ภาคเหนือของประเทศไทยประสบปัญหาค่าความร้อนจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากภาวะร้อนมายาวนาน และมลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 จากการเผาในที่โล่ง ประกอบกับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีลักษณะภูมิประเทศแบบเป็นแอ่ง อากาศไม่ไหลเวียน โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง พฤษภาคม ที่มีค่าฝุ่นควันสะสมจนมีค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐาน การจัดอันดับดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI Ranking) เมืองหลักของโลก เชียงใหม่พุ่งขึ้นเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันมาตลอดหลายปี อยู่ในเกณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและการเรียนของนักศึกษาอย่างมาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว จึงนำแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่อาคารปฏิบัติการเพื่อลดความร้อนเข้าสู่อาคาร ลดปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วยการบูรณาการความรู้การออกแบบสภาพแวดล้อม กำเนิดเป็น ต้นแบบห้องปฏิบัติการปลอดฝุ่น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ บริษัท พลังงานนครพิงค์ จำกัด สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) บริษัท เชียงใหม่วีระวิศวการ จำกัด และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้พื้นที่ห้องปฏิบัติการออกแบบของนักศึกษามีคุณภาพอากาศที่เหมาะสมสำหรับกิจกรรมการเรียนตลอดทั้งปี
ปัญหาที่ต่อเนื่องและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นได้นำมาซึ่งแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่อาคารปฏิบัติการด้วยการบูรณาการความรู้การออกแบบสภาพแวดล้อม นวัตกรรมประหยัดพลังงาน และนวัตกรรมห้องปลอดฝุ่น ประกอบด้วย การทำต้นแบบม่านต้นไม้แนวตั้งเพื่อกันแดดและลดอุณหภูมิ และเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ ในส่วนของม่านต้นไม้แนวตั้ง กำหนดพื้นที่ต้นแบบด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอาคาร 3 ชั้น โดยมีม่านต้นไม้และไม่มีม่านต้นไม้เพื่อวัดและเปรียบเทียบเทียบผล ส่วนห้องปฏิบัติการปลอดฝุ่น เป็นการออกแบบปรับปรุงห้องปฏิบัติการที่ใช้ระบบเครื่องฟอกอากาศที่เป็นนวัตกรรมของ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์
ทั้งนี้ การกรองอากาศเบื้องต้น ได้ร่วมกับเครื่องฟอกอากาศที่มีการดูดอากาศหมุนเวียนภายในห้องแล้ว เพื่อให้เกิดนวัตกรรมการเรียนรู้ บริหารจัดการทรัพยากรอาคารให้มีประสิทธิภาพและบันทึกค่าการประหยัดพลังงานเป็นตัวชี้วัดแก่คณะและ มช. และเพื่อต่อยอดเป็นต้นแบบอาคารที่พัฒนาไปสู่ Green education building ต้นแบบในอนาคตรวมถึงพัฒนาไปสู่ zero waste education building ในระยะยาวตาม global mega trend โครงการนี้ได้ผนวกเทคโนโลยีสารสนเทศอาคาร สร้างระบบการเชื่อมโยงข้อมูลและการจัดการภายในอาคาร และพื้นที่แต่ละห้องให้มีความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบและอยู่บนฐานข้อมูลเดียวกันนั้น โดยวางแผนการจัดทำ BIM Model ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพื่อนำเข้าไปใช้ในระบบ BIM Cloud Management ร่วมในการจัดการอาคารทั้งอาคารเพื่อเป็นการควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้า วัดปริมาณฝุ่นละออง อุณหภูมิ และความชื้นแบบเรียลไทม์ และเป็นเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ภายในอาคารได้ด้วยระบบการสแกนข้อมูลของผู้เข้าใช้ห้องต่าง ๆ รวมถึงการบริหารงานอาคารที่จะเกิดขึ้นอย่างครบวงจร
ผศ.ดร.แผ่นดิน อุนจะนำ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงผลลัพธ์ของโครงการไว้ว่า “ฝุ่นภายในห้องปฏิบัติการลดน้อยลง โดยสามารถวัดค่า 18-35 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. เมื่อเปิดการใช้ งานเครื่องฟอกอากาศทั้งห้อง โดยได้ค่าวัดที่ต่ำกว่าค่าปกติที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม ต่อ ลบ.ม. ซึ่งถือเป็นค่าละอองฝุ่นที่อยู่ในเกณฑ์ค่าปกติปลอดภัย รวมไปถึงการติดตั้ง Green wall ในบริเวณทางเดินหน้าห้องปฏิบัติการออกแบบทางสถาปัตยกรรมชั้น 3 และ 4 สามารถกรองฝุ่นและลดอุณหภูมิเข้าสู่ห้องปฏิบัติการออกแบบ และการลดใช้พลังงานภายในอาคารในระยะยาว โดยจากค่าเป้าหมายการติดตั้งนี้ สามารถช่วยลดอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 5 องศา ซึ่งจากการจากผลการทดสอบทั้งหมด ประกอบด้วยการวัดอุณหภูมิพื้นที่ผิวบริเวณที่ทำการติดตั้งผนัง green wall การตรวจวัดปริมาณการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์โดยรอบเทียบกับหลังผนัง green wall พบว่าทั้งอุณหภูมิและปริมาณรังสีความร้อนที่จะเข้ามาในพื้นที่ทางเดิน และพื้นที่ห้องปฏิบัติการนั้นมีค่าเฉลี่ยที่ลดลง ประมาณ 1-2 องศา โดยรวมแล้วนักศึกษามีความพึงพอใจในการติดตั้งระบบเข้าห้องปฏิบัติการและการใช้ห้องปฏิบัติการปลอดฝุ่นในเกณฑ์ที่ดี ทำให้สุขภาวะในการเรียนเป็นไปในทางที่ดีมากขึ้นด้วย”
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่เพียงแต่ส่งเสริมในด้านการเรียน การศึกษาเพียงเท่านั้น หากแต่สุขภาพของผู้เรียนและผู้ปฏิบัติงานก็เป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างสมดุลแห่งการเรียนรู้ที่ดี สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน พัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ ส่งเสริมพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาวะ สุนทรียภาพอย่างยั่งยืน : สนับสนุนสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานรวม