มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ และแต่งตั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณ

2 มกราคม 2563

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา 2562 แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 ท่าน และอนุมัติแต่งตั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณ จำนวน 6 ท่าน โดยจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร และเกียรติบัตร จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 54 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2563 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สภามหาวิทยาลัยในคราวประชุมครั้งที่ 10/2562 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2562 พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา 2562 แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง 6 ราย ตามที่คณะกรรมการพิจารณาปริญญากิตติมศักดิ์เสนอ ดังนี้


1. นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์  ปริญญาเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์


2. นายบุญธันว์ มหาวรรณ์  ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์


3. ศาสตราจารย์ ดร.เมธี เวชารัตนา  ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา

4. นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม  ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

5. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ฮิโรอากิ คิมูระ (Professor emeritus Dr.Hiroaki KIMURA) ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม (Honorary Doctoral Degree in Architecture)

6. ดร.เจนีน หลุยส์ บราวน์ (Dr.Janine L. Brown)  ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวแพทยศาสตร์  (Honorary Doctoral Degree in Veterinary Medicine)


และในการประชุมเดียวกันนี้ สภามหาวิทยาลัยได้มีมติอนุมัติแต่งตั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณ จำนวน 6 ราย ตามที่สภาวิชาการเสนอด้วย ดังนี้


1. ศาสตราจารย์ ดร.เกตุ กรุดพันธ์ สาขาวิชาเคมี

2. ศาสตราจารย์อุษณีย์ ธงไชย สาขาวิชาประวัติศาสตร์

3. ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง สาขาวิชาการเมืองการปกครอง

4. ศาสตราจารย์ พญ.สมสงวน อัษญคุณ สาขาวิชาจักษุวิทยา

5. ศาสตราจารย์ พญ.เบญจพร ไชยวรรณ สาขาวิชาพยาธิวิทยากายวิภาค

6. ศาสตราจารย์ พญ.จุฬาภรณ์ พฤกษชาติคุณ สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ตจวิทยา




คำประกาศเกียรติคุณ
นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์
ปริญญาเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์


นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) จากจุฬาลงกรณ์-มหาวิทยาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จํากัด (มหาชน)
ผลงานซึ่งแสดงถึงความสำเร็จยอดเยี่ยมในวิชาชีพ
.
นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ เป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีหลักการบริหารจัดการกระบวนการทำงานในองค์กรด้วยแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ และยังเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่นำเทคโนโลยีพรีคาสท์ที่ทันสมัยจากประเทศเยอรมนีมาใช้ในการก่อสร้างบ้านในประเทศไทย จนทำให้ปัจจุบันบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการชั้นนำด้านนวัตกรรมการก่อสร้างบ้านในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยมีนวัตกรรมต่าง ๆ ในการประกอบธุรกิจด้านการก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาทิ ระบบการสร้างบ้านแบบ Pruksa Real Estate Manufacture ระบบ BIM Management ระบบตรวจเช็คสถานะของบ้าน เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งโรงงานพฤกษา พรีคาสท์ ที่ทันสมัยและมีกำลังการผลิตและก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาให้บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จํากัด (มหาชน) ก้าวขึ้นเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ในผลงานที่โดดเด่นจากการได้รับรางวัลเกียรติยศต่าง ๆ อาทิ ในปี 2013 ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ Best CEO Award จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และในปี 2019 ได้รับรางวัลผู้ประกอบการแห่งปี (Entrepreneur of the Year) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดระดับนานาชาติ จากงาน Asia Corporate Excellence & Sustainability Awards ในฐานะผู้นำที่มีความเฉียบคม และมีบทบาทที่โดดเด่นในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

นอกจากนี้ นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ยังได้ก่อตั้ง “ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์” เพื่อส่งเสริมศาสนา การศึกษา และสังคม ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี ได้สนับสนุนทุนทรัพย์แก่หน่วยงาน/องค์กรที่ทำประโยชน์ทางศาสนา การศึกษา และสังคม รวมกว่า 100 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้สนับสนุนทุนการศึกษาให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ กว่า 20 สถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์-มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การบริหารจัดการธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์เชิงเศรษฐศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีการก่อสร้าง การวิเคราะห์เศรษฐกิจและแนวโน้มตลาด อสังหาริมทรัพย์ให้กับนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
.
โดยเหตุที่นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ มีผลงานโดดเด่นปรากฏเป็นที่ประจักษ์ด้านการบริหารจัดการกระบวนการทำงานในองค์กรด้วยแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาเศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป


คำประกาศเกียรติคุณ
นายบุญธันว์ มหาวรรณ์
ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์


นายบุญธันว์ มหาวรรณ์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน รัฐมิสซูรี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญ อาทิ ผู้อำนวยการสำนักงานแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทรา- บรมราชชนนี (พอ.สว.) และประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า
ผลงานซึ่งแสดงถึงความสำเร็จยอดเยี่ยมในวิชาชีพ
.
ตลอดระยะเวลากว่า 34 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา นายบุญธันว์ มหาวรรณ์ ถือเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อวงการทันตแพทย์ไทยอย่างสม่ำเสมอ โดยได้ปฏิบัติงานให้แก่มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทรา- บรมราชชนนี (พอ.สว.) และริเริ่มโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อวงการวิชาชีพทันตแพทย์ ส่งผลให้ประชาชนได้รับการรักษาทางทันตกรรมอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งโครงการที่สร้างคุณูปการต่อวิชาชีพทันตแพทย์อันเป็นที่ประจักษ์ คือ โครงการรณรงค์ทันตสาธารณสุข ซึ่งเริ่มต้นดำเนินการเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2529 และต่อมาได้กำหนดเป็นวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ (วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี) เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาจนถึงทุกวันนี้
.
ถึงแม้ว่า นายบุญธันว์ มหาวรรณ์ จะมิได้สำเร็จการศึกษาทางด้านทันตแพทยศาสตร์ แต่ก็ได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังสติปัญญาในการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบการให้บริการทางทันตกรรมและทันตสาธารณสุขให้แก่วงการ ทันตแพทย์ อาทิ รถทันตกรรมเคลื่อนที่ พอ.สว. ซึ่งเป็นนวัตกรรมการออกแบบเครื่องมือและรถทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับให้บริการทันตกรรมในพื้นที่ที่ห่างไกลซึ่งขาดแคลนการให้บริการทันตกรรม
.
นอกจากนี้ นายบุญธันว์ มหาวรรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมานั้น ได้ปฏิบัติงานในการดำเนินโครงการที่สืบเนื่องจากพระราชประสงค์ของสมเด็จย่า ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะประชาชนชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งมีจำนวนประมาณ 600 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
.
ในส่วนความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายบุญธันว์ มหาวรรณ์ ได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมการ ออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการส่งเสริมภารกิจด้านบริการวิชาการแก่ชุมชน อีกทั้งยังมีส่วนในการผลักดันให้หน่วยทันตกรรมพระราชทานของ คณะทันตแพทยศาสตร์ เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและสร้างความโดดเด่นด้านการบริการวิชาการเป็นอย่างมาก
.
โดยเหตุที่นายบุญธันว์ มหาวรรณ์ มีผลงานการสนับสนุนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของทันตแพทย์และงานทันตสาธารณสุข ช่วยให้ประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารได้เข้าถึงบริการทันตกรรม อันเป็นคุณูปการต่อวงการทันตแพทย์ไทยจนเป็นที่ประจักษ์ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

