คณะเภสัชศาสตร์

Faculty of Pharmacy

เป็นผู้นำในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมและคุณภาพ สร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเภสัชกรรม เพื่อรับใช้สังคม

เข้าสู่เว็บไซต์

      คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดการเรียนการสอนขึ้นในครั้งแรกในปี 2509 ภายใต้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในปี พ.ศ. 2515 ได้แยกออกมาจากสังกัดของคณะแพทยศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ภญ.สสี ปันยารชุน เป็นผู้ก่อตั้งคณะฯ ซึ่งมีปรัชญาหลักในการจัดตั้งคณะฯ คือ เพื่อผลิตเภสัชกรที่มีคุณภาพ มีความรู้เรื่องยารอบด้าน ครอบคลุมการผลิตยารวมทั้งการดูแลการใช้ยาของผู้ป่วย ที่ตั้งอยู่บนมาตรฐานความปลอดภัยของประชาชน เพราะอาชีพเภสัชกร คือ อาชีพที่ทำงานเพื่อปวงชน

ด้านการจัดการศึกษา 
     ปัจจุบันคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดสอนระดับปริญญาตรี 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร 6 ปี) ระดับปริญญาโท จำนวน 4 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเภสัชกรรมคลินิก 2) หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการเภสัชกรรม 3) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม และ 4) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง และมีหลักสูตรระดับปริญญาเอก จำนวน 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ในด้านการศึกษาต่อยอดทางวิชาชีพ คณะฯ ได้เปิดหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม สาขาเภสัชบำบัด (วุฒิบัตร) ร่วมกับวิทยาลัยเภสัชบำบัด สภาเภสัชกรรม คณะฯ มีการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายทั้งในห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ และแหล่งฝึกปฏิบัติงานทั้งภายในและภายนอกสถาบัน มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ร่วมกับคู่ความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ และมีการสนันสนุนสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน 

ด้านการวิจัย
     คณะฯ ผลิตผลงานวิจัยที่ตอบสนองกับการพัฒนาประเทศและในส่วนภูมิภาค อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ความรู้ทางเภสัชกรรมในการพัฒนาเภสัชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องสำอาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสมุนไพรพื้นถิ่นและภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนา โดยคณะฯ ได้เน้นการวิจัยด้านสมุนไพรเพื่อจัดทำเป็นมาตรฐานสารสกัดจากสมุนไพร เพื่อศึกษาหาสารออกฤทธิ์และเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่อขึ้นทะเบียน โดยมีศูนย์วิจัยต่างๆ ในคณะฯ ที่ผลิตผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีเครือข่ายทั้งในระดับชุมชน ระดับผู้ประกอบการ และระดับนโยบาย เพื่อกำหนดความต้องการในงานวิจัย มีเครือข่ายทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยที่เอื้อที่จะดำเนินการวิจัยแบบบูรณาการ ซึ่งหน่วยวิจัยทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการดูแลประสานงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการงานวิจัย ทั้งยังเป็นผู้ประสานแหล่งทุนสนับสนุนงานวิจัยต่างๆ ตลอดจนจดสิทธิบัตร

ด้านการบริการวิชาการ
     คณะฯ ให้บริการวิชาการทางเภสัชศาสตร์ในลักษณะดังต่อไปนี้ 1) การประชุมวิชาการการศึกษาต่อเนื่องสำหรับเภสัชกร (CPE) โดยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา 2) มีการให้บริการด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชน และพัฒนามาตรฐานทางวิชาชีพ โดยศูนย์ปฏิบัติการเภสัชชุมชนซึ่งเป็นร้านยาคุณภาพตามการรับรองของสภาเภสัชกรรม และ 3) การให้บริการด้านการศึกษาชีวสมมูลของผลิตภัณฑ์ยาที่ผลิตในประเทศไทยโดยศูนย์บริการเภสัชกรรม ซึ่งศูนย์นี้เป็นเพียง 1 ใน 7 แห่งในประเทศไทย ที่ได้มาตรฐานสากล OECD GLP