“Side2sideR” นวัตกรรมช่วยพลิกตัวผู้ป่วยอัตโนมัติ ทุ่นแรงผู้ดูแล ลดแผลกดทับ ตั้งค่าใช้งานได้ตลอด 24 ชม.

5 กุมภาพันธ์ 2567

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

          แผลกดทับเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญในระบบสาธารณสุขไทย ปัญหาเหล่านี้รบกวนผู้ป่วยและผู้ดูแลทางการแพทย์ในสถานพยาบาลมานาน การรักษาแผลกดทับต้องใช้ระยะเวลานานและค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นการป้องกันแผลกดทับจึงเป็นวิธีการที่ประหยัดและดีที่สุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยกภ.ณรงค์รัตน์ สวัสติกานนท์ จากภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทย์ศาสตร์ ได้พัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยพลิกตัวอัตโนมัติ ไซด์ทูไซเดอร์ (Side2sideR) ช่วยลดการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วย ช่วยทุ่นแรงผู้ดูแล สามารถตั้งค่าใช้งานได้ตลอด 24 ชม.

          การดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ถูกนำมาเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เช่น การป้องกันแผลกดทับท่านอน พลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง ท่านอนตะแคงต้องไม่พลิกเกิน 30 องศา ปุ่มกระดูกส่วนส้นเท้าและตาตุ่มต้องไม่ถูกกดทับ ดังนั้นการจัดท่านอนต้องใช้แรงงานคนอย่างน้อย 1-2 คน และทำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามคนมักมีการลืม ล้า หลับ ทำให้แผลกดทับมีจำนวนที่มากขึ้น นวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยพลิกตัวอัตโนมัติ ไซด์ทูไซเดอร์ (Side2sideR) จะเป็นตัวช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับ โดยใช้หลักการเติมลม กักลม ปล่อยลม ในถุงลมรองนอนพร้อมอุปกรณ์อัดอากาศ เพื่อทำให้เปลี่ยนท่านอนหงายเป็นนอนตะแคงซ้ายและขวาได้ ย้ายตำแหน่งแรงกดบนส่วนผิวหนังที่สัมผัสกับฟูกนอน และถุงลมรองน่อง ช่วยลดแรงกดของส้นเท้า เหมาะสำหรับผู้ป่วยนอนติดเตียง ผู้ป่วยในห้องไอซียู ผู้ป่วยอัมพาต และผู้สูงอายุที่ไม่สามารถพลิกตะแคงตัวได้เอง ปัจจุบันอุปกรณ์ชนิดนี้ได้รับการจดแจ้งเป็นเครื่องมือแพทย์ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผ่านมาตรฐานทางไฟฟ้าสำหรับเครื่องมือแพทย์แล้ว นอกจากนี้ยังมีความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4 เรื่อง และมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์แล้ว 4 เรื่อง และกำลังเก็บข้อมูลทางคลินิกในผู้ป่วยวิกฤต Covid 19 ซึ่งสามารถป้องกันแผลกดทับได้เป็นอย่างดี

         จากการใช้งานกับผู้ป่วยวิกฤต ทำให้เห็นประโยชน์ของอุปกรณ์ช่วยพลิกตัวอัตโนมัติ ไซด์ทูไซเดอร์ ได้ชัดเจนมากขึ้น โดยใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤต (COMA) ที่ไม่มีสติ ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกาย ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิงผู้อื่นในการพลิกตัว นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในกรณีผู้ป่วยติดเชื้อที่จำเป็นต้องใช้แนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยที่ทีมรักษาต้องระมัดระวังการเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วย (standard precautions & physical distancing) เช่น COVID-19, การติดเชื้อดื้อยา อุปกรณ์ชนิดนี้เป็นอุปกรณ์เสริมเตียงใช้ร่วมกับเตียงผู้ป่วยที่มีอยู่ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนเตียงผู้ป่วย ตั้งการทำงานพลิกตัวอัตโนมัติได้อย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง สามารถทดแทนพยาบาลในการพลิกตัวได้ การพลิกตัวโดยใช้อุปกรณ์ช่วยพลิกตัวอัตโนมัติทำให้แรงกดบริเวณปุ่มกระดูกก้นกบมีแรงกดทับน้อยลง และเกิดการย้ายแรงกดจากปุ่มกระดูกไปยังกล้ามเนื้อสะโพกที่มีการไหลเวียนเลือดดีกว่าจึงไม่ทำให้เกิดแผลกดทับ ทำให้พยาบาลมีสมาธิและปฏิบัติงานด้านการติดตามภาวะวิกฤตของผู้ป่วยได้สม่ำเสมอ และรายงานแพทย์ได้อย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาะวิกฤต โดยไม่มีแผลกดทับเกิดขึ้น

แกลลอรี่