คำประกาศเกียรติคุณ
ศาสตราจารย์ ดร.เมธี เวชารัตนา
ปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา


ศาสตราจารย์ ดร.เมธี เวชารัตนา สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากลศาสตร์โครงสร้าง จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุ จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญ อาทิ ประธานสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (The Association of Thai Professionals in America and Canada : ATPAC) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม แห่ง New Jersey Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา
ผลงานซึ่งแสดงถึงความสำเร็จยอดเยี่ยมในวิชาชีพ

ศาสตราจารย์ ดร.เมธี เวชารัตนา เป็นอาจารย์ นักวิจัย และผู้บริหารการศึกษาที่ทุ่มเทปฏิบัติงานด้วยความเสียสละและคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและสังคมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเป็นแกนนำคนสำคัญในการก่อตั้งสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา หรือ ATPAC ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการศึกษาในประเทศไทย อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญที่ได้ใช้ประสบการณ์และองค์ความรู้ในด้านการจัดการการศึกษาเกี่ยวกับวิศวกรรม เพื่อผลักดันให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในประเทศไทยนำมาตรฐานระดับสากลในการรับรองหลักสูตรตามแนวทางของ American Board for Engineering and Technology (ABET) มาใช้กับการบริหารหลักสูตร เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทั้งทางวิชาการและวิชาชีพวิศวกร จนทำให้ปัจจุบันมีหลักสูตรด้านวิศวกรรมจำนวนมากกว่า 30 หลักสูตรในมหาวิทยาลัย ชั้นนำทั่วประเทศได้ดำเนินการตามมาตรฐานดังกล่าว

ในช่วงปี พ.ศ. 2543 - 2553 ศาสตราจารย์ ดร.เมธี เวชารัตนา ในฐานะประธานสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ได้ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในการแก้ไขปัญหามลภาวะที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยนำองค์ความรู้ทางวิศวกรรมมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนนำไปสู่การพัฒนาทางด้านกระบวนการจัดการของเสียอันตรายในประเทศไทย (Hazardous Waste Management)
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.เมธี เวชารัตนา ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและผลักดันการพัฒนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งด้านการบริหารการศึกษาโดยใช้มาตรฐาน ABET ส่งผลทำให้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับโอกาสยื่นขอการรับรองหลักสูตรตามมาตรฐาน ABET เป็น แห่งแรกในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งยังให้ความอนุเคราะห์ให้การปรึกษาด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการแก่คณาจารย์และนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง

โดยเหตุที่ศาสตราจารย์ ดร.เมธี เวชารัตนา เป็นผู้อุทิศตนและใช้องค์ความรู้ทางวิชาชีพจนเกิดประโยชน์แก่วงการการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ อันส่งผลถึงประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติเป็นอเนกประการ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป


คำประกาศเกียรติคุณ
นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม
ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์


นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (บริหารธุรกิจ) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ส.25๒6 นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง การจัดการภาครัฐและเอกชนมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร-ศาสตร์ วิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาการคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ) และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากวิทยาลัยแทมป้า (Tampa Collage) มลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญ อาทิ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณสภาผู้แทนราษฎร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการและที่ปรึกษาทางการเงินอาวุโส บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ เอพีเอ็ม ลาว จำกัด บริษัท เอพีเอ็มลาว เช่าสินเชื่อ จำกัด และประธานกรรมการบริษัท หลักทรัพย์ เอพีเอ็ม กัมพูชา จำกัด

ผลงานซึ่งแสดงถึงความสำเร็จยอดเยี่ยมในวิชาชีพ

นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการบริหารธุรกิจ ได้ปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท โดยหลังจากสำเร็จการศึกษาได้เริ่มต้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกสิกรไทย และผู้บริหารฝ่ายงานวาณิชธนกิจบริษัทหลักทรัพย์ยูเนียน จำกัด และต่อมาได้ก่อตั้งบริษัทบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งได้ทุ่มเทพัฒนาบริษัทให้เจริญก้าวหน้าเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าของประเทศไทย อีกทั้งได้ขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จนได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ International Finance Awards 2018 ประเภทรางวัล Most Innovative Financial Advisory Firm จัดโดยนิตยสาร International Finance Magazine (IFM)

นอกจากนี้ นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วิทยาการและประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจแก่สังคมมายาวนานกว่ายี่สิบสามปี โดยเฉพาะด้านการเงินการธนาคาร ตั้งแต่การเป็นอาจารย์พิเศษสอนระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา การใช้ประสบการณ์จริงในการเขียนตำรา และสร้างนักวิชาชีพการเงินเข้าสู่สังคมมากมาย จนได้รับรางวัลนักศึกษาเก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสถาบันบัณฑิตพัฒน-บริหารศาสตร์ รวมทั้งเป็นผู้สร้างโอกาสแก่ธุรกิจในท้องถิ่นด้วยการให้คำปรึกษาด้านการเงินแก่ธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อการเกื้อหนุนธุรกิจท้องถิ่นซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง ให้มีโอกาสได้พัฒนาความก้าวหน้าทางธุรกิจ จนมีหลายบริษัทสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ นับเป็นการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจในท้องถิ่นของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ได้ทำคุณประโยชน์ด้านการเรียน การสอน การเป็นอาจารย์พิเศษและที่ปรึกษาโครงการปริญญาโทและปริญญาเอกของคณะบริหารธุรกิจ อีกทั้งได้ร่วมสนับสนุนทุนการศึกษา ทุนการสร้างผลงานทางวิชาการของคณาจารย์ในคณะบริหารธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

โดยเหตุที่นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม เป็นผู้ประสบความสำเร็จยอดเยี่ยมในการประกอบธุรกิจและได้นำองค์ความรู้ด้านบริหารธุรกิจมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านธุรกิจ ด้านบริการวิชาการ และด้านพัฒนาสังคม จนปรากฏเป็นที่ยอมรับ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป


คำประกาศเกียรติคุณ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ฮิโรอากิ คิมูระ
(Professor Emeritus Dr.Hiroaki Kimura)
ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม
(Honorary Doctoral Degree in Architecture)



ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ฮิโรอากิ คิมูระ สำเร็จการศึกษาวุฒิบัตรสถาปนิกชั้นหนึ่ง จากประเทศญี่ปุ่น อักษรศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สถาปัตยกรรม) โรงเรียนสถาปัตยกรรมแมคอินทอช มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร เคยดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญ อาทิ หัวหน้าภาควิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีเกียวโต ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีเกียวโต และเจ้าของบริษัท Ks Architects ประเทศญี่ปุ่น

ผลงานซึ่งแสดงถึงความสำเร็จยอดเยี่ยมในวิชาชีพ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ฮิโรอากิ คิมูระ เป็นนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มีผลงานทางวิชาการและการออกแบบอาคารสถาปัตยกรรมต่าง ๆ มากมาย โดยเป็นที่ประจักษ์ในผลงานการออกแบบที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวด้านการใช้วัสดุแผ่นเหล็ก (Steel Sheet) ในการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ซึ่งเป็นการออกแบบที่แตกต่างจากจากสถาปนิกทั่วไป จนได้รับรางวัล Honor of Fellows The Royal Incorporation of Architects in Scotland (Hon.FRIAS) ในปี พ.ศ. 2558

ด้านการเรียนการสอน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ฮิโรอากิ คิมูระ เป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็นครูอาจารย์ มีความเป็นมืออาชีพด้านการสอนแก่นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา ตลอดระยะเวลา 23 ปีของการสอนในมหาวิทยาลัย ได้ใช้แนวคิดที่ว่า ไม่สอนนักศึกษาโดยตรงแต่จะปลูกฝังให้นักศึกษาเรียนรู้วิธีคิดในการออกแบบสร้างสรรค์ให้เป็นงานสถาปัตยกรรมในรูปแบบของตนเอง และยังได้ร่วมทำงานกับนักศึกษาเพื่อกระตุ้นกระบวนความคิดแบบอิสระของนักศึกษา ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเกิดประสบการณ์ของการเป็นสถาปนิกไปพร้อมกัน

ในปี พ.ศ. 2552 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ฮิโรอากิ คิมูระ ได้รับนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าศึกษา ณ สถาบันเทคโนโลยีเกียวโต และได้ขยายความร่วมมือเป็นการจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนกระทั่งได้พัฒนาความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรร่วมระดับปริญญาโท สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสถาบันเทคโนโลยีเกียวโต โดยเริ่มเปิดสอนหลักสูตรดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ ยังได้นำนักศึกษาของประเทศญี่ปุ่นมาทำการศึกษาลักษณะการออกแบบการวางผัง สิ่งแวดล้อม สาธารณูปการ ภายใต้นโยบาย Sustainable Green and Clean Campus ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ให้ความอนุเคราะห์ออกแบบอาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ ณ พื้นที่ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญไชย” จังหวัดลำพูน

โดยเหตุที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ฮิโรอากิ คิมูระ เป็นนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพสาขาสถาปัตยกรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลในผลงานการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม และทำคุณประโยชน์ทางด้านวิชาการให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป



คำประกาศเกียรติคุณ
ดร.เจนีน หลุยส์ บราวน์
(Dr.Janine L. Brown)
ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวแพทยศาสตร์
(Honorary Doctoral Degree in Veterinary Medicine)



ดร.เจนีน หลุยส์ บราวน์ สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (สัตวศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ทดาโกตา วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สัตวศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญ อาทิ ประธาน International Society of Wildlife Endocrinologists ที่ปรึกษาด้านวิชาการของ International Elephant Foundation ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นักวิจัยด้านสรีรวิทยาของ Smithsonian Conservation Biology Institute, Front Royal สหรัฐอเมริกา กรรมการ IUCN World Conservation Union Asian Elephant Specialist Group ศาสตราจารย์พิเศษสังกัด Department of Population Medicine and Diagnostic Services, College of Veterinary Medicine, Cornell University สหรัฐอเมริกา ผู้ก่อตั้งและประธานร่วม Asian Captive Elephant Working Group

ผลงานทางวิชาการดีเด่นซึ่งแสดงถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ

ดร.เจนีน หลุยส์ บราวน์ เป็นผู้อุทิศตนและเสียสละให้กับการปฏิบัติงานด้านสัตวแพทย์ โดยมีความรักในวิชาชีพทางสัตวแพทย์และงานที่เกี่ยวกับสัตว์เป็นอย่างมาก ซึ่งได้คิดค้นและพัฒนาเทคนิคการตรวจทางวิทยาการต่อมไร้ท่อจนกลายมาเป็นวิธีปฏิบัติที่เผยแพร่กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และยังเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการทางด้านสัตวแพทยศาสตร์จากทั่วโลก รวมทั้งเป็นผู้บุกเบิกให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสรีรวิทยาในสัตว์ที่อยู่อาศัยในสถานที่เลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้สัตว์เหล่านี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์และสามารถขยายพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ให้คงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งความเป็นนักวิชาการได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ผ่านผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติไม่น้อยกว่า 280 เรื่อง เป็นผู้เขียนบทความในหนังสือระดับนานาชาติจำนวน 27 บทความ และเป็นบรรณาธิการในหนังสือระดับนานาชาติจำนวน 7 เล่ม ดังเห็นได้จากการได้รับรางวัลต่าง ๆ อาทิ Morris Animal Foundation Innovative Scientist of the Year ( พ.ศ. 2555) Smithsonian Conservation Biology Institute's prestigious veterinary medicine award ( พ.ศ. 2557)

ดร.เจนีน หลุยส์ บราวน์ เป็นผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับช้างเลี้ยง ซึ่งได้ศึกษาข้อมูลและลงพื้นที่ไปยังสถานที่เลี้ยงช้างทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายงานวิจัยด้านสวัสดิภาพช้างเลี้ยงทุกครั้งที่มีโอกาส อีกทั้งยังรับหน้าที่เป็นสมาชิกและคณะทำงานของเครือข่ายต่าง ๆ มากมาย อาทิ สมาชิกของคณะทำงานช้างเลี้ยงเอเชีย คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านช้างเอเชีย ที่ปรึกษาของสมาคมช้างนานาชาติ และ คณะทำงานด้านแผนการอนุรักษ์สายพันธุ์ช้างของประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังได้ให้การสนับสนุนงานการเรียนการสอนและการวิจัยของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน

โดยเหตุที่ ดร.เจนีน หลุยส์ บราวน์ เป็นแบบอย่างนักวิชาการที่ดีงามและมีคุณูปการต่อการศึกษาวิจัยทางสัตวแพทย์ สมควรแก่การยกย่องต่อสาธารณชนให้เป็นที่ประจักษ์ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป




คำประกาศเกียรติคุณ
Achievement Announcements for Professor Emeritus Certificate Holders
ศาสตราจารย์ ดร.เกตุ กรุดพันธ์
Professor Dr. Kate Grudpan
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะวิทยาศาสตร์
Certificate of Professor Emeritus (Chemistry)


ศาสตราจารย์ ดร.เกตุ กรุดพันธ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาเอก Doctor of Philosophy สาขาวิชา Chemistry (Analytical and Radiochemistry) จาก Liverpool John Moores University ประเทศอังกฤษ

ศาสตราจารย์ ดร.เกตุ กรุดพันธ์ เริ่มรับราชการสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำแหน่งอาจารย์ สังกัด คณะวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2517 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาเคมี เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2547 ตลอดช่วงระยะเวลาที่รับราชการ ศาสตราจารย์ ดร.เกตุ กรุดพันธ์ ยังได้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญของ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์, ดำรงตำแหน่งรองประธานหลักสูตร International MS program on Environment Risk Assessment, ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำคณะวิทยาศาสตร์, เป็นคณะกรรมการบริหารหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต ภาควิชาเคมี (หลักสูตรนานาชาติ), ดำรงตำแหน่งกรรมการสภาวิชาการ, ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์พหุวิทยา คณะวิทยาศาสตร์, ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการวิเคราะห์, เป็นคณะผู้บริหารสำนักงานบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สกอ., เป็นคณะทำงานกรรมการนโยบายการวิจัยสมุนไพรแห่งชาติ, ดำรงตำแหน่งรองประธานสาขาวิทยาศาสตร์ เคมี-เภสัช สภาวิจัยแห่งชาติ, เป็นหัวหน้าคลัสเตอร์ความเป็นเลิศด้านเศรษฐกิจและสังคมบนความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุขของสำนักงาน

ศาสตราจารย์ ดร.เกตุ กรุดพันธ์ มีความรู้ ความสามารถและความชำนาญพิเศษในด้านเคมี โดยเฉพาะเคมีวิเคราะห์ เป็นศาสตราจารย์ที่เกี่ยวข้องกับทางเคมีวิเคราะห์คนแรกของประเทศไทย ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างมาก รวมถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้นำในด้านการวิเคราะห์ทางเคมีสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคนิคการไหล โดยเป็นผู้บุกเบิกในประเทศไทยจนเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ อาทิเช่น ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแห่งชาติ ซึ่งเป็นท่านแรกที่อยู่นอกกรุงเทพมหานครที่ได้รับรางวัลนี้

นอกจากนี้ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้าน Radioanalytical Chemistry และเป็นผู้บุกเบิกในด้านการวิเคราะห์เคมีโดยใช้รีเอเจนต์จากธรรมชาติ โดยริเริ่มในการสร้างนวัตกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เริ่มต้นจากเคมีวิเคราะห์และได้ขยายงานออกอย่างกว้างขวาง เป็นงานวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญต่อชุมชนและสังคมประเทศไทย จนเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติและได้รับรางวัลศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นแห่งชาติ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งนับว่าเป็นบุคคลากรคนแรกทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ว่าได้ อีกทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกด้านการวิเคราะห์ทางเคมีแบบใหม่โดยประยุกต์ร่วมกับเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยริเริ่มบุกเบิกในประเทศไทยจนเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ อีกด้วย

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.เกตุ กรุดพันธ์ ยังได้ทำงานวิจัยเป็นที่ปรากฎเด่นชัดอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในทางเคมีวิเคราะห์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ มีผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากกว่า 200 เรื่อง และมีบทความทางวิชาการที่เผยแพร่ในระดับชาติและระดับนานาชาติมากกว่า 300 เรื่อง อีกด้วย

อนึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.เกตุ กรุดพันธ์ มีผลงานด้านบริการวิชาการโดยการเป็นหัวหน้าโครงการหรือที่ปรึกษาโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้รับจากงานวิจัย การพัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตและระบบเตือนภัย และริเริ่มพัฒนา green innovation ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ รวมถึงด้านการผลิตและบริการวิเคราะห์หรือตรวจสอบ รับรองมาตราฐานและให้คำปรึกษาแนะนำบนพื้นฐานของทรัพยากรท้องถิ่นร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นผู้จัดประชุม workshop โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ เช่น International Atomic Energy Agency (IAEA) และเป็นผู้เชี่ยวชาญ (IAEA expert) ณ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า นอกจากนี้ยังได้ทำงานให้กับวารสารวิชาการนานาชาติที่มีชื่อเสียงทางเคมีวิเคราะห์ เช่น ทำหน้าที่เป็น guest editor, associate editor, editorial board, reviewer ให้กับวารสารชั้นนำทางเคมีวิเคราะห์และสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น Water Research, Talanta, Analytica Chimica Acta, Analytical Letters, Analytical Methods, Pure and Applied Chemistry เป็นต้น 

ศาสตราจารย์ ดร.เกตุ กรุดพันธ์ ได้ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยได้ริเริ่มเกี่ยวกับเรื่อง “เหมี้ยง” ซึ่งริเริ่มจากการพยายามให้เกิด Green innovation เกี่ยวกับ Natural reagent ทางการวิเคราะห์ทางเคมี และได้มีการทำงานอย่างต่อเนื่องจนเกิดการขยายผลต่อยอดงานวิจัยในภูมิปัญญาท้องถิ่นในลักษณะเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังได้รวบรวมความรู้ และนักวิจัยที่เชี่ยวชาญในมิติต่าง ๆ เพื่อขยายความร่วมมือด้านงานวิจัยร่วมกับศาสตร์สาขาต่าง ๆ ในลักษณะพหุวิทยาการที่ได้ส่งผลกระทบในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในด้านวิชาการ การศึกษา และสังคม โดยเฉพาะผลกระทบต่อที่มีต่อสังคม (ชุมชนล้านนา) นอกจากนี้ยังได้ร่วมดำเนินงานในการสร้าง “พิพิธภัณฑ์เหมี้ยงแห่งแรกของประเทศไทยแม่กำปอง” อีกด้วย

โดยเหตุที่ ศาสตราจารย์ ดร.เกตุ กรุดพันธ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิชาการ กอปรด้วยคุณธรรมและก่อประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง สมควรได้รับการยกย่องในวงการวิชาการ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีมติให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป



คำประกาศเกียรติคุณ
Achievement Announcements for Professor Emeritus Certificate Holders
ศาสตราจารย์อุษณีย์ ธงไชย
Professor Usanee Thongchai
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะมนุษยศาสตร์
Certificate of Professor Emeritus (History)


ศาสตราจารย์อุษณีย์ ธงไชย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับปริญญาโทอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์อุษณีย์ ธงไชย เริ่มรับราชการสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำแหน่งอาจารย์ สังกัด คณะมนุษยศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2522 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2531 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2558

ตลอดช่วงระยะเวลาที่รับราชการ ศาสตราจารย์อุษณีย์ ธงไชย ยังได้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการการดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพการจัดโครงการศึกษาเครื่องปั้นดินเผาเพื่อเป็นศูนย์การศึกษาและแหล่งการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็น คณะกรรมการบริหารหลักสูตรมหาบัณฑิต ประจำสาขาวิชาภูมิภาคการศึกษา คณะรัฐศาสตร์รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นคณะกรรมการกรรมการบริหารหลักสูตรมหาบัณฑิต ประจำสาขาวิชาตะวันออกเฉียงใต้ คณะรัฐศาสตร์รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกด้วย

ศาสตราจารย์อุษณีย์ ธงไชย มีความรู้ ความสามารถและความชำนาญพิเศษในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้ทำการสอนระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และสาขาวิชาตะวันออกเฉียงใต้ คณะรัฐศาสตร์รัฐประศาสนศาสตร์ และสอนวิชาประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมให้กับนักศึกษาชาวต่างประเทศ ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทของสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อีกด้วย

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์อุษณีย์ ธงไชย ยังได้แต่งตำราประกอบการสอนเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ประวัติศาสตร์สยาม จากสมัยสุโขทัยถึงการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5, แวดเวียงเชียงใหม่ และอิทธิพลขอมในประเทศไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงศตวรรษที่ 18  อนึ่ง ศาสตราจารย์อุษณีย์ ธงไชย มีผลงานด้านบริการวิชาการโดยทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบเนื้อหาการจัดแสดงภายในหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาโครงการสร้างสารสนเทศดิจิทัลล้านนาของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกทั้งยังเป็นคณะกรรมการบรรณาธิการวารสารดำรงวิชาการ อีกด้วย 

ศาสตราจารย์อุษณีย์ ธงไชย ได้ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยได้คัดแยกและจัดทำทะเบียนเครื่องปั้นดินเผาในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น วัดเจดีย์ซาวหลัง จังหวัดลำปาง, วัดสันติธรรม จังหวัดเชียงใหม่, พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวก แสนชื่น จังหวัดน่าน, พิพิธภัณฑ์ดงปู่ฮ่อ จังหวัดน่าน, ศูนย์ทรายขาวศึกษา โรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาว (บ้านท่าฮ่อ) จังหวัดเชียงราย, โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย, พิพิธภัณฑ์ดอยเวียงดอยวง จังหวัดเชียงราย และพิพิธภัณฑ์โบราณเวียงเดิม จังหวัดเชียงราย
เป็นต้น

โดยเหตุที่ ศาสตราจารย์อุษณีย์ ธงไชย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิชาการ กอปรด้วยคุณธรรมและก่อประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง สมควรได้รับการยกย่องในวงการวิชาการ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีมติให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป




คำประกาศเกียรติคุณ
Achievement Announcements for Professor Emeritus Certificate Holders
ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง
Professor Dr. Tanet Charoenmuang
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
Certificate of Professor Emeritus (Politics and Governments)


ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก (Doctor of Philosophy) ในสาขาวิชา Comparative Politics จาก Northern Illinois University ประเทศสหรัฐอเมริกา ระดับปริญญาโท (Master of Arts) ในสาขาวิชา Russian Area Studies จาก Georgetown University ประเทศสหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาตรีรัฐศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง เริ่มรับราชการสังกัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในตำแหน่งอาจารย์ สังกัดคณะสังคมศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2533 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2535 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาการเมืองการปกครอง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551

