อยู่อย่างสุขใจ ในครอบครัวต่างวัย

22 เมษายน 2568

คณะแพทยศาสตร์

ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่คนมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกหลากหลายวัย เช่น คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย คุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา เป็นต้น แม้ว่าการอาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีสมาชิกหลากหลายช่วงวัย (multi-generation family) นี้จะมีข้อดีหลายอย่าง เช่น การดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลทางด้านร่างกาย และ ด้านจิตใจ แต่ความท้าทายที่เกิดจากความแตกต่างกันของความเชื่อ มุมมอง และ วิธีในการใช้ชีวิต ของคนแต่ละวัยนั้นก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากยิ่ง

?เทคนิคง่ายๆ 3 ข้อ ที่ช่วยให้การอยู่ร่วมกันในครอบครัวต่างวัยเป็นไปอย่างราบรื่น
คือเทคนิค “ฟัง – พูด – ทำ”
“ฟัง” เพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อโต้ตอบ
คนแต่ละวัยเติบโตมาในยุคที่แตกต่างกัน ความเชื่อหรือมุมมองในชีวิตก็ย่อมต่างกัน การที่เราต้องการจะเข้าใจใครสักคน จึงไม่ควรรีบด่วนตัดสิน
ลอง “ฟัง” ด้วยใจ อยากรู้ว่าเขาคิดอย่างไร ผ่านอะไรมาบ้าง และเหตุผลเบื้องหลังความเชื่อนั้นคืออะไร
การเปิดโอกาสให้เขาเล่าเรื่องในชีวิต จะทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น และสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นได้โดยไม่ต้องฝืนใจ
“พูด” ดีๆ เพื่อรักษาน้ำใจ
อยู่ร่วมกันย่อมมีความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่การพูดด้วยอารมณ์หรือคำพูดเชิงตำหนิซ้ำๆ อาจทำให้บรรยากาศในบ้านตึงเครียด เราสามารถเลือก “พูด” ในทางที่สร้างสรรค์มากขึ้น เช่น
• ชื่นชม ในข้อดีหรือจุดแข็งของคนในบ้าน
• ขอบคุณ ในสิ่งเล็กๆ ที่เขาทำให้เรา
• หรือเมื่อมีปัญหา ก็เลือกพูดด้วยเหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์
เพียงเท่านี้ การพูดคุยในบ้านก็จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับทุกคน
“ทำ” กิจกรรมร่วมกันเพื่อกระชับสัมพันธ์
กิจกรรมเล็กๆ อย่างทำอาหาร ดูหนัง หรือออกกำลังกายร่วมกัน เป็นเครื่องมือชั้นดีในการเชื่อมใจคนในครอบครัว แต่ขอให้ตั้งกติกาไว้ล่วงหน้า เช่น
• ไม่ใช้เวลาเหล่านี้เพื่อตำหนิกัน
• ไม่ชวนคุยเรื่องปัญหาหนักๆ
• ตั้งใจใช้เวลานี้เพื่อสร้างความสุขและเรียนรู้กันกิจกรรมเหล่านี้ยังเปิดโอกาสให้คนต่างวัยได้แลกเปลี่ยนความรู้ เช่น เด็กรุ่นใหม่สอนเทคโนโลยีให้ผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันก็เรียนทำกับข้าวแบบดั้งเดิมจากคุณตาคุณยาย

ความสุขในครอบครัว ไม่ได้เกิดจากการที่ทุกคนคิดเหมือนกันแต่เกิดจากความพยายาม “เข้าใจ เห็นใจ และช่วยกันประคองความสัมพันธ์ไว้”

ในยุคที่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด โรคซึมเศร้า หรือการพึ่งพาสารเสพติดเพิ่มสูงขึ้น การมีครอบครัวที่ “เข้าใจและดูแลกัน” คือเกราะป้องกันสำคัญที่สุด

ช่วยกันทำให้บ้านของเราเป็นที่ที่ อบอุ่น น่าอยู่ และปลอดภัย สำหรับทุกคนในทุกวัยด้วยกัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ผศ.นพ.อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.

เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

#วันครอบครัว #MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช #หมอสวนดอก #โรงพยาบาลสวนดอก #Medcmuในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedcmu
แกลลอรี่