เมื่อ “นกสีฟ้า” ปะทะ “ออกข่วง” ในเสี้ยวประวัติศาสตร์การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

12 กรกฎาคม 2565

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

      ภาพปริญญาบัตรพร้อมกับข้อความแจ้งข่าวสั้น ๆ ว่า #เรียนจบแล้วนะ #CMUGraduate56th ที่บัณฑิตใหม่รุ่นที่ 56 ของ มช. เผยแพร่ในทวิตเตอร์ เป็นการสื่อสารในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่กระชับฉับไวในยุคปัจจุบัน และย่อมแตกต่างกับหนังสือพิมพ์เก่าที่ตีพิมพ์เมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว ด้วยเงื่อนไขของเทคโนโลยีและยุคสมัย แต่สื่อทั้งสองรูปแบบนี้กลับมีเนื้อหาบางอย่างที่เชื่อมโยงอดีตและปัจจุบัน ถึงกันได้อย่างคาดไม่ถึง

      ในหนังสือพิมพ์คนเมืองที่ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2496 มีคอลัมน์หนึ่งชื่อว่า “ออกข่วง” คำนี้เป็นภาษาล้านนาหมายถึงการออกไปทำกิจกรรมหรือเสวนาพูดคุยที่ลานบ้าน ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันในครอบครัวของชาวล้านนาในอดีต จึงเหมาะจะเป็นชื่อคอลัมน์ที่เชิญชวนผู้อ่านให้แสดงความคิดเห็น โดยการตั้งกระทู้ถาม ในเรื่องต่าง ๆ คล้ายกับการตั้งกระทู้เพื่อถามความคิดเห็นของคนทั่วไปบนโลกออนไลน์ในปัจจุบันนั่นเอง

     ปรากฏว่าในปีนั้นกระทู้ที่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างล้นหลามคือ “ควรตั้งมหาวิทยาลัยภาคเหนือหรือไม่?” กระทู้นี้สืบเนื่องมาจากความตื่นตัวของชาวเชียงใหม่และประชาชนในภาคเหนือ ที่ต้องการให้รัฐบาลสร้างมหาวิทยาลัยขึ้นในภาคเหนือ โดยมีจุดเริ่มต้นใน พ.ศ. 2493 เมื่อายทองดี อิสราชีวิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลถึงการก่อตั้งมหาวิทยาลัย และต่อมาหนังสือพิมพ์ชาวเหนือได้รายงานข่าวและเชิญชวนประชาชนให้แสดงความคิดเห็นผ่านหนังสือพิมพ์มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งใน พ.ศ. 2496 จึงมีหนังสือพิมพ์คนเมือง โดย นายสงัด บรรจงศิลป์ บรรณาธิการ ได้รณรงค์เรื่องนี้อีกครั้ง โดยใช้คอลัมน์ออกข่วงเป็นสื่อกลาง ผลปรากฏว่าเสียงจากผู้อ่านส่วนใหญ่ต้องการให้มีการสร้างมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ


     ทำไมชาวเชียงใหม่และประชาชนชาวภาคเหนือจึงต้องเรียกร้องให้มีมหาวิทยาลัย? เหตุผลสำคัญคือ ในขณะนั้นสถาบันระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยมีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ในเวลานั้น ประชาชนในต่างจังหวัดเริ่มตื่นตัวเรื่องการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ และในอดีตได้มีคณะเผยแพร่ศาสนาเข้ามาวางรากฐานด้านการศึกษาไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา จนเกิดเป็นโรงเรียนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงหลายแห่ง แต่หลังจากที่นักเรียนเหล่านี้จบการศึกษาในระดับมัธยมแล้ว น้อยคนที่จะมีโอกาสได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพราะต้องใช้ทุนทรัพย์ในการเข้าไปเรียนต่อในกรุงเทพฯ ด้วยเหตุนี้ การเรียกร้องของประชาชนชาวเชียงใหม่และในจังหวัดภาคเหนือก็คือ การเรียกร้องอนาคตทางการศึกษาของลูกหลาน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในส่วนภูมิภาคด้วย

     นอกจากคอลัมน์ออกข่วงแล้ว หนังสือพิมพ์คนเมืองยังได้รณรงค์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการสื่อสารที่ชัดเจน ตรงประเด็น และเป็นกระแสอย่างรวดเร็ว นั่นคือการพิมพ์บัตรวงกลมสีแดงเข้ม คำว่า “ในภาคเหนือ เราต้องการมหาวิทยาลัย” บัตรแสตมป์สีแดงเข้มคำว่า “เราต้องการมหาวิทยาลัยประจำล้านนาไทย” เพื่อนำไปติดคู่กับแสตมป์ และบัตรห่วงมหาวิทยาลัย ซึ่งข้อความในบัตรเรียกร้อง ให้ตั้งมหาวิทยาลัย และให้ผู้ที่ได้รับคัดลอกส่งต่อให้ผู้อื่นอย่างน้อย 3 คน ในลักษณะคล้ายจดหมายลูกโซ่ ระบุว่า หากผู้รับทำตามนี้ จะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในการร่วมต่อสู้เพื่อก่อตั้งมหาวิทยาลัยประจำล้านนาไทย บัตรนี้ทำขึ้นเพื่อให้นักเรียนส่งให้ญาติมิตร เพื่อให้การรณรงค์เป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น และได้รับ การสนับสนุนอย่างดีจากนักเรียนที่นำบัตรไปติดกระเป๋า หนังสือ รถสามล้อ และสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่และลำปาง



  

      การใช้สื่อเพื่อรณรงค์ให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นเสียงเรียกร้องที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด จึงมีข้อเสนอให้สร้างมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2502 โดย ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้บันทึกถึงเหตุผลสำคัญในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไว้ว่า

     “…การตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค 8 ตามความเรียกร้องของประชาชน ที่ประชุมเห็นว่าน่าจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่…ด้วยเป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง...”


ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เดินทางมาเชียงใหม่เพื่อหาแนวทางในการสร้าง มช.
(ภาพโดยบุญเสริม สาตราภัย)

     คำกล่าวนี้สะท้อนว่า ที่ผ่านมาเสียงเรียกร้องของประชาชนในภาคเหนือที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในการเขียนตอบกระทู้ส่งไปยังหนังสือพิมพ์ คัดลอกข้อความในบัตรห่วงมหาวิทยาลัย ได้กลายเป็นพลังสำคัญ ที่ทำให้เกิดการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งต่อมาได้มีการสำรวจพื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคาร จัดเตรียมบุคลากรและหลักสูตรการศึกษาเพื่อเตรียมการเปิดมหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2507 และในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2505 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารมหาวิทยาลัย และได้กล่าวคำปราศรัยที่บ่งบอกว่า การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ยึดโยงผูกพันกับประชาชนในภาคเหนืออย่างมีนัยสำคัญ ดังความตอนหนึ่งว่า

      “...ข้าพเจ้าก็ใคร่จะขอวิงวอนให้ท่านที่มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหลาย ตลอดจนพี่น้องประชาชน ในภาคเหนือทุกคน ได้โปรดสนใจ สนับสนุน และทะนุถนอม ช่วยกันผลักดันให้กิจการของมหาวิทยาลัยแห่งนี้จงดำเนินไปได้เป็นอย่างดีด้วย โปรดระลึกอยู่เสมอว่า มหาวิทยาลัยนั้น เป็นสมบัติอันล้ำค่าอย่างหาประมาณมิได้ของชาติ ถ้าเราปล่อยให้เสื่อมทรามลงไป ก็จะเป็นสิ่งที่น่าเสียใจและเสียดายเป็นที่สุด...”

