มช. มข. ม.อ. ผสานพลัง วางแผนประเมินผลกระทบเศรษฐกิจ-สังคม มุ่งสร้างอนาคตยั่งยืน

19 กุมภาพันธ์ 2568

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมจัดทำแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนความร่วมมือทางวิชาการเพื่อประเมินผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม ในวันที่ 18 – 19 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุมบัวเรศ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.ชรินทร์ เตชะพันธุ์ (รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) กล่าวต้อนรับ ซึ่งเป็นการสานต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้กรอบแนวทาง "3 พลังเพื่อแผ่นดิน" ของทั้ง 3 มหาวิทยาลัย

การจัดทำแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนความร่วมมือฯ ครั้งนี้ เป็นโอกาสให้ 3 มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันกำหนดทิศทางและเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยสามารถแบ่งบทบาทหน้าที่ของแต่ละ มหาวิทยาลัยอย่างเหมาะสม ทำให้การดำเนินงานมีความราบรื่นและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้มี ส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างตรงจุด สามารถติดตามและประเมินผลความคืบหน้าของการดำเนินงานได้ ทำให้เกิด กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในทุกขั้นตอน ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน และช่วยส่งเสริมให้เกิดความสอดคล้อง กับทรัพยากรที่มีอยู่ของแต่ละมหาวิทยาลัย

ในการจัดทำแผนฯ มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนของไทย โดย ดร.สกุลทิพย์ กีรติพันธวงศ์ เลขาธิการสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย และอาจารย์ ดร.ทัศนีย์ นาคเสนีย์ กรรมการสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสงั คมไทย และรองคณบดีฝ่ายแผนงบประมาณและงานวิจัย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง

พร้อมกันนี้ ได้มีการนำเสนอ “ระบบสนับสนุนการติดตามและประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน” โดยวิทยากรจากสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ และกองแผนงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอการดำเนินงานของ มช. ซึ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เรื่อง “การพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะเมืองอัจฉริยะ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาย รังสิยากูล ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเมืองเพื่อความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พร้อมทั้งนำผู้เข้าร่วมโครงการศึกษาดูงาน “การพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะเมืองอัจฉริยะ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ณ พื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนมีการแบ่งกลุ่มกิจกรรมเพื่อจัดทำแผนอย่างมีประสิทธิภาพ ณ เรือนอ่างแก้ว มช.

ความร่วมมือจาก 3 มหาวิทยาลัยในการจัดทำแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนความร่วมมือฯ จะเป็นการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในด้านวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินโครงการ ตลอดจนการพัฒนา แนวทางการจัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคมในวงกว้างอย่างยั่งยืน และสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดความร่วมมือและโครงการที่เกี่ยวข้องในอนาคต ทำให้ทั้ง 3 มหาวิทยาลัยสามารถผลักดันศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืนและครอบคลุมยิ่งขึ้นต่อไป

https://www.facebook.com/share/p/162wDPxegY/
แกลลอรี่