ระยะเวลากว่า 60 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังคงตั้งมั่นในการให้บริการทางการแพทย์ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ คิดค้นนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างคลอบคลุมทุกมิติสุขภาพด้วยมาตรฐานสากล ในการดูแลปัญหาสุขภาพระดับประเทศ และปัญหาสุขภาพในท้องถิ่นจากผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้ที่เข้มแข็ง อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคมะเร็งปอด, การรักษาโดยการปลูกถ่ายอวัยวะ, การบาดเจ็บด้วยอุบัติเหตุ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินงานตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) อย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมาเพื่อสร้างเสริมการขับเคลื่อนพัฒนาบุคลากร พร้อมด้วยองค์ความรู้อย่างเข้มแข็ง พร้อมแผนกลยุทธ์ที่มีเป้าหมายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยรวมให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในประเทศไปจนถึงระดับนานาชาติ อาทิ นักศึกษา ผู้เรียน ผู้ใช้บัณฑิต ชุมชน สังคม องค์กรของรัฐและเอกชนที่เป็นผู้ใช้ผลงานทางวิชาการและวิจัย ด้วยสมรรถนะหลักที่มุ่งเน้นการบูรณาการความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่หลากหลาย เพื่อสร้างนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน โดยต้องการยกระดับการดูแลด้านสุขภาพด้วยการนำนวัตกรรมการแพทย์ที่มุ่งเน้นไปสู่การดูแลสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น (Better Health) ด้วยการดูแลที่ครอบคลุมทุกมิติ (Comprehensive health care and promote equality) การเข้าถึงที่สะดวกและลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ (Decrease health disparity, diversity) ใช้ Technology Digital ที่ทันสมัย (Digital innovation and AI for health)
จากการดำเนินการที่ผ่านมาได้ปรากฏผลงานเป็นที่ประจักษ์ และสร้างคุณประโยชน์ทางการรักษา การส่งเสริมด้านสุขภาวะแก่ประชาชน ยกระดับการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้บริการแบบครบวงจร สามารถเข้าถึงบริการระดับสูงได้อย่างรวดเร็ว อันประกอบไปด้วย ศูนย์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ศูนย์ทันตกรรมผู้สูงอายุ ศูนย์สุขภาพพร้อม และศูนย์สุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ได้เปิดทำการไปเมื่อต้นปี 2566 ตลอดจนมีการจัดประชุมวิชาการแสดงผลงาน กิจกรรมเสวนาผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์ งานมหกรรมสุขภาพ Health Expo เพื่อนำไปสู่การดูแลสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น การดำเนินการในอนาคตจะให้การดูแลสุขภาพด้วยศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข Medical Hub & Wellness Center และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ทั้งนี้เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ (Medicopolis Platform) เพื่อนำไปสู่อนาคตในการพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็น Chiang Mai Medical & Health Innovation District เพื่อผลักดันและพัฒนาให้เชียงใหม่เป็นย่านนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ
นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานและงานเสวนานวัตกรรมทางการแพทย์ MEDCHIC Innovation Day พื้นที่ให้เกิดการรวมตัวกันของผู้ที่สนใจการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ อาทิ
- นวัตกรรมทางการแพทย์ (Medical devices) อาทิ รถไฟฟ้าสำหรับผู้พิการรุ่นที่ 2 ชุดอุปกรณ์การสอนช่วยฝึกฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (ALIVE) และอุปกรณ์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ
- เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Technology) อาทิ Application Panyadee+ Sound therapy smile migraine และการแพทย์ทางไกล
- ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ (Natural Products) อาทิ functional natural drink
- การพัฒนาย่านนวัตกรรมทางการแพทย์สวนดอก (SMID) มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรมการแพทย์ของภูมิภาคอย่างยั่งยืน
- การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการให้บริการผู้ป่วยแบบผสมผสาน การบริการผู้ป่วยนอกและการออกหน่วยให้บริการนอกสถานที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้ป่วยนอกและการออกหน่วยเคลื่อนที่เพื่อให้บริการนอกสถานที่ได้
มากไปกว่านั้น ได้มีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์ทางไกล หรือTelemedicine แก้ปัญหาการเข้าถึงการรักษาในพื้นที่ชนบทห่างไกล ผ่านทางเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบ Video conference จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่
ในอนาคตอันใกล้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งเป้าสู่เมืองศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Chiang Mai Medical Health Hub จากความพร้อมในทุกด้าน และการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับสากล สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็น “Wellness City” นอกจากเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สุขภาวะความเป็นอยู่ของประชาชน และเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมผลักดัน Medical & Wellness Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และเชิงสุขภาพ ให้เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการมาเยือนจังหวัดเชียงใหม่