 

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารมหาวิทยาลัย

     ภารกิจสำคัญในลำดับต้น ๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือ การผลิตบัณฑิตออกไปเป็นกำลังของประเทศชาติ ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้วางรากฐานให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ว่า ไม่มีอะไรน่าเศร้าเท่ากับการสร้างบัณฑิตขึ้นมาแล้วหางานทำไม่ได้ เพราะไม่มีใครต้องการ ดังนั้น ก่อนที่จะกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนใน พ.ศ. 2504-2505 จึงได้มีการสำรวจความต้องการทางการศึกษาของประชาชนในภาคเหนือ ได้แก่ กลุ่มนักเรียน ผู้ปกครอง ศึกษาธิการอำเภอ และเจ้าหน้าที่ แนะแนวว่าอยากให้บุตรหลานเรียนวิชาใดในมหาวิทยาลัย พบว่าสาขาวิชาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ อักษรศาสตร์ ตามด้วยแพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันก็ได้มีการสำรวจ ความต้องการของตลาดงานในจังหวัดของภาคการศึกษาภาค 8 ผลก็คือ มีความต้องการบัณฑิตในสาขาพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมากที่สุด ตามด้วยวิชาการศึกษา เกษตรศาสตร์ และแพทยศาสตร์ เมื่อได้ประมวลความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนกำลังคน และกำลังเงินแล้ว ใน พ.ศ. 2507 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เริ่มต้นเปิดสอนใน 3 คณะวิชา ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ (จัดสอนวิชาอักษรศาสตร์) คณะวิทยาศาสตร์ (จัดสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เตรียมแพทยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การเกษตร) ซึ่ง 2 คณะนี้ เป็นรากฐานของการศึกษาในแขนงวิชาชีพชั้นสูง นอกจากนี้ ยังมีการเปิดสอนในคณะสังคมศาสตร์ (จัดสอนวิชาเศรษฐศาสตร์, พาณิชยศาสตร์และการบัญชี) ซึ่งสอดคล้องตามความต้องการของตลาดงานในพื้นที่ ต่อมาใน พ.ศ. 2508 จึงได้โอนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นคณะที่ 4

คณาจารย์และนักศึกษา มช. รุ่นแรก ถ่ายภาพร่วมกันในวันเปิดเรียนวันแรก 18 มิถุนายน 2507

      ในยุคแรกของการก่อตั้ง มช. ประชาชนชาวเชียงใหม่ได้ช่วยกันประคับประคอง “สมบัติอันล้ำค่า” นี้ไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะนักศึกษา มช. ที่คนเชียงใหม่ให้ความเอ็นดูเหมือนลูกหลาน จนกระทั่งบัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สำเร็จการศึกษาและเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรใน พ.ศ. 2509 ความสำเร็จของบัณฑิต มช. จึงเท่ากับเป็นหมุดหมายความสำเร็จของชาวเชียงใหม่และผู้คนที่ครั้งหนึ่งอาจเป็นผู้ตอบกระทู้ในคอลัมน์ออกข่วงด้วย

น้องใหม่ มช. เมื่อ พ.ศ. 2513


บัณฑิตแพทย์เชียงใหม่รุ่นแรก



บัณฑิต มช.รุ่น 07 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรุ่นบุกเบิก เข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรใน พ.ศ. 2511


       ถ้าโลโก้นกสีฟ้าของทวิตเตอร์คือสัญลักษณ์ของการสื่อสารที่ทันสมัย คอลัมน์ออกข่วงก็เป็นความคลาสสิคเหนือกาลเวลา และเมื่อเราเชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน ก็จะพบเหตุและผลที่สอดคล้องกันว่า บัณฑิตใหม่ที่สำเร็จการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันนี้ คือหนึ่งในผลลัพธ์จากการ “ออกข่วง” ของประชาชนชาวเชียงใหม่และภาคเหนือ ที่ร่วมมือร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันนั้นนั่นเอง

เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพิมพ์คนเมือง ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2496
- วารสารลูกช้าง ประจำเดือนกันยายน-ธันวาคม พ.ศ. 2551
- หนังสือ มช. 07
- หนังสือทศวรรษแรก ชีวิตนักศึกษา มช.