นักวิจัยวิทย์ มช. สังเคราะห์องค์ความรู้การฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมโดยวิธีพรรณไม้โครงสร้าง ซึ่ง FORRU-CMU นำมาใช้ฟื้นฟูป่าภาคเหนือครั้งแรก เมื่อปี 2539

18 กรกฎาคม 2566

คณะวิทยาศาสตร์

         นักวิจัย มช. สังเคราะห์องค์ความรู้เทคนิคการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมโดยวิธีพรรณไม้โครงสร้าง (Framework Species Method: FSM) ซึ่ง FORRU-CMU ได้นำมาใช้ในการฟื้นฟูป่าภาคเหนือเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 และปัจจุบันมีการสังเคราะห์ข้อมูลการประยุกต์ใช้เทคนิคนี้ ในกว่า 12 ประเทศทั่วโลก

รศ.ดร.สตีเฟ่น เอลเลียต ผศ.ดร.เดีย พนิตนาถ แชนนอน และ ผศ.ดร.พิมลรัตน์ เทียนสวัสดิ์ หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (FORRU-CMU) ร่วมกันศึกษาวิจัยในหัวข้อ The framework species method: harnessing natural regeneration to restore tropical forest ecosystems ผลงานได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Philosophical Transactions of the Royal Society B

งานวิจัยนี้อธิบายแนวทางที่ “วิธีพรรณไม้โครงสร้าง” (Framework Species Method) หรือ FSM สามารถช่วยสร้างความเข้มแข็ง และสนับสนุนหน่วยงานทั่วโลกที่มุ่งฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นระบบนิเวศป่าเขตร้อนที่สมบูรณ์

การศึกษานี้ได้นำ FSM ไปเทียบกับวิธีการฟื้นฟูอื่น มีการจับคู่วิธีการกับระดับความเสื่อมโทรม และเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งแปลง การศึกษาได้ระบุถึงอุปสรรคของการนำวิธีการนี้ไปใช้ในวงกว้าง ทั้งในแง่เทคนิคและเศรษฐกิจสังคม รวมถึงแนวทางในการเอาชนะอุปสรรคดังกล่าว ในส่วนท้ายมีการอธิบายคำจัดความของวิธีการที่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมการนำไปใช้ประโยชน์ นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของทศวรรษการฟื้นฟูระบบนิเวศแห่งสหประชาชาติ

ปัจจุบันมีคนนับล้านที่กำลังปลูกต้นไม้พันล้านต้นทั่วโลกเพื่อช่วยฟื้นความหลากหลายทางชีวภาพและช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยการลดระดับของแก๊สคาร์บอนไดออกไซค์ในชั้นบรรยากาศผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง จุดหมาย Bonn Challenge มุ่งฟื้นฟูป่ารวม 300 ล้านเฮกตาร์ภายในปี พ.ศ. 2573

อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่ท้าทายดังกล่าวยังไม่สามารถบรรลุได้ในปัจจุบัน เนื่องจากขาดเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการทำให้เกิดระบบนิเวศป่าที่สามารถฟื้นตัวได้อีกครั้ง ระบบนิเวศป่าที่ฟื้นตัวตามธรรมชาติสามารถดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าพื้นที่วนเกษตร ถึง 6 เท่า และมากกว่าพื้นที่เพาะปลูกถึง 40 เท่า

งานวิจัยนี้ได้อธิบายวิวัฒนาการของ FSM รวมถึงเสนอแนวคิดการนำไปประยุกต์ใช้ในระดับกว้าง หลักฐานดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากต่อความพยายามที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในการฟื้นฟูป่าเขตร้อน ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อเป้าหมายในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่รวมถึงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การเป็นแหล่งบริการด้านต้นน้ำ บริการด้านผลิตภัณฑ์จากป่า และการมีส่วนช่วยลดความยากจนของผู้คนในท้ายที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 1 2 6 13 และ 15

ผู้สนใจสามารถอ่านบทความวิจัยได้ที่ https://royalsocietypublishing.org/doi/10.1098/rstb.2021.0073
แกลลอรี่