พิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี “STT50”

25 พฤศจิกายน 2567

ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์

มาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 50 (The 50th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation (STT50)) ต้อนรับผู้เข้าร่วมงานจากนานาชาติรวมกว่า 1 พันคน ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่

รองศาสตราจารย์ ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 50 (The 50th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation (STT50)) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ประณัฐ โพธิยะราช ประธานการจัดงาน STT50 กล่าวรายงานความเป็นมาของการจัดงาน และศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่

ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ 3 หัวข้อ จากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ 3 ท่าน ได้แก่
หัวข้อ DISCOVERY OF ATMOSPHERIC NEUTRINO OSCILLATIONS โดย Prof. Dr. Takaaki Kajita Institute for Cosmic Ray Research, University of Tokyo, Japan (The Nobel Prize in Physics 2015) หัวข้อ Shrimp Innate Immunity – Discovering Crucial Functions of Immune Molecules and Applications in Disease Control โดย Prof. Dr. Anchalee Tassanakajon Chulalongkorn University, Thailand (Thailand Outstanding Scientist Award 2024) และหัวข้อ Scientific, technological and social solutions for shrimp emerging and re-emerging diseases for sustainable aquaculture in Thailand โดย Dr. Kallaya Sritunyalucksana-Dangtip The National Center for Genetic Engineering and Biotechnology (BIOTEC), NSTDA, Thailand (Thailand Outstanding Scientist Award 2024)

การประชุมวิชาการนานาชาติ STT50 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 1 พันคน จาก 20 ประเทศทั่วโลก มีการนำเสนอผลงานวิชาการแบบ oral presentations 200 เรื่อง และการนำเสนอแบบ Poster 300 เรื่อง ในหลากหลายสาขา อาทิ สาขาฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ เคมี คณิตศาสตร์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม และอาหารและวิทยาศาสตร์การเกษตร

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมยังสามารถเข้าร่วมการประชุมย่อย ซึ่งจะได้มีส่วนร่วมในการแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการรับมือกับความท้าทายระดับโลก และการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี โดยจะครอบคลุมหัวข้อที่สำคัญต่างๆ ตั้งแต่การใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ข้อมูลและดิจิทัล (รวมถึง Generative AI) ตลอดจนความท้าทายและโอกาสในด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ เพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติ, รังสีคอสมิก และความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์และการแพทย์ เป็นต้น

การประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี (STT) เป็นหนึ่งในการประชุมทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2517 หลังจากนั้นมหาวิทยาลัย ต่างๆ ก็ได้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ภายในงานนอกจากจะมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการ การประชุมย่อย และการบรรยายพิเศษจากนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกแล้ว ยังมีการออกบูธนิทรรศการ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงจากบริษัทต่างๆ อีกด้วย โดยตลอดระยะเวลา 5 ทศวรรษ ของการประชุม STT ได้เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีมากมาย ได้มาแบ่งปันข้อมูล ความเชี่ยวชาญ และสร้างเครือข่ายทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อร่วมกันสรรค์สร้าง องค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ และสร้างประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

สำหรับแนวคิดการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ STT50 ในปีนี้ คือ "Science x Creativity : Crafting the World" หรือ วิทยาศาสตร์ X การสร้างสรรค์ : รังสรรค์โลก โดยมุ่งเน้นการผสานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ากับความคิดสร้างสรรค์ เพื่อก่อให้เกิดการค้นหาและต่อยอดความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบเดิมๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีงานด้านวิทยาศาสตร์เชิงสร้างสรรค์มากมายที่จะพลิกโลกได้ในอนาคต เช่น หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ รวมถึงการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไป แผ่ขยายสู่สังคม ผ่านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยในการประชุมครั้งนี้มีการประชุมย่อยหลากหลายหัวข้อที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เช่น Generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่ออกแบบมา ให้สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ๆ คล้ายกับสมองซีกขวามนุษย์ และ Science Communication หรือการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ควบคู่กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สามารถถ่ายทอดคุณค่าของวิทยาศาสตร์สู่สังคมได้อย่างกว้างขวาง

การประชุมวิชาการนานาชาติ STT50 นอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 5 ทศวรรษของการประชุมแล้ว ยังเป็นโอกาสพิเศษในการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี แห่งการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2567 นี้ อีกด้วย ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุม STT มาแล้ว 5 ครั้ง คือ พ.ศ. 2521, 2527, 2532, 2540 และ 2555 ตามลำดับ

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการประชุมได้ที่เว็บไซต์ http://stt50.scisoc.or.th
แกลลอรี่