ตลอดช่วงระยะเวลาที่รับราชการ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้ดำรงตำแหน่งด้านการบริหารในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ ตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการเมือง การปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดำรงตำแหน่งประธานโครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาบริหารจัดการท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริการหลักสูตรบัณฑิตศึกษา ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ อีกทั้งยังได้ดำรงตำแหน่งด้านการบริหาร ทั้งในระดับจังหวัด ได้แก่ ตำแหน่งรองประธานมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่,ตำแหน่งประธานสภาเวียงพิงค์, ตำแหน่งประธานศูนย์ศึกษาปัญหาเมืองเชียงใหม่ และในระดับประเทศ ได้แก่  เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายจตุรนต์ ฉายแสง และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล, นายศักดา คงเพชร, นายเสริมศักดิ์ พงษ์ อีกด้วย  นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ยังมีผลงานด้านการบริการวิชาการ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการบริหารจัดการท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และดำรงตำแหน่งกรรมการก่อตั้งโครงการศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง มีความรู้ ความสามารถและความชำนาญพิเศษในสาขาวิชาการเมืองการปกครอง ด้านการเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่น ปรัชญาการเมือง ประวัติศาสตร์ล้านนา ประวัติศาสตร์การเมืองและแนวคิดทฤษฎีประชาธิปไตย ได้ทำการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท ในรายวิชาอาทิเช่น กระบวนวิชาการปกครองท้องถิ่นเปรียบเทียบ กระบวนวิชาแนวคิดและทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม กระบวนวิชาโลกาภิวัตน์และปฏิโลกาภิวัตน์ กระบวนวิชาสัมมนาแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาความเป็นประชาธิปไตย เป็นต้น รวมถึงได้รับเชิญเป็น Visiting scholar, University of Mary Washington, VA. ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ได้รับเชิญเป็น Visiting Reserch Fellow, Institute of southeast Asian Studies. (ISEAS) ประเทศสิงคโปร์

ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง เป็นผู้ที่มีผลงานทางวิชาการอย่างต่อเนื่องและอำนวยประโยชน์ด้านวิชาการแก่มหาวิทยาลัย ในด้านงานวิจัย ได้มีการศึกษาวิจัยในเรื่อง การปกครองท้องถิ่นกับการบริหารจัดการท้องถิ่น: อีกมิติหนึ่งของอารยธรรมโลก, ประวัติศาสตร์และการพัฒนาการปกครองท้องถิ่น: เทศบาลนครเชียงใหม่, ประชาธิปไตยกับสังคมไทย พ.ศ.2475-2553, The Redshirts and their democratic struggle in Northern Thailand, April 2010 to May 2015, ภูมิปัญญาท้องถิ่นบนทางแยก: พัฒนาการเศรษฐกิจ-การเมือง-วัฒนธรรม เกี่ยวกับเหมี้ยงในล้านนา รวมไปถึง ผลงานด้านการแต่งหนังสือ ที่แสดงถึงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมจำนวนมาก อาทิเช่น Lannaissance: รื้อฟื้นจิตวิญญาณล้านนา, 120 ปี สัมพันธภาพสยาม-ล้านนา, รำลึก 140 ปี ชาตกาล ครูบาศรีวิชัย, พลเมืองกับประชาธิปไตย, พระญามังราย: ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา เป็นต้น

โดยเหตุที่ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิชาการ กอปรด้วย คุณธรรมและก่อประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง สมควรได้รับการยกย่องในวงการวิชาการ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีมติให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป



คำประกาศเกียรติคุณ
Achievement Announcements for Professor Emeritus Certificate Holders
ศาสตราจารย์ พญ.สมสงวน อัษญคุณ
Professor MD. Somsanguan Ausayakhun
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะแพทยศาสตร์
Certificate of Professor Emeritus (Ophthalmology)


ศาสตราจารย์ พญ.สมสงวน อัษญคุณ สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตร การพัฒนาการจัดการ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตตร์และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อนุมัติบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว จากแพทยสภา Master of Health Science จาก School of Hygiene and Public Health, John Hopkins University ประเทศสหรัฐอเมริกา Scholar in Public Health Ophthalmology จาก Wilmer Eye Institute, School of Medicine, John Hopkins University ประเทศสหรัฐอเมริกา วุฒิบัติแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา จากแพทยสภา ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สาขาจักษุวิทยา จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล แพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาศาสตร์การแพทยบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศาสตราจารย์ พญ.สมสงวน อัษญคุณ เริ่มรับราชการสังกัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในตำแหน่งนายแพทย์ระดับ 4 สังกัดคณะแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2521 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2528 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2535 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาจักษุวิทยา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2550

ตลอดช่วงระยะเวลาที่รับราชการ ศาสตราจารย์ พญ.สมสงวน อัษญคุณ ยังได้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ ตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา, ตำแหน่งหัวหน้าศูนย์เลสิค ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์, บรรณาธิการบริหาร เชียงใหม่เวชสาร, คณะกรรมการบริหารราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย, คณะกรรมการเครือข่ายวิจัยประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์, คณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์, คณะอนุกรรมการประเมินผลการสอนและเอกสารที่ใช้ประเมินผลการสอน คณะแพทยศาสตร์, คณะกรรมการเจรจาไกล่เกลี่ยด้านสาธารณสุขด้วยสันติวิธี คณะแพทยศาสตร์, คณะกรรมการพัฒนาการเรียนรู้หลักการอ้างอิงหลักฐานทางการแพทย์ (Evidence Based Medicine) คณะแพทยศาสตร์ และคณะกรรมการร่างหลักสูตรวิทยาศาสตร์ทางสายตา และทัศนมาตรศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์
ศาสตราจารย์ พญ.สมสงวน อัษญคุณ มีความรู้ ความสามารถและความชำนาญพิเศษในด้านจักษุวิทยา โรคจอตาอักเสบจากเชื้อไซโตเมกกาโลไวรัสในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (CMV Retinitis in AIDS patients) ด้านกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขทางสายตา (Cornea and refractive surgery) และด้านตาแห้งและภูมิแพ้ของตา (Dye eye and ocular allergy) ได้สอนนักศึกษาในระดับปริญญาตรี ภาควิชาจักษุวิทยา ระดับแพทย์ประจำบ้าน สาขาวิชาจักษุวิทยา ในวิชาจักษุสาธารณสุข วิชาการอักเสบในลูกตา และวิชาการใช้เลเซอร์ผ่าตัดแก้ไขสายตา และระดับแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขา กระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ พญ.สมสงวน อัษญคุณ ยังได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคจอตาอักเสบจากเชื้อไซโตเมกกาโลไวรัสในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (CMV Retinitis in AIDS patients) ซึ่งมีการร่วมมือกับสถาบันในต่างประเทศ Francis I. Proctor Foundation, UCSF, USA. และมีผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูล Scopus มากกว่า 50 เรื่อง และงานวิจัยเกี่ยวกับโรคกระจกตา (กระจกตาติดเชื้อ การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ตาแห้งจากการขาดวิตามินเอ การผ่าตัดเลสิค ฯลฯ) ซึ่งมีการตีพิมพ์ผลงานในฐานข้อมูล Scopus อีกกว่า 20 เรื่อง

