ตัวแทนคณะทำงานโครงการ INNO4Tourism จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมฝึกอบรม ToT Programme on Curriculum Development on Sustainable Tourism ณ Universit? degli Studi di Palermo สาธารณรัฐอิตาลี

13 พฤศจิกายน 2567

วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี

         วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรวิชย์ ถิ่นนุกูล ผู้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยคณบดีด้านความร่วมมือต่างประเทศและการระดมทุน พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธศักดิ์ ฉัตรแก้วนภานนท์ หัวหน้าภาควิชาการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยศึกษาตลอดชีวิต และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรพร คูวุฒยากร หัวหน้าโครงการ ได้เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรม “Training of Trainers Programme (ToT) on Curriculum Development on Sustainable Tourism” ณ Universit? degli Studi di Palermo (UNIPA) เมือง Palermo สาธารณรัฐอิตาลี ภายใต้การดำเนินงานโครงการ INNO4Tourism ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (European Union) กรอบการดำเนินงานของโครงการ Erasmus+ โปรแกรมเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา (Capacity Building in Higher Education: CBHE Action) เป้าเหมายเพื่อมุ่งขับเคลื่อนและยกระดับกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการในประเทศไทย และ สปป.ลาว ให้มีความยั่งยืน ส่งเสริมกลไกความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและมหาวิทยาลัยโดยดำเนินงานผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษา โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีหน่วยงานภายในร่วมดำเนินโครงการได้แก่ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาลัยศึกษาตลอดชีวิต และคณะศึกษาศาสตร์
         สำหรับโปรแกรมการฝึกอบรม “ToT on Curriculum Development on Sustainable Tourism” มีวัตถุประสงค์ของกิจกรรม เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรมหาวิทยาลัยในด้านการพัฒนาหลักสูตรการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เสริมสร้างชุดความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการเตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงานให้แก่กลุ่มผู้เรียนและกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ เช่น ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะสีเขียว ทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญในการเตรียมความพร้อมแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สู่การยกระดับ “ศูนย์แนะแนวอาชีพ” หรือ “The Career Office” ภายใต้แนวคิดการพัฒนาอาชีพแบบองค์รวม (Holistic Career Services) เพื่อส่งเสริมการนำร่องกลไกความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจ (University-Business Cooperation Mechanism: UBC Mechanism)
         สำหรับกิจกรรมฝึกอบรม ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมรายงานผลการศึกษาวิจัยเรื่อง "ภาพรวมความต้องการและปัญหาช่องว่างทางทักษะของกลุ่มแรงงานภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการในประเทศไทย" ให้ผู้เข้าร่วมอบรมรับทราบ เพื่อร่วมอภิปรายข้อมูลเชิงลึก และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับกลุ่มคณาจารย์ทั้งจากสถาบันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายสหภาพยุโรป รวมถึงรับฟังการบรรยายหลากหลายหัวข้อ อาทิ บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ, การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, ศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ต่อกิจกรรมการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา, รากฐานและเส้นทางสู่การพัฒนาหลักสูตรระดับอุดมศึกษาด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระดับสากล
          นอกจากนี้ กลุ่มคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมกิจกรรมเวิร์คชอปเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาหลักสูตรด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมและเชื่อมโยงกับผลการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการ INNO4Tourism ขณะเดียวกันก็มีการปรับรูปแบบหลักสูตรให้มีความเป็นสากล ตอบโจทย์ความต้องการกลุ่มผู้ใช้บัณฑิต และสอดคล้องกับบริบทของทั้งภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และสภาพตลาดแรงงานการท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาความร่วมมือสำหรับโครงการอื่น ๆ ในอนาคตเพื่อขอรับทุนของคณะกรรมาธิการยุโรป ตลอดจนความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษาบุคลากร เมื่อวันที่ 4-8 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
          โดยตัวแทนคณะทำงานโครงการ INNO4Tourism จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีแผนกำหนดการจะเข้าร่วมโปรแกรมฝึกอบรม ToT Programme ต่อในสัปดาห์ที่ 2 ณ University of Macedonia เมือง Thessaloniki สาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีซ) ระหว่างวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2567
แกลลอรี่