ตามรอยแผนผังจากอดีตของ “ม.เชิงดอย”

12 กรกฎาคม 2565

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

      ภาพสเก็ตช์ขาว - ดำรูปแผนผังแสดงเขตต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นี้ อยู่ในหนังสือเล่มหนึ่ง ที่มีอายุเกือบ 60 ปี ชื่อว่า “ม.ช.ม.ประมวลข่าวรายเดือนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” แผนผังนี้เป็นภาพประกอบบทความข้อมูลเรื่องภูมิศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทำให้มองเห็นภาพรวมของที่ตั้งมหาวิทยาลัยในอดีต และที่สำคัญคือ ทำให้เข้าใจถึงที่มาของคำว่า “ม.เชิงดอย” อย่างลึกซึ้งมากขึ้นไปอีก

 
      พื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นตั้งอยู่ชิดเชิงดอยสุเทพจนสามารถมองเห็นภูเขาได้อย่างชัดเจน แทบจะทุกมุมไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของมหาวิทยาลัยก็ตาม พื้นที่ชิดเชิงดอยนี้ ในทางภูมิศาสตร์อธิบายได้ว่ามักจะเป็นส่วนฐานของภูเขาที่มีพื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ เหลื่อมล้ำกันไป ไม่ว่าจะเป็นที่ดอน ที่ลุ่ม แอ่งน้ำ และเนินดิน ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของลำห้วยต่าง ๆ ที่ไหลลงมาจากภูเขาเป็นเวลานับร้อยนับพันปีมาแล้ว เพราะเหตุนี้เอง มช. จึงเป็นมหาวิทยาลัยที่มีลำห้วยไหลผ่านกลางมหาวิทยาลัย ลำห้วยที่ว่านี้มี 5 สาย ได้แก่ ห้วยแก้ว ห้วยกู่ขาว ห้วยแม่ระงอง ห้วยตาดชมพู และห้วยฝายหิน ด้วยความสวยงามของพื้นที่ลาดเอียง สูง ๆ ต่ำ ๆ ของ มช. นี้เอง เป็นเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่คณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเลือกบริเวณนี้ให้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

น้ำจากห้วยแก้วและห้วยกู่ขาวไหลมารวมกันที่กลางอ่างแก้ว อ่างเก็บน้ำของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


บริเวณห้วยแม่ระงอง ใกล้กับคณะสื่อสารมวลชน ลำห้วยนี้จะมีน้ำเฉพาะในช่วงฤดูฝน

     “...สถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าให้เข้าทำนองว่า ‘ปลูกเรือนผิดคิดจนเรือนทลาย’ มีผู้เสนอที่ดินหลายแห่ง อำเภอแม่ริม อำเภอสันกำแพง และที่ค่ายดารารัศมี แต่เมื่อพิจารณากัน โดยรอบคอบแล้วเห็นว่าจะได้เสาะหาที่ดีกว่านี้ ข้าพเจ้าได้แสดงความคิดเห็นว่ามีที่ที่เหมาะสมอยู่แปลงหนึ่ง อยู่ที่เชิงดอยสุเทพ...” นายจรัล มหาวัจน์ รองผู้อำนวยการการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้บันทึกเรื่องราวในช่วงการเตรียมจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะเหตุผลในการเลือกที่ตั้งของ มช. บริเวณเชิงดอยสุเทพ ซึ่งตรงตามหลักเกณฑ์ในการจัดซื้อที่ดินที่คณะกรรมการได้วางไว้ เช่น ไม่ควรไกลจาก ตัวเมืองเกิน 8 กิโลเมตร ที่ดินควรเป็นที่ราบและเนิน เพราะเป็นสัญลักษณ์ของเชียงใหม่ ขณะเดียวกันบริเวณนี้ก็เป็นพื้นที่กว้างใหญ่มากพอที่จะจัดซื้อที่ดินผืนใหญ่ได้ ตามคำแนะนำของ ดร.พอล ดับบลิว ซีเกอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังสถาบันการศึกษา จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา ที่ให้คำแนะนำว่าควรมีที่ดิน ในการจัดสร้างมหาวิทยาลัยประมาณ 400 ไร่ นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์มาจากลำห้วยที่ไหลมาจากภูเขา โดยเฉพาะห้วยแก้วที่มีปริมาณน้ำมากพอที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อกักเก็บไว้ใช้สอยได้



ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ประธานกรรมการเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อธิบายแผนผังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แก่ จอมพล ถนอม กิตติขจร