อนึ่ง ศาสตราจารย์ พญ.สมสงวน อัษญคุณ ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรในการบรรยาย ให้ความรู้แก่องค์กรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น หลักสูตรอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทางตา หัวข้อ “แนวคิด จักษุสาธารณสุข” หัวข้อ “กายวิภาค สรีรวิทยา หน้าที่ ระบบเลือด และระบบประสาทที่หล่อเลี้ยงของกระจกตา ตาขาว แก้วตาและยูเวีย” ของคณะพยาบาลศาสตร์, การอบรมเรื่อง “ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการตรวจวัดสายตา” โดยคณะแพทยศาสตร์ อีกทั้งยังได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการจัดหาและบริการดวงตา ภาค 10 ธนาคารดวงตา ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ปี พ.ศ.2540 และได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย อีกด้วย

ศาสตราจารย์ พญ.สมสงวน อัษญคุณ ได้ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทั้งการได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการดำเนินการจัดฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานของโครงการ พัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “การเตรียมตัวการเป็นแพทย์ที่ดีในอนาคต” ในโครงการการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยเหตุที่ ศาสตราจารย์ พญ.สมสงวน อัษญคุณ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิชาการ กอปรด้วยคุณธรรมและก่อประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง สมควรได้รับการยกย่องในวงการวิชาการ
สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีมติให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาวิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป




คำประกาศเกียรติคุณ
Achievement Announcements for Professor Emeritus Certificate Holders
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเบญจพร ไชยวรรณ์
Professor MD. Benjaporn Chaiwun
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะแพทยศาสตร์
Certificate of Professor Emeritus (Anatomical Pathology)


ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเบญจพร ไชยวรรณ์ ได้รับวุฒิบัตรความรู้ความเชี่ยวาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาพยาธิวิทยากายวิภาค จาก แพทยสภา สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีแพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเบญจพร ไชยวรรณ์ เริ่มรับราชการสังกัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในตำแหน่งอาจารย์ สังกัดภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2526 ต่อมาได้ย้ายตำแหน่งมาสังกัดภาควิชาพยาธิวิทยา และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2533 ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2549

ตลอดช่วงระยะเวลาที่รับราชการ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเบญจพร ไชยวรรณ์ ยังได้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์, เป็นนายกสมาคมวิทยาลัยพยาธิวิทยานานาชาติ สาขาประเทศไทย (International Academy of Pathology-Thailand Division), เป็นกรรมการสมาคมเซลล์วิทยาแห่งประเทศไทย, เป็นคณะทำงานตรวจเยี่ยมห้องปฏิบัติการเซลล์วิทยาในคณะอนุกรรมการประกันคุณภาพงานเซลล์วิทยา, คณะอนุกรรมการสอบเทียบมาตรฐานนักเซลล์วิทยาและการศึกษาต่อเนื่อง, เป็นส่วนหนึ่งของทีม Disease Specific cancer: breast cancer ของคณะฯ ซึ่งได้รับการรับรองในปี 2561, เป็นกรรมการ “กองทุนหมอเจ้าฟ้า” คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เป็นกรรมการกระบวนวิชาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต รวมถึงเป็นกรรมการปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเบญจพร ไชยวรรณ์ มีความรู้ ความสามารถและความชำนาญพิเศษในด้าน มะเร็งเต้านม (Breast cancer) และเซลล์วิทยาวินิจฉัย (Cytology) ได้ทำการสอนนักศึกษาแพทย์เทคนิคการแพทย์ พยาบาลศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ (นานาชาติ) ทันตแพทย์ รวมถึงนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ชั้นสูง ในสาขาวิชาพยาธิวิทยากายวิภาค และแพทย์ประจำบ้านสาขาพยาธิวิทยากายวิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านมะเร็งเต้านม (Breast cancer) และเซลล์วิทยาวินิจฉัย (Cytology) และร่วมในการจัดกิจกรรมตามประเพณี ในทุกวันสำคัญทางศาสนาและประเพณีชาวล้าวนา

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเบญจพร ไชยวรรณ์ ยังได้ทำงานวิจัยด้านมะเร็งเต้านม (Breast cancer) และเซลล์วิทยาวินิจฉัย (Cytology) โดยมีผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูล Scopus มากกว่า 70 เรื่อง และ
การเขียนบทในหนังสือระดับนานาชาติ ร่วมกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ในระดับนานาชาติ จำนวน 5 เล่ม และเป็นหนึ่งในผู้จัดทำระบบรายงานผลเชลล์วิทยาวินิจฉัยของมะเร็งเต้านม The International Academy of Cytology Yokohama System for Reporting Breast Fine-Needle Aspiration Biopsy Cytopathology

อนึ่ง ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเบญจพร ไชยวรรณ์ มีผลงานทางด้านการบริการวิชาการ โดยเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาพยาธิวิทยาคลินิก ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา รวมถึงได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยาวิชาการเกี่ยวกับ โรคของมะเร็งเต้านมและเซลล์วิทยาวินิจฉัย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง FNA Clinic (บริการการวินิจฉัยโรคโดยการเจาะดูดด้วยเข็มเล็ก) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และทำให้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาหรือวางแผนการรักษาได้ภายในวันเดียวกันที่มาโรงพยาบาล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมากในด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าบริการตรวจรักษา รวมถึงช่วยลดความกังวลของผู้ป่วย อีกด้วย

