ประวัติความเป็นมา :
ระบบเฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียวผ่อดีดีได้เริ่มต้นพัฒนาอย่างเป็นทางการเมื่อปีพ.ศ. 2557 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานในระยะที่หนึ่งและระยะที่สอง จาก SGTF - Skoll Global Threaths Fund (ปัจจุบัน คือ Ending Pandemics Foundation สหรัฐอเมริกา)
จุดประสงค์ของระยะที่หนึ่ง คือการสร้างและพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลระบบงานระบาดวิทยา และระบบงานสนับสนุนการเฝ้าระวัง รวมถึงทดลองติดตั้งใช้งานในอปท. นำร่อง สำหรับให้ชุมชนเฝ้าระวังโรคระบาดในคน สัตว์ และภัยในสิ่งแวดล้อม ที่รวมการจัดการระงับเหตุระบาดหรือภัยพิบัติอย่างทันเวลา
จุดประสงค์ของระยะที่สอง คือการหารูปแบบขยายการใช้งานระบบดิจิทัลผ่อดีดีเชิงพื้นที่ไปในประเทศ ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญในทางสากลของการสนับสนุนทุนจาก SGTF คือป้องกันมิให้เกิดโรคระบาดจากหมู่บ้านโดยเฉพาะจากสัตว์เข้าไปสู่มนุษย์ จากหมู่บ้านสู่เมือง แล้วระบาดข้ามทวีป อันเป็นภัยพิบัติต่อชีวิตมนุษย์ และความมั่นคงของมนุษยชาติ ดังที่เคยเกิดมาแล้ว เช่น ไข้หวัดสเปน ไข้เลือดออก เอดส์ นิปาห์ ซารส์ ไข้หวัดนก อีโบลา เป็นต้น
ในทางแนวคิดตั้งต้นต้องการสร้างระบบเฝ้าระวังโรค/ภัยสุขภาพหนึ่งเดียว ที่ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ใช้ประโยชน์ข้อมูล และระบบโดยตรง เป็นระบบดิจิทัลที่รวบรวมประมวลผลแจ้งข่าวสารและข้อมูลแบบอัตโนมัติเรียลไทม์ไปยัง อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางสาธารณสุข ปศุสัตว์ และป้องกันภัยได้รับรู้อย่างรวดเร็วพร้อมกัน ทั้งนี้ Dr. Larry และ Dr. Mark Smolinski จากองค์กรผู้ให้ทุนได้เล่าถึงองค์ประกอบตัดสินใจให้ทุน เพราะเชื่อมั่นความสามารถของชุมชนสาธารณสุขไทย รู้จักและเชื่อมั่นในทีมงานสุขภาพหนึ่งเดียวของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัทโอเพ่นดรีมผู้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ว่าจะสามารถสร้างสรรค์ระบบเฝ้าระวังแบบมีส่วนร่วมในชุมชนที่สามารถป้องกันความเสียหายทั้งในระดับพื้นที่และในระดับโลกจากโรคระบาดใหญ่ข้ามทวีปได้อย่างเป็นผล
ในการประชุม Epihack เพื่อสร้าง Prototype ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทีมงานจากคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เสนอให้ใช้ชื่อระบบดังกล่าวว่าผ่อดีดี ซึ่งเป็นคำพื้นเมืองที่สื่อสารเนื้อหาของระบบที่จะพัฒนาได้ดีขึ้น จากนั้นจึงตั้งชื่อภาษาอังกฤษตามว่า PODD (Participatory Onehealth Disease Detection) เมื่อสิ้นสุดโครงการระยะที่หนึ่งได้เกิดระบบที่มีผลการพิสูจน์ว่าสามารถทำงานได้จริง อปท. สามารถตรวจจับเหตุผิดปกติโรคระบาดห่าไก่ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถใช้แผนฉุกเฉินที่มีในระบบผ่อดีดีเผชิญเหตุควบคุมไม่ให้โรคระบาดแพร่กระจายไปได้สำเร็จอย่างรวดเร็ว
ในระยะที่สอง ซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ระบบผ่อดีดีได้พัฒนาครอบคลุมประเด็นสุขภาพสำคัญทั้งใน มนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เช่น โรคไข้เลือดออกในคน การควบคุมยุงลายในสิ่งแวดล้อม สัตว์กัดและโรคพิษสุนัขบ้า โรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์ และแอปพลิเคชั่นจัดการไฟป่าหมอกควัน ในช่วงปลายของระยะที่สอง การตรวจจับสัญญาณโรคระบาดตามนิยาม การแจ้งเตือนและประมวลเหตุสงสัยว่าระบาดและกระตุ้นการใช้แผนฉุกเฉินแบบอัตโนมัติ สามารถทำได้เกือบครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งมีการเริ่มต้นพัฒนาระบบดิจิทัลตรวจประเมินอาหารปลอดภัย เพื่อรองรับโครงการดาวผ่อดีดีอันเป็นระบบเฝ้าระวังคุณภาพอาหารปลอดภัย โปรโมทผลผลิตของชุมชน ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานดิจทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
--------------------------------
โครงการผ่อดีดี ได้รับการแต่งตั้งเป็นส่วนงานวิชาการภายในของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้ชื่อ “ศูนย์เฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว” หรือ (PODD Centre – ศูนย์ผ่อดีดีกลาง) เพื่อเป็นศูนย์สารสนเทศบริหารจัดการความรู้และข้อมูลของระบบฯ สร้างองค์ความรู้ในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาด/ป้องกันการระบาดใหญ่ข้ามทวีป และป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและภัยทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาสุขภาพหนึ่งเดียว โดยได้แต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.นายสัตวแพทย์เลิศรัก ศรีกิจการ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว (PODD Centre – ศูนย์ผ่อดีดีกลาง) ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ 2631/2562 ลงวันที่ 28 กันยายน 2562
วิสัยทัศน์ :
“ผ่อดีดีกลาง พันธมิตร อปท. ผู้นำดิจิทัลเฝ้าระวังของชุมชน”
พันธกิจ :
1. บริการ ประกอบด้วย การใช้งานระบบ การเก็บรักษาข้อมูล การใช้ประโยชน์ข้อมูลของอปท และ หน่วยงานอื่น รวมถึงบริการพัฒนาระบบ งานและระบบดิจิตอล
2. การธำรงรักษา อัพเดทและอัพเกรดระบบดิจิทัล และธำรงรักษาเครือข่าย อปท./ชุมชน ที่ใช้ระบบ
3. การวิจัย เพื่อพัฒนาการใช้งาน พัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูล และวิจัยดำเนินการ (Action research) เพื่อสร้างความตั้งมั่นยั่งยืนในระบบเฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียวของชุมชน ทั้งในด้านระบบปฏิบัติงานของหน่วยงานและระบบดิจิทัล
4. การบริหารจัดการองค์กรเพื่อความยั่งยืน