พื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในอดีต

     เมื่อคณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เห็นชอบในการจัดซื้อที่ดินบริเวณนี้แล้ว จึงได้มี การติดต่อซื้อที่ดิน โดยใน พ.ศ. 2504 นั้น ที่ดินของ มช. จำนวน 579 กับ 68 ตารางวา มาจาก 4 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นที่ดินของ นายกี - นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ คหบดีคนสำคัญของเมืองเชียงใหม่ในอดีต ซึ่งนอกจากจะขายที่ดินในราคาเท่าทุนเพื่อเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว ต่อมาทั้งสองท่านยังได้บริจาคที่ดินเพิ่มเติมอีกด้วย ดังที่ นายจรัล มหาวัจน์ ในฐานะผู้ติดต่อซื้อที่ดินได้เล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือครบรอบ 20 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า

     “ท่านประธานให้ข้าพเจ้าติดต่อเจ้าของที่ดิน ข้าพเจ้าได้ไปพบ คุณนายกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ เจ้าของที่ดินแปลงแรก เรียนท่านว่า ‘แม่นาย รัฐบาลตกลงให้สร้างมหาวิทยาลัยแล้ว คณะกรรมการเห็นควรสร้างที่เชิงดอยสุเทพ ซึ่งมีที่ดินของท่านแม่นายอยู่ด้วย ท่านรัฐมนตรี (หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล) ให้ผมมาปรึกษากับแม่นาย’ ทันใดที่ข้าพเจ้าพูดจบ ท่านก็ตอบโดยไม่มีอาการลังเลใจว่า ‘ท่านศึกษาฯ ไปเรียนท่านเต๊อะ คิดเอาเท่าทุน ส่วนที่เหลือเป็นเศษเป็นเลยไม่คิด’ เศษเลยที่ท่านกิมฮ้อพูดถึง มีเนื้อที่ประมาณ 112 ไร่”

     ที่ดินที่จัดซื้อจากแม่นายกิมฮ้อดังกล่าวนี้ เดิมทีเป็นสวนผลไม้ ปัจจุบันคือบริเวณหน้าสนามฟุตบอลหน้าตึกสำนักงานอธิการบดี และพื้นที่ใกล้เคียง


บริเวณสนามฟุตบอล

    ที่ดิน มช. ส่วนที่ 2 มีเนื้อที่ประมาณ 172 ไร่ เป็นของคุณบุญอยู่ โปษะวัฒน์ เจ้าของตลาดบุญอยู่ แต่เดิมใช้ทำสวนต้นนุ่น ปัจจุบันคือที่ดินตั้งแต่ตึกธรณีวิทยา คณะสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ หอพักอ่างแก้ว ส่วนที่ 3 เป็นของประชาชนทั่วไป ซึ่งมีหลายเจ้าของ เนื้อที่ประมาณ 243 ไร่ และส่วนที่ 4 เป็นที่ดินและลำห้วยต่าง ๆ ในเขตป่าสงวนที่ไม่ต้องซื้อ รวมแล้วเป็นจำนวน 579 ไร่ กับ 68 ตารางวา


พื้นที่คณะมนุษยศาสตร์ในอดีต


คณะมนุษยศาสตร์ในปัจจุบัน


พื้นที่ส่วนหนึ่งของคณะมนุษยศาสตร์ ที่มีแอ่งน้ำและเนินดิน และมีการปลูกสร้างอาคารบนเนิน

    ต่อมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับที่ดินเพิ่มจากการบริจาคและเวนคืน โดยใน พ.ศ. 2505 นายกี และนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ได้บริจาคที่ดินให้แก่มหาวิทยาลัย 2 ครั้ง ในเดือนพฤษภาคม และกันยายน ใน พ.ศ. 2506 และ พ.ศ. 2511 มีการเวนคืนที่ดินของเอกชนบริเวณตำบลสุเทพและสวนดอก ซึ่งที่ดินจากการเวนคืนนั้นมาจาก 2 ตระกูลใหญ่ คือ ตระกูลนิมมานเหมินท์ และกีรติปาล โดยที่ดินที่เวนคืนจากตระกูลนิมมานเหมินท์มีเนื้อที่มากที่สุด คือ จำนวน 185 ไร่ ในนามของ นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์, นางแจ่มจิตร เลาหวัฒน์, นายวิชัย เลาหวัฒน์, นายกี นิมมานเหมินท์ และนางอุณณ์ ชุติมา


นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์

      ส่วนที่ดินที่เวนคืนจากตระกูลกีรติปาลนั้น มีจำนวน 78 ไร่ บนที่ดินผืนนี้มีบ้านสไตล์โคโลเนียลสองชั้นถูกเวนคืนติดที่ดินมาด้วย บ้านหลังนี้สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2469 เจ้าของบ้านคือ นายอาเธอร์ ไลออนแนล คิวรีเปอล์ (Mr. Arthur Lionel Queripel) พนักงานของบริษัท ค้าไม้บอมเบย์ - เบอร์ม่า จำกัด เดิมมีชื่อว่า “บ้านหลิ่งห้า” ปัจจุบันบ้านหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ซึ่งอยู่ในความดูแลของ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


นายอาเธอร์ ไลออนแนล คิวรีเปอล์ เจ้าของบ้านหลิ่งห้า


บ้านหลิ่งห้า

     อีกหลักเกณฑ์หนึ่งที่คณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เลือกพื้นที่ริมเชิงดอยสุเทพเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะเป็นที่ดินที่ใกล้กับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งเดิมอยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และตั้งมาก่อนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดิมโรงพยาบาลนครเชียงใหม่นี้ก่อตั้ง ใน พ.ศ. 2482 มีพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ต่อมาใน พ.ศ. 2488 นายแพทย์ยงค์ ชุติมา ได้บริจาคที่ดินให้แก่โรงพยาบาลหลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อมีการก่อตั้งโรงเรียนแพทย์เชียงใหม่ขึ้นที่โรงพยาบาลนครเชียงใหม่แห่งนี้ และแม่นายกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ได้ขายที่ดิน 116 ไร่ ให้แก่โรงพยาบาล เมื่อรวมกับที่ดินของผู้อื่นอีก 4 ราย ที่ดินผืนนี้จึงกลายเป็นที่ผืนใหญ่เพียงพอสำหรับการตั้งโรงเรียนแพทย์เชียงใหม่ ซึ่งต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นใน พ.ศ. 2507 จึงได้มีการโอนโรงเรียนแพทย์เชียงใหม่เข้ามาสังกัดเป็นคณะหนึ่ง ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2508

อาคารบุญสม มาร์ติน คณะแพทยศาสตร์ มช. เมื่อ พ.ศ. 2513 (ภาพโดยบุญเสริม สาตราภัย)

      จากแผนผังในอดีต เมื่อ พ.ศ. 2506 ความเปลี่ยนแปลงได้ค่อย ๆ เปลี่ยนพื้นที่อันเงียบสงบริมเชิงดอยสุเทพในอดีต มาเป็นเมืองมหาวิทยาลัยที่มีอาคารสิ่งปลูกสร้างและสาธารณูปโภคพร้อมผู้คนอยู่อาศัย หลายหมื่นคนในปัจจุบัน มช. ในวันนี้จึงมีพื้นที่กว้างใหญ่ขึ้นกว่าแต่เดิมอีกหลายเท่า ด้วยพื้นที่ประมาณ 8,502 ไร่เศษ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนแรกคือสวนสัก ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมริมเชิงดอยตั้งแต่เมื่อแรกก่อตั้ง มช. ส่วนนี้เป็นที่ตั้งของคณะต่าง ๆ และหอพักนักศึกษา ส่วนที่สองคือสวนดอก เป็นที่ตั้งของคณะวิชาเกี่ยวกับสายวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งหมด โดยมีถนนนิมมานเหมินท์คั่นกลาง และส่วนที่สามคือแม่เหียะ เป็นที่ตั้งของคณะสัตวแพทยศาสตร์และอุตสาหกรรมเกษตร นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมในสังกัด มช.ซึ่งตั้งอยู่ในที่ต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง


      แม้ว่าวันนี้แผนผัง มช. ในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปจนไม่เหลือเค้าเดิมของแผนผังใน พ.ศ. 2506 อีกแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ก็คือ ภูมิประเทศที่ประกอบด้วยพื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ลำห้วยทั้ง 5 สาย รวมไปถึงเนินดินและแอ่งน้ำ ที่ประกอบกันเป็น “ม.เชิงดอย” อันงดงามทั้งในความเป็นจริงและในความทรงจำของใครหลายคนอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง...

เอกสารอ้างอิง
- หนังสือเรื่องเล่าคนเก่า มช.
- หนังสือ ม.ช.ม.ประมวลข่าวรายเดือนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- หนังสือครบรอบ 20 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่