โดยเหตุที่ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเบญจพร ไชยวรรณ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิชาการ กอปรด้วยคุณธรรมและก่อประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง สมควรได้รับการยกย่องในวงการวิชาการ
สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีมติให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาวิชาพยาธิวิทยากายวิภาค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป



คำประกาศเกียรติคุณ
Achievement Announcements for Professor Emeritus Certificate Holders
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬาภรณ์ พฤกษชาติคุณ
Professor MD. Chulabhorn Pruksachatkun
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะแพทยศาสตร์
Certificate of Professor Emeritus (Pediatric Dermatology)


ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬาภรณ์ พฤกษชาติคุณ สำเร็จการศึกษา อนุมัติบัตร อนุสาขากุมารเวชศาสตร์ตจวิทยา จากแพทยสภา ประกาศนียบัตรผู้ทรงคุณวุฒิ สาขากุมารเวชศาสตร์ตจวิทยา จากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย Certificate in Pediatric Dermatology จากDr. Phillip Frost Department of Dermatology and cutaneous Surgery, University of Miami Miller School of Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา วุฒิบัตร สาขากุมารเวชศาสตร์ จากแพทยสภา แพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬาภรณ์ พฤกษชาติคุณ เริ่มรับราชการสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในตำแหน่งนายแพทย์ ระดับ 4 สังกัดคณะแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2527 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2533 ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2537 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อวันที่
24 มีนาคม 2547

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬาภรณ์ พฤกษชาติคุณ มีความรู้ ความสามารถและความชำนาญพิเศษในด้าน กุมารเวชศาสตร์ตจวิทยา ได้ทำการสอนระดับปริญญาตรี ระดับแพทย์ประจำบ้าน ด้านกุมารเวชศาสตร์ ด้าน
ตจวิทยา ในภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดับแพทย์ต่อยอด สาขากุมารเวชศาสตร์ตจวิทยา ของราชวิทยาลัยกุมารเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโท (แพทย์ประจำบ้าน)

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬาภรณ์ พฤกษชาติคุณ ยังได้สร้างผลงานวิจัยในด้านกุมารเวชศาสตร์ตจวิทยา เกี่ยวกับโรคหิด โรคติดเชื้อของผิวหนัง และโรคผิวหนังในเด็กทารกแรกเกิด ได้รับเชิญเป็นวิทยากร บรรยายให้ความรู้และแสดงผลงานเกี่ยวกับโรคผิวหนังเด็กทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เช่น World Congress of Dermatology, World Congress of Pediatric Dermatology, Annual Meeting American Academy of Dermatology, Regional Conference of Pediatric Dermatology, งานประชุมวิชาการประจำปี ของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย, หลักสูตรอนุปริญญา (Diploma course) ของสถาบันโรคผิวหนัง และการอบรมระยะสั้นของชมรมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย มากกว่า 80 เรื่อง มีผลงานตีพิมพ์บทความทางวิชาการในตำราต่างประเทศ ชื่อ Pediatric Dermatology ซึ่งมี Lawrence Schachner และ Ronald Hansen เป็นบรรณาธิการ ได้รับการตีพิมพ์ใน ปี พ.ศ.2546 (พิมพ์ครั้งที่ 3) และ ปี พ.ศ.2554 (พิมพ์ครั้งที่ 4) รวมถึงการนิพนธ์และเป็นบรรณาธิการในตำรา Scabies in Children, ตำราโรคผิวหนังสำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป และนิพนธ์หนังสือ Atlas of Pediatric Dermatology จัดทำโดย ชมรมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย อีกด้วย

อนึ่ง ศาสตราจารย์ พญ.จุฬาภรณ์ พฤกษชาติคุณ มีผลงานทางด้านการบริการวิชาการ โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการทั้งในองค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรในประเทศ ดังนี้ ประธานสมาพันธ์แพทย์ผิวหนังเด็กโลก, เป็นประธานจัดการประชุม World Congress of Pediatric Dermatology ครั้งที่ 11, กรรมการสมาพันธ์แพทย์ผิวหนังเด็กโลก, เป็นกองบรรณาธิการของวารสาร Pediatric Dermatology ซึ่งเป็นวารสารทางการของ Society for Pediatric Dermatology ประเทศสหรัฐอเมริกา European Society for Pediatric Dermatology, British Society of Pediatric Dermatology และ Spanish Society of Pediatric Dermatology, เป็นกรรมการก่อตั้งชมรมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย, เป็นกรรมการจัดทำและกรรมการสอบหลักสูตรวุฒิบัตร อนุมัติบัตรสาขากุมารเวชศาสตร์ตจวิทยา แพทยสภา, เป็นผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานทางวิชาการ ในระดับศาสตราจารย์ สาขาวิชาตจวิทยา ระดับรองศาสตราจารย์และระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาตจวิทยา และสาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยนเรศวร, เป็นกรรมการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในด้านองค์กรแพทย์และการบริหารความเสี่ยง, เป็นผู้ทรงคุณวุฒิของ Siriraj Medical Journal และดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการตรวจวินิจฉัย รักษา พร้อมให้คำแนะนำ ณ ห้องผู้ป่วยนอกคลินิกเฉพาะทางโรคผิวหนัง คลินิกพิเศษเด็ก และห้องตรวจผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในหอผู้ป่วยของภาควิชากุมารเวชศาสตร์และของภาควิชาอื่น ๆ รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมตามประเพณีของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันสำคัญทางศาสนาและประเพณีต่าง ๆ

โดยเหตุที่ ศาสตราจารย์ พญ.จุฬาภรณ์ พฤกษชาติคุณ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิชาการ กอปรด้วยคุณธรรมและก่อประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง สมควรได้รับการยกย่องในวงการวิชาการ
สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีมติให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ ตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป


แกลลอรี่