อ่างแก้ว : ของขวัญแห่งกาลเวลา

6 กรกฎาคม 2565

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    โปสการ์ดภาพอ่างแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2509 อาจไม่มีสีเขียวของดอยสุเทพ และเงาสะท้อนธรรมชาติโดยรอบเหมือนภาพอันสวยงามของอ่างแก้วที่มีสีสัน และถูกโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์นับพันนับหมื่นภาพอย่างทุกวันนี้ แต่คุณค่าของโปสการ์ดใบนี้คือ ฉากหนึ่งในอดีตของอ่างแก้วที่ใครหลายคนอาจไม่เคยเห็นมาก่อน เช่นเดียวกับเรื่องราวของอ่างแก้วที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง...


     ความงามของอ่างแก้วเหมือนธรรมชาติเสกสรร แต่ความจริงแล้วเป็นฝีมือและจินตนาการของมนุษย์ ที่เลือกจัดวางสร้างสรรค์อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ให้งามโดดเด่นอยู่บนชัยภูมิสำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นั่นคือบริเวณที่ลุ่มเชิงดอยสุเทพ ซึ่งคณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล กำหนดให้สร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นที่นี่ เพราะมองเห็นความจำเป็นว่ามหาวิทยาลัยจะต้องมีอ่างเก็บน้ำเป็นของตนเอง เพื่อผลิตน้ำประปาไว้ใช้ ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่นได้ให้ความสำคัญมากกับการวางผังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเน้นการไปสำรวจให้เห็นกับตา ไม่พึ่งพาแผนที่อย่างเดียว ทำให้ท่านได้เห็นความงามของธรรมชาติโดยรอบที่ควรรักษาไว้ โดยเฉพาะบริเวณจุดที่จะสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำ

ภาพการก่อสร้างอ่างแก้ว


ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดูงานการก่อสร้างอ่างแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2505

     เหตุผลที่อ่างแก้วได้รับการสร้างขึ้นใกล้เชิงดอยสุเทพ เนื่องจากผลของการสำรวจพื้นที่ของ มช. ในขณะนั้นพบว่า นี่คือจุดบรรจบของลำห้วย 2 สาย จากดอยสุเทพ ได้แก่ ห้วยแก้ว และห้วยกู่ขาว จึงเหมาะที่จะทำเป็นสระขังน้ำจากลำห้วยได้ดี พื้นที่ตรงจุดนี้จึงได้รับการประเมินและเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านการชลประทานและวิศวกรรม 2 ท่าน ให้สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำ ท่านแรกคือ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างเขื่อนสำคัญในประเทศไทยหลายแห่ง เช่น เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ท่านที่สองคือ ศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้น ท่านเป็นวิศวกรควบคุมการก่อสร้างอาคารในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่น คณะมนุษยศาสตร์, ตึกวิทยาลัยที่ 1 (คณะรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน)

ศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์


หม่อมหลวงชูชาติ กำภู

     นอกจากนี้ ยังมีบุคคลอีกท่านหนึ่งที่มีความสำคัญต่อจุดเริ่มต้นของอ่างแก้ว และภูมิทัศน์ความสวยงามของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในภาพรวมทั้งหมด คือ ดร.พอล ดับบลิว ซีเกอร์ส (Dr. Paul W.Seagers) ศาสตราจารย์ฝ่ายวิชาการศึกษา และที่ปรึกษาการสร้างอาคารเรียนแห่งมหาวิทยาลัยอินเดียนา ซึ่งมีความชำนาญในการวางผังสถาบันการศึกษาในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ได้มาเป็นที่ปรึกษา และแนะนำการเขียนแบบแปลนแก่สถาปนิกในการเตรียมการจัดสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในระหว่าง พ.ศ. 2503 - พ.ศ. 2506 ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในเวลาต่อมา มช. จะได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง ในประเทศไทย

    งานสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2505 หลังจากสร้างเสร็จแล้ว กรมชลประทานได้ ให้ชื่อว่า “อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว” แต่ต่อมา ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “อ่างแก้ว” ในปีนั้น ครอบครัวแรกที่เดินทางมาทำงานที่ มช. คือครอบครัวของ คุณสุรัตน์ รัตนกิจการกล นายช่างชลประทาน ที่โอนย้ายมาดูแลด้านงานประปาที่อ่างแก้ว เพื่อให้พร้อมใช้งานทันกำหนดเปิดมหาวิทยาลัย ใน พ.ศ. 2507

