มช. มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) ภายในปี 2032 พร้อมดึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ร่วมจัดการเมืองอัจฉริยะ CMU Smart City ตอกย้ำการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดนโยบายนำมหาวิทยาลัยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) ภายในปี 2032 โดยกำหนดเป็น 1 ในนโยบายแผน 13 ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมุ่งสร้างต้นแบบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลักดันนโยบายการใช้พลังงานทดแทน การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางด้านสภาพแวดล้อมเท่านั้น ยังพัฒนาการดำเนินการจัดการอย่างยั่งยืนด้วยด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา และพัฒนาการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย โดยเน้นการใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ (Data-Driven) ที่นำไปสู่การยอมรับในวงกว้าง ได้รับมอบตราสัญลักษณ์จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นพื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศ (Smart City)
ด้วยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานที่นำไปสู่วิถีชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าเป็นต้นแบบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมทั้งลดต้นทุนการบริหารจัดการพลังงานทั้งระบบ โดยมีกรอบการดำเนินงานด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนทั้งหมด 5 ด้าน คือ 1. การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกขององค์กร (Organization GHG Management) 2. การจัดทำมาตรการลดคาร์บอนในองค์กร (CMU Carbon Reduction Projects) 3. มาตรการการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่สีเขียว (CMU Carbon Sinks) 4. การพัฒนาบุคลากรและปลูกจิตสำนึก (CMU Human Developments) 5. การปรับตัวเตรียมความพร้อมต่อ Climate Change (CMU Climate Adaptation and Resilience) ดังสะท้อนให้เห็นจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่การบริหารจัดการทรัพยากร เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย รวมถึงระบบผลิตพลังงานความร้อน Solar Collector ณ หอพักนักศึกษา สามารถลดค่าไฟฟ้า และลดการปล่อยคาร์บอน รวมกว่า 8,000 tCO2e/ปี อีกทั้งครอบคลุมไปถึงกิจกรรมนักศึกษาที่จัดขึ้นโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างเช่น การรับน้องขึ้นดอยประจำปี 2566 และขบวนแห่กระทงใหญ่ “โคมคำ สุวรรณหงส์” ที่ร่วมรณรงค์การจัดการขยะอย่างครบวงจร ไม่ก่อมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
ในปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้โครงการต่าง ๆ ได้รับรางวัล และการรับรองเป็นที่ประจักษ์ อาทิ การรับรองเป็นองค์กรผู้นำด้านก๊าซเรือนกระจก Climate Action Leading Organization จากเครือข่าย Thailand Carbon Neutral Network โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ศูนย์ CBG ประจวบคีรีขันธ์ มช. คว้า รางวัล Thailand Energy Award 2023 ระดับดีเด่น จากกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ บริษัท ซีพีพี จำกัด และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและต้นแบบระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด ขนาด 6 ตันต่อวัน โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดโดยใช้เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสามารถปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพให้เป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซ NGV
อีกทั้งการขับเคลื่อน CMU Smart City ภายใต้โครงการCMU Smart Surveillance โดยนำแนวคิดการใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการเมืองมาใช้ ทำให้คว้ารางวัลชนะเลิศ Smart City Solutions Awards 2023 ระดับ "ดีเลิศ" ในหัวข้อ การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ : Smart Mobility โครงการ CMU Smart Surveillance ของศูนย์บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในการออกแบบและพัฒนาบริการต่าง ๆ ในโครงการนั้น ทางมหาวิทยาลัยได้คำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ที่มุ่งเน้นให้ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ของเมือง สามารถใช้ประโยชน์จากบริการต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน การจัดเก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ อย่างเป็นระบบในรูปแบบดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยสกัดข้อมูลและทำให้เห็นภาพรวมของเมืองจากข้อมูลที่มีอยู่ เช่น AI Image Processing, Machine Learning และ Big Data Analyticsเพื่อให้สามารถวิเคราะห์และนำข้อมูลเข้ามาใช้ในการตัดสินใจ การวางแผนกลยุทธ์และนโยบาย รวมถึงการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น Helmet Detection การตรวจจับการสวมหมวกนิรภัย, ThaiD ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล, E-vote ระบบการลงคะแนนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Voting System), Thai Blockchain Services Infrastructure, 5G Smart Health การดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์ทางไกล หรือTelemedicine โดยนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ช่วยให้การรักษาส่งถึงพื้นที่ห่างไกลได้อย่างดีเยี่ยม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมพัฒนาสังคมไปพร้อมกับการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน จากการเตรียมพร้อมทั้งการจัดการภายในองค์กร สร้างจิตสำนึกของบุคลากร ส่งเสริมการสร้างสรรค์การเรียนรู้อย่างไม่จำกัด รวมไปถึงการรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมปักหมุดหมายของการพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) ภายในปี 2032 ในทุกก้าวเดิน