มช.นำ VR ร่วมฝึกทีมอาสา เผชิญสถานการณ์เสมือนจริง เพิ่มทักษะ และโอกาสรอดชีวิตในวิกฤตไฟป่าภาคเหนือ

30 มกราคม 2567

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

        พื้นที่ภาคเหนือมักประสบวิกฤตไฟป่าทุกปี ด้วยภูมิศาสตร์เป็นภูเขาสูงและที่ราบคล้ายแอ่งกระทะ เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ใบไม้แห้งจะกลายเป็นเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยดร.กรด เหล็กสมบูรณ์ นักวิจัยเชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ และผศ.ดร.เฉลิมพล คงจิตต์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ร่วมพัฒนา โครงการวิจัยการพัฒนาระบบฝึกทักษะการดับไฟป่าสำหรับอาสาสมัครดับไฟป่า โดยใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง เพื่อพัฒนาทักษะการเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤตไฟป่า

         โครงการวิจัยการพัฒนาระบบฝึกทักษะการดับไฟป่าสำหรับอาสาสมัครดับไฟป่า โดยใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นี้ เป็นโครงการที่พัฒนาต่อยอดจากระบบต้นแบบที่ ดร.กรด เหล็กสมบูรณ์ และทีมงานได้พัฒนาขึ้นก่อนหน้าในปี 2565 ระบบฝึกทักษะฯ นี้ประกอบด้วยเนื้อหาครอบคลุมขั้นตอนและกระบวนการดับไฟป่า เช่น ประเภทของไฟป่าและยุทธวิธีการดับไฟป่า ลักษณะและวิธีการใช้อุปกรณ์ดับไฟป่าประเภทต่าง ๆ (ไม้ตบไฟ ครอบ มีด เครื่องเป่าลม) และการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินคับขันเพื่อรักษาชีวิต มีระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้มีการสุ่มเลือกสถานการณ์ต่างๆ ที่หลากหลายเหมาะสมกับผู้ฝึกแต่ละรายและสามารถประมวลผล และแสดงผลการฝึกของผู้ฝึกได้ มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อตรวจสอบดูแลและควบคุมการเข้าใช้งานของผู้ฝึก และมีระบบประเมินการใช้งานระบบฝึกทักษะการดับไฟป่าฯ ว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด รวมถึงการออกแบบพัฒนาด้าน Graphic Design ให้มีความเสมือนจริง มีความน่าสนใจ เน้น User Center Design และการจัดการเนื้อหาให้เหมาะสม (Content Management) เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และความเป็นจริงของการเกิดไฟป่าจริง ซึ่งจะทำให้ผู้ฝึกสามารถใช้งานและได้รับประสบการณ์ใหม่จากการฝึก นอกจากนี้ยังรวมถึงการพัฒนาระบบให้สามารถใช้งานได้กับอุปกรณ์ (Devices) อื่น ๆ ได้อย่างหลากหลายเพื่อให้ผู้ฝึกเลือกฝึกได้ตามความต้องการ เช่น แว่น VR และสมาร์ทโฟน (android)

        โครงการนี้ดำเนินการในพื้นที่นำร่องคือ ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่เนื่องจากเป็นพื้นที่เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง ส่งผลต่อเมืองเชียงใหม่และการดำเนินชีวิตของประชาชนอยางมาก โดยอาศัยความร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าเชียงใหม่ ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการควบคุมไฟป่าภาคเหนือ สถานีควบคุมไฟป่าภูพิงค์ และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จังหวัดเชียงใหม่ การดำเนินโครงการจะเน้นการนำนวัตกรรมใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง โดยออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน มีการทดสอบหาประสิทธิภาพประสิทธิผล การนำไปใช้ฝึกอบรมและทดสอบจริง ระบบที่พัฒนาขึ้นยังสามารถ Update Version สถานการณ์ไฟป่าที่มีระดับรุนแรงเพิ่มขึ้น และผู้ที่ผ่านการทดสอบจะได้รับ Certificated ที่แสดงถึงความสามารถดังกล่าว เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับอาสาสมัครดับไฟป่าและดึงดูดอาสาสมัครดับไฟป่ากลุ่มใหม่ให้มาใช้ระบบฯ มีการประเมินผลกระทบทางสังคม และผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนเพื่อให้ทราบถึงความคุ้มค่าของงบประมาณ ขณะนี้การดำเนินโครงการถูกนำไปสู่การปฏิบัติในสถานการณ์จริง โดยอาสาสมัครจะได้ปฏิบัติการดับไฟจริงร่วมกับเจ้าหน้าที่ทีมเสือไฟ ซึ่งจะจัด ณ ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการควบคุมไฟป่าภาคเหนือ ในวันที่ 18 มกราคม 2567 เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพของอาสาสมัครที่ได้ฝึกและเรียนรู้จากการใช้งานระบบฝึกทักษะการดับไฟป่า

แกลลอรี่