ที่สองจากซ้าย คือ สุรัตน์ รัตนกิจการกล ถัดมาคือ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
ส่วนสุภาพบุรุษท่านถัดมาคือ ดร.พอล ดับบลิว ซีเกอร์ส และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเอก ฟองอาภา

    แต่กว่าที่อ่างแก้วจะเป็นอ่างเก็บน้ำที่ใช้ประโยชน์ได้ และมีทิวทัศน์สวยงามเหมือนอย่างทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะงานรักษาเขื่อนที่เป็นไปอย่างยากลำบากในช่วงแรก ดังที่ได้มีการบันทึกไว้ในหนังสือประมวลข่าว ม.ช.ม. ฉบับที่ 5 ว่า

    “ในช่วงแรกคุณสุรัตน์ต้องรับผิดชอบดูแลงานตลอด 24 ชั่วโมง เพราะงานรักษาเขื่อนให้งอกงาม เขียวอยู่เสมอ จะได้เป็นแรงยึดดินเกาะกันอยู่ หน้าฝนก็ต้องคอยตกแต่งอุดช่องดิน ที่ถูกน้ำฝนชะหลุดหายไป ให้เต็มแน่นอยู่เสมอ ทั้งยังต้องคอยเก็บขอนไม้ ใบไม้ที่หลงตกลงไปในอ่าง และปิด - เปิดทางน้ำล้นให้น้ำในอ่างอยู่ในระดับพอดีเสมออีกด้วย”

สันเขื่อนอ่างแก้วในอดีต




     ครอบครัวของคุณสุรัตน์ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักประปาหน้าอ่างแก้ว จนกระทั่งต่อมาใน พ.ศ. 2506 “ลูกช้างเชือกแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวนี้ นั่นคือบุตรสาวของคุณสุรัตน์ชื่อ “เทพพร” ซึ่งต่อมาลูกช้างเชือกนี้ได้ใช้ชีวิตอยู่ใน มช. มาโดยตลอด ทั้งศึกษาเล่าเรียนจนกระทั่งเข้าทำงาน โดยปัจจุบัน คุณเทพพร สุคำวัง ดำรงตำแหน่งเลขานุการสำนักพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


สุรัตน์ รัตนกิจการกล และเทพพร บุตรสาว


ในวัยเยาว์ที่อ่างแก้ว

ภาพคุณเทพพรที่เกาะลอย (เกาะแขก) เมื่อ พ.ศ. 2507


    ครั้งหนึ่งคุณเทพพรได้ถ่ายทอดทั้งเรื่องราวและภาพถ่ายของอ่างแก้วไว้ในโอกาสครบรอบ 50 ปี มช. สะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศของอ่างแก้วในอดีต ทำให้ทราบว่าในสมัยก่อนพื้นที่โดยรอบอ่างแก้วเป็นดงหญ้าคาและป่านุ่น สันเขื่อนอ่างแก้วนั้นเคยเปิดให้รถวิ่งได้ และยังเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ทหารในวันรับพระราชทานปริญญาบัตร รวมไปถึงอ่างแก้วในมุมอันตราย เป็นที่สังเวยชีวิตของนักศึกษาที่ลงไปว่ายน้ำเล่น จนจมหายไปแล้วหลายราย...นั่นคืออ่างแก้วในอดีตที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ครอบครัวของ คุณสุรัตน์ รัตนกิจการกล ผู้ซึ่งมีความรักและผูกพันกับ มช. อย่างลึกซึ้ง และได้ทำงานด้วยปณิธานที่ว่า “จะทำทุกอย่าง เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน มช.” จนกระทั่งเสียชีวิตในตำแหน่งผู้อำนวยการกองสวัสดิการ ใน พ.ศ. 2538

    ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทของคนรุ่นก่อนในวันนั้น...ปัจจุบันอ่างแก้วมีอายุเกือบ 60 ปีแล้ว แต่ภูมิทัศน์โดยรอบกลับสวยงามขึ้นกว่าเดิมมาก มีการปรับพื้นที่ให้สะอาดงามตา และอนุรักษ์ระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของป่าริมน้ำเชิงดอยรอบอ่างแก้วเอาไว้เป็นอย่างดี ทั้งต้นไม้ใหญ่น้อย สัตว์ต่าง ๆ เช่น เต่า แมลง และนก โดยเฉพาะนกแขวกประมาณ 2,000 ตัว ซึ่งจะบินมาอาศัยอยู่ที่เกาะกลางอ่างแก้วในเดือนกรกฎาคม - สิงหาคมของทุกปี เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในอ่างแก้วได้ดี

เกาะนก ซึ่งมีนกแขวกบินมาอยู่อาศัยทุกปี

ความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้และระบบนิเวศรอบอ่างแก้ว

    นอกจากนี้ จุดที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างชัดเจนก็คือ เกาะลอย หรือเกาะแขก พื้นที่ด้านซ้ายมือ ที่ยื่นออกไปในน้ำ ได้รับการปรับปรุงพื้นที่ให้สวยงาม มีเก้าอี้ และทางเดินรอบเกาะ ส่วนที่มาของชื่อเกาะแขกนั้น มีเสียงเล่าลือว่ามาจากเหตุการณ์ที่นักศึกษาเชื้อสายมุสลิมจมน้ำตายที่นี่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เฉลยข้อสงสัยที่มาของชื่อเกาะแขก คือแท่งหินจารึกด้านหน้าทางเข้าที่เขียนว่า Karn Memorial Park Dedicate 25 Anniversary ซึ่งคนไทยเชื้อสายอินเดียท่านหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะเอ่ยนาม เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงเกาะแขกในยุคที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย เป็นอธิการบดี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิพนธ์ ตุวานนท์ รองอธิการบดีในขณะนั้นเป็นผู้ดำเนินการ


เกาะแขกที่ยื่นออกไปบนผืนน้ำ


บริเวณเกาะแขกที่ได้รับการปรับภูมิทัศน์อย่างสวยงาม


แท่นหินที่เฉลยความเป็นมาของเกาะแขก

    การปรับปรุงเกาะแขกในครั้งนั้นเป็นการจุดประกายให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงอ่างแก้วอย่างเป็นรูปธรรมเรื่อยมา จนกระทั่ง ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ริเริ่มปรับภูมิทัศน์รอบอ่างแก้ว มีการทำทางเดิน ติดไฟส่องสว่างในยามค่ำคืน และสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างอ่างแก้วกับหมู่บ้านอ่างแก้ว เพื่อให้เป็นเส้นทางเดิน - วิ่งเป็นวงรอบจนถึงอ่างตาดชมภู เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่รกร้าง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยตามมา ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้อ่างแก้วกลายเป็นสวนสาธารณะริมเชิงดอยที่มีผู้มาใช้บริการอย่างคึกคัก ทั้งเป็นสถานที่ออกกำลังกาย สถานที่พักใจยามเหนื่อยล้า อาจเพราะความงามของอ่างแก้วนั้นตราตรึงใจผู้คนให้มาเยือนอย่างไม่เคยเบื่อหน่าย รวมทั้ง เป็นสถานที่ที่เก็บกอดความทรงจำที่ล้ำค่าในชีวิตของใครบางคน


    กาลเวลาอาจกลืนกินสรรพสิ่ง แต่ดอยสุเทพที่โอบกอดอ่างแก้วยังคงเป็นภูเขาลูกเดิม และลำห้วยที่ไหลลงสู่อ่างแก้วก็ยังคงเป็นลำน้ำสายเดิม อ่างแก้วจึงเป็นเหมือน “ของขวัญแห่งกาลเวลา” ที่ส่งต่อมาจากคนรุ่นก่อน เพื่อให้เราได้ตระหนักถึงคุณค่าของการริเริ่มบุกเบิกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากพื้นที่รกร้างว่างเปล่า สู่ความงามที่เหนือจินตนาการของอ่างแก้ว จากฝีมือของผู้มีส่วนร่วมสร้างอ่างแก้วทุกคนทุกรุ่น ที่ได้สรรค์สร้างและส่งต่อฉากธรรมชาติอันยิ่งใหญ่และงดงามริมเชิงดอยสุเทพให้เป็นของขวัญ แห่งกาลเวลาแด่ชาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รุ่นหลังในวันนี้ เพื่อให้เราได้หวงแหน รักษาและดำรงคุณค่าของ “อ่างแก้ว” ให้อยู่คู่ มช. ไปตราบนานเท่านาน

ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มาเยี่ยมชมอ่างแก้วในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่าน

เอกสารอ้างอิง
- หนังสือรำลึก 100 ปี ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
- หนังสือที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 24 มกราคม 2508
- หนังสือครบรอบ 20 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ประมวลข่าวรายเดือนของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506
- บันทึก “ย้อนรอยอดีต มช.” โดย เทพพร สุคำวัง