ประวัติวิทยาลัยฯ
รัฐบาลได้กำหนดให้จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการท่องเที่ยว หัตถอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมซอฟแวร์ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์เป้าหมายการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยหลักของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ มีความพร้อมด้านบุคลากร วิชาการ สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ พร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางระดับนานาชาติในการจัดการศึกษาและวิจัย เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางในด้านต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อสนับสนุนภาครัฐ เอกชนและชุมชนในเขตภาคเหนือ จึงได้นำเสนอกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเชียงใหม่ในยุคเศรษฐกิจใหม่ ในการสัมมนายุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเหนือเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2546 โดยเสนอโครงการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเน้นการพัฒนากลุ่มแข่งขัน (Competitive Cluster) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หัตถอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมซอฟแวร์ในภาคเหนือพร้อม ๆ กัน และได้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยได้รับอนุมัติโครงการในวันที่ 22 กรกฏาคม 2549 เป็นกรอบงบประมาณทั้งสิ้น 464.3 ล้านบาท
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ทำการจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร สื่อและศิลปะ (College of Arts, Media and ICT) ขึ้น เพื่อบูรณาการสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องให้มีความสอดคล้อง (Synergy) เพื่อที่จะทำให้สามารถสนับสนุนด้านวิชาการ แก่กลุ่มแข่งขันอุตสาหกรรมในท้องถิ่น รวมทั้งรองรับโครงการด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของจังหวัดเชียงใหม่และรัฐบาลในระยะยาว
สภามหาวิทยาลัย ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2546 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2546 อนุมัติให้จัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร สื่อและศิลปะ โดยให้แก้ไขชื่อเป็น “วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (College of Arts Media and Technology)” มีฐานะเป็นองค์กรในกำกับมหาวิทยาลัย ในระดับเทียบเท่ากับคณะ ที่ไม่เป็นส่วนราชการตามมาตรา 8 และ 9 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2530 มีการบริหารงานเป็นอิสระจากระบบราชการมีการบริหารและการจัดการเทียบเท่ากับวิทยาลัยนานาชาติของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เช่น สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น โดยจะมีการจัดตั้งหน่วยดำเนินการในรูปของสถาบันและศูนย์นานาชาติเพื่อให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพต่อไป
ปรัชญา
สร้างบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ให้เป็นผู้ใช้ความรู้ในระดับนานาชาติ สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้และสังคมฐานความรู้
“International Knowledge Worker”
วิสัยทัศน์
มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่ความยั่งยืน
“Toward creating innovation to sustainability ”
พันธกิจ
- การจัดการเรียนการสอน หลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรี เพื่อสร้างบุคลากรที่มี Global Literacy
- การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาโท เพื่อพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมให้มีความเชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยว หัตถอุตสาหกรรม และซอฟต์แวร์
- การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาเอก เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
- พัฒนาและส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้สังคม
ภารกิจ
- ผลิตบัณฑิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามความต้องการของกลุ่มแข่งขันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หัตถอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เพื่อเป็นผู้ปฏิบัติงานระดับนานาชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
- วิจัยพัฒนาองค์ความรู้ใหม่เพื่อสนับสนุนกลุ่มแข่งขันอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หัตถอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
- สนับสนุนการจัดทำระบบจัดการความรู้เพื่อการเรียนรู้และช่วยตัดสินใจแก่องค์กรขนาดใหญ่ กลุ่มแข่งขันที่เกี่ยวข้องและชุมชน
กลยุทธ์
ใช้สนเทศศาสตร์ (Informatics) ในการพัฒนาบุคลากร และสร้างองค์ความรู้ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
วัตถุประสงค์
- เพื่อพัฒนาบุคลากรและสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการสนับสนุนกลุ่มแข่งขัน (Academic Cluster) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หัตถอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร
- เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร การท่องเที่ยว ศิลปะ และการออกแบบสินค้าหัตถกรรม
- เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในด้านสื่อทางเลือกใหม่ (Alternative Media) เช่น e-Newspaper, e-Radio, Web TV และอื่นๆ
- เพื่อรองรับโครงการของรัฐบาลและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเหนือ เพื่อพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในระยะยาว