธุ์ นำเสนอความเห็นเกี่ยวกับตรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

      หลังจากช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นแล้ว ต่อมาจึงได้มีการดำเนินงานเรื่องตรามหาวิทยาลัย โดยสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นมี จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง ได้มีการนำเสนอแบบแรกในที่ประชุมแต่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบ จนในที่สุด ที่ประชุมจึงมีความเห็นว่าให้ใช้รูปช้างเป็นตรามหาวิทยาลัย ผู้ออกแบบจึงได้ออกแบบใหม่เป็นช้างยืนชูงวง ถือคบเพลิง ในท่วงท่ากำลังก้าวเดิน นอกจากนี้ในตรามหาวิทยาลัยยังมีคำขวัญประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นภาษาบาลีว่า “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา” หมายถึง “บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน” โดย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (ขณะทรงสมณศักดิ์เป็นพระศาสนโสภณ) ได้ทรงเลือก พระพุทธสุภาษิตดังกล่าวประทานให้เป็นคำขวัญประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคำขวัญอยู่ในกรอบเส้น รอบวงด้านบน ส่วนคำว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” อยู่ด้านล่าง ตรงกลางระหว่างข้อความทั้งสองมีภาพ ดอกสัก ซึ่งมีกลีบดอก 6 กลีบ คั่นอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวา เนื่องจากต้นสักเป็นต้นไม้มีค่าของภาคเหนือ

      จากการสืบค้นพบว่า ตรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในช่วงแรก ๆ จะปรากฏอยู่บนสื่อสิ่งพิมพ์ของ มช. ได้แก่ หนังสือที่ระลึกในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508 ซึ่งตราดังกล่าวนี้ ได้ใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำตรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ซุ้มกลางประตูทางเข้าทางออกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านถนนห้วยแก้ว ใน พ.ศ. 2510 โดย นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในขณะนั้น ได้มีคำสั่งให้จัดทำตราขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 1.50 เมตร ทำจากโลหะทองเหลืองรมดำ ตรามหาวิทยาลัยนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นตราช้างชูคบเพลิงที่มีความสวยงามสมบูรณ์และเป็นเอกลักษณ์ ประดับอยู่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่นับแต่นั้นจวบจนถึงปัจจุบัน




ตรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำจากโลหะทองเหลืองรมดำ ประดับไว้ด้านหน้าทางเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านถนนห้วยแก้ว

      ใน พ.ศ. 2508 มีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่มีตราช้างชูคบเพลิงปรากฏอยู่ นั่นคือ หนังสือ มช.07 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับนักศึกษา มช. รุ่นแรก ตราบนปกหนังสือเล่มนี้เป็นตราของสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีความแตกต่างไปจากตราของมหาวิทยาลัย โดยรูปช้างชูคบเพลิงเป็นภาพลายเส้น ที่ดูไม่เป็นทางการมากนัก


     ในปีต่อมาตราช้างชูคบเพลิงได้เปลี่ยนรูปลักษณ์ไปอีก ครั้งนี้ปรากฏอยู่บนหน้าปกสูจิบัตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2509 เป็นช้างสีม่วงอยู่ในวงกลม มีคำขวัญภาษาบาลีอยู่ในขอบวงกลมด้านบน และมีชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำกับอยู่ในขอบวงกลมด้านล่าง


พ.ศ. 2509


 พ.ศ. 2510


 พ.ศ. 2512


 พ.ศ. 2513


 พ.ศ. 2514


      อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากตราช้างชูคบเพลิงในสูจิบัตรพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในแต่ละปี ทำให้พอจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของตรามหาวิทยาลัยได้อย่างชัดเจน โดยมีการใช้ตราช้างชูคบเพลิงในลักษณะคล้ายเดิมนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2509-2523 แต่ในบางปีมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องสี ของรูปช้าง เช่น สีม่วง และสีน้ำตาลทอง ในบางปีมีการปรับภาพดอกสักให้มีความชัดเจนขึ้น จนกระทั่ง ใน พ.ศ. 2524 ตราช้างชูคบเพลิงได้ปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่ และต่อมาได้ปรับจากแบบเดิมอีกครั้ง ให้มีความสวยงามและชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะแฉกของคบเพลิงใน พ.ศ. 2525


 พ.ศ. 2524


 พ.ศ. 2525


 พ.ศ. 2529


      อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงตราประจำมหาวิทยาลัย มาโดยตลอด จนกระทั่งใน พ.ศ. 2530 นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญบนตรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจาก ได้มีการหารือเรื่องนี้ในที่ประชุมคณบดีหลายครั้ง จนในที่สุดที่ประชุมได้มีข้อสรุปในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2530 ว่า ให้มีตราประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นทางการเพียงตราเดียวคือตราช้างเท่านั้น โดยให้ยึดตราช้างที่ติดอยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้านถนนห้วยแก้วเป็นหลัก

     หลังจากนั้นในการประชุมครั้งถัดมาเกี่ยวกับตรามหาวิทยาลัยในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2530 ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย รองอธิการบดีในขณะนั้น ได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า ได้รับทราบจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิ์ บุตรอินทร์ แห่งภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับความหมายของแฉกบนคบเพลิง ซึ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้ประทานความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายของแฉกบนคบเพลิง จำนวน 8 แฉก บนตรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น หมายถึง มรรค 8 คือทางนำไปสู่ความสำเร็จทางปัญญา ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยในยุคแรก ที่ได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยมี 8 คณะวิชา ตามหลักการ แบ่งสาขาวิชาขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ (UNESCO)

     ด้วยเหตุนี้ แนวทางในการจัดทำตรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีความชัดเจนขึ้น โดยที่ประชุม ได้มอบหมายให้คณะวิจิตรศิลป์วาดภาพช้างให้ท่วงท่างดงามเป็นธรรมชาติ และมีข้อสรุปให้ลักษณะของ ตราดังกล่าว เป็นรูปวงกลม 2 วงซ้อนทับกัน ด้านบนมีอักษรไทยเขียนเป็นภาษาบาลี ว่า “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา” ด้านล่าง มีอักษรไทยและเลขไทย ข้อความว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๐๗” ที่ว่างระหว่างข้อความด้านบนและข้อความด้านล่างคั่นด้วยรูปดอกสัก เขียนด้วยลายเส้น มีกลีบดอก 6 กลีบ ด้านละ 1 ดอก ภายในวงกลมชั้นในมีรูปช้างท่าทางงามสง่าเป็นธรรมชาติ อยู่ในท่าก้าวย่างที่ชัดเจน และชูคบเพลิงรัศมี 8 แฉก โดยสรุปแล้ว ความหมายของตรานี้ คือ
     1. ช้างชูคบเพลิง หมายถึง แหล่งความรู้ ความสว่างไสวแห่งปัญญาและวิชาการ
     2. บัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พึงฝักใฝ่ในการฝึกตน เป็นผู้รู้จริง คิดเป็น ปฏิบัติได้ สามารถครองตน ครองคน และครองงาน ด้วยมโนธรรมและจิตสำนึกต่อสังคม
     3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 2507

 

ภาพถ่ายช้างที่นำมาเป็นต้นแบบของตรามหาวิทยาลัย นำเสนอในที่ประชุมคณบดีครั้งที่ 43/30


หลังจากปรับปรุงแล้ว ตรามหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2532 เป็นรูปช้างชูคบเพลิงที่มีรัศมี 8 แฉก
ดอกสักมีกลีบ 6 กลีบ และเพิ่มเติมปีที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัย


     หลังจากนั้นในสมัยที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จึงได้กำหนดเครื่องหมายราชการของมหาวิทยาลัยตามนัยของพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช ๒๔๘๒ และเสนอต่อทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 แต่เครื่องหมายราชการดังกล่าวตามที่ ได้เสนอทบวงมหาวิทยาลัยไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่ประการใด



     อย่างไรก็ตาม แม้ว่าลักษณะ ขอบเขตและความหมายของตรามหาวิทยาลัยจะลงตัวแล้ว แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่ยังขาดความเป็นเอกภาพ นั่นคือสีของตราที่ยังไม่ได้กำหนดอย่างเป็นทางการ ดังที่มีข้อปรารภจากที่ประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2536 จึงเห็นชอบให้กำหนดสีของตรา ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนี้คือ 1. ตราช้างและอักษร กำหนดให้ใช้สีม่วงตามสีประจำมหาวิทยาลัย 2. เส้นรอบวงของวงกลมกำหนดให้ใช้สีเขียว โดยมอบให้คณะวิจิตรศิลป์ดำเนินการ ซึ่งคณะวิจิตรศิลป์ ได้จัดทำสีมาตรฐานของตราประจำมหาวิทยาลัย คือสีม่วงดอกรัก (สีประจำมหาวิทยาลัย) และสีเขียว



สีและตรามหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2536

     จนกระทั่งใน พ.ศ. 2544 มช. ก็มีตรามหาวิทยาลัยเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ทุกส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยได้ใช้ให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ด้านบนของตราเขียนคำขวัญประจำมหาวิทยาลัยเป็นอักษรไทย ส่วนด้านล่างเป็นอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ ว่า “CHIANG MAI UNIVERSITY 1964” โดยมอบให้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ไปปรับรูปแบบของตัวอักษรภาษาอังกฤษให้สวยงาม

ตราภาษาอังกฤษที่ปรับรูปแบบตัวอักษรโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

     หลังจากนั้นในยุคที่ ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ได้ใช้ตราที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ปรับรูปแบบแล้วทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นำมาเติมสีในวงกลมชั้นใน เป็นสีม่วง ตัวช้างเป็นสีขาว ส่วนตัวอักษรและเส้นรอบวงก็ยังใช้ตามสีเดิม จะเห็นว่าตราดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับตรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ใช้กันในยุคปัจจุบัน


     
      ในที่สุด การดำเนินการเกี่ยวกับตรามหาวิทยาลัยก็ดำเนินมาถึงช่วงสุดท้ายใน พ.ศ. 2554 เมื่อสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ออกประกาศเรื่อง ตรา เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยให้ลักษณะของตราและสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นแบบที่เคยใช้มาก่อนหน้า แต่มีความแตกต่างไปเฉพาะตราภาษาอังกฤษ ซึ่งได้เปลี่ยนคำขวัญในอักษรไทยเป็นอักษรภาษาอังกฤษ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งทำให้ตราของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความชัดเจนเป็นเอกภาพนับแต่นั้นเป็นต้นมา


ภาคภาษาไทย


ภาคภาษาอังกฤษ

สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย


      จาก พ.ศ. 2505 - 2554 กว่าจะมาเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ใครหลายคนจดจำได้ในวันนี้ พัฒนาการของตราช้างชูคบเพลิงเป็นก้าวย่างที่ดำเนินไปช้า ๆ พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของ มช. นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตรานี้จึงมีความหมายมากกว่าคำว่าสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เป็นจุดร่วมของความรัก ความผูกพัน และความภาคภูมิใจของลูกช้าง มช. ทุกรุ่น ดังเนื้อหาท่อนหนึ่ง ในบทเพลง “มช. ถิ่นสวรรค์” ที่แทนความหมายของตราช้างชูคบเพลิงนี้ได้อย่างครบถ้วนที่สุดว่า

“เรารักใคร่ร่วมใจเดียว ปรองดองแน่นเหนียวรักกลมเกลียวสัมพันธ์
เลือดสีม่วงช้างชูคบเพลิงหมายมั่น รุ่งโรจน์ความรู้สร้างสรรค์ ให้เราซึ้งมั่นดำรง”

เอกสารอ้างอิง
- บทความความเป็นมาของเครื่องหมายราชการ (ตรา) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายปรีดา ศิริรังษี
- สูจิบัตรพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวบรวมโดยสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ข้อมูลเรื่อง “เอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย” จากเว็บไซต์ https://library.cmu.ac.th/pinmala/trait.php ของหอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา)
- หนังสือ มช.07