โรคไต อันตรายกว่าที่คิด

14 กุมภาพันธ์ 2565

คณะแพทยศาสตร์

ในบทความนี้จะกล่าวถึงโรคไตเรื้อรังซึ่งเป็นโรคไตที่พบมากที่สุด เมื่อการดำเนินของโรคไตเรื้อรังเข้าสู่ระยะสุดท้าย การรักษาด้วยยาจะไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต ซึ่งวิธีการบำบัดทดแทนไตมีอยู่ 3 วิธี คือ

1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

2. การล้างไตทางช่องท้อง

3. การปลูกถ่ายไต

ข้อมูลและสถิติจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไตพบว่าเพิ่มขึ้น ประมาณ 2 หมื่นรายต่อปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ล้างไตทางช่องท้อง และปลูกถ่ายไต รวมแล้วจำนวนประมาณ 1 แสน 5 หมื่นราย (สถิติ ปี พ.ศ. 2562)

จากการศึกษาวิจัยความชุกของโรคไตเรื้อรังในประเทศไทยพบโรคไตเรื้อรังระยะที่ 1-5 มีความชุกรวมทั้งหมดประมาณ 17.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากร เมื่อเทียบกับความชุกโรคไตเรื้อรังประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศในแถบยุโรปแล้วมีประเทศไทยมีอัตราความชุกโรคไตเรื้อรังที่สูงกว่า(ต่างประเทศที่กล่าวมาอัตราความชุกประมาณ 11-13 %) เมื่อคำนวณจากจำนวนประชากรทั้งหมดของไทยจึงคาดว่าคนไทยประมาณ 10 ล้านคน เป็นโรคไตเรื้อรัง แต่เนื่องจากโรคไตเรื้อรังระยะต้นมักจะไม่แสดงอาการ หรืออาการไม่ชัดเจน จึงทำให้ไม่ได้รับความสนใจหรือตัวผู้ป่วยเองก็ไม่ตระหนักถึงอันตราย ไม่ได้ให้ความสนใจ ไม่ไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ปล่อยให้มีการการเสื่อมของไตดำเนินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสู่ระยะที่เป็นมากขึ้น ซึ่งในโรคไตเรื้อรังนี้ไตที่เสื่อมไปแล้วจะไม่กลับมาฟื้นเป็นปกติเหมือนเดิมอีก

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีด้านใดบ้าง
ผลกระทบในระยะแรกๆอาจจะไม่ชัดเจนเนื่องจากไม่มีอาการและอาการแสดง หรือมีอาการที่รบกวนชีวิตของผู้ป่วยที่ไม่ชัดเจน ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้นจะไม่สูง แต่ผลกระทบที่มีมากจะเป็นในโรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 ที่เรียกว่าไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นระยะที่ผู้ป่วยต้องมาฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือผู้ป่วยต้องมาล้างไตทางช่องท้อง แม้ว่าวิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือการปลูกถ่ายไต เพราะผู้ป่วยไม่ต้องมาฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง มีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงกับคนปกติ แต่มีข้อจำกัดที่จำนวนการปลูกถ่ายไตในแต่ละปีสามารถทำได้ประมาณ 600-700 ราย เท่านั้นซึ่งขึ้นอยู่กับสมรรถนะของสถาบันที่มีจำนวนไม่มากในประเทศไทยและจำนวนไตบริจาคในแต่ละปีด้วย

สำหรับผู้ป่วยที่เข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้าย ผลกระทบที่มากที่สุดคือผู้ป่วยที่เป็นไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องทำการฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง ผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยนอกจากจะมีภาวะสุขภาพแย่ลงและเทียบกับก่อนเจ็บป่วยจะไม่เหมือนเดิม กระทบต่อความสามารถในการทำงานหรือประกอบอาชีพ ต้องปรับตัวอย่างมากทำให้เกิดความเครียดความวิตกกังวล จะต้องเดินทางฟอกเลือด สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง อย่างต่อเนื่องกรณีที่ฟอกเลือดในโรงพยาบาลหรือศูนย์ฟอกเลือด หากผู้ป่วยที่ทำงานจะมีผลกระทบต่อความก้าวหน้าในงานอาชีพ อาจจะมีรายได้ลดลง หรืออาจจะต้องลาออกจากงานที่ทำอยู่ด้วย

นอกจากนี้หากเป็นผู้ป่วยสูงอายุทางครอบครัวจะต้องหาผู้ดูแลหรือต้องมีคนคอยรับคอยส่งมาฟอกเลือด ก็จะมีค่าใช้จ่ายซ่อนเร้นอยู่ ที่จะต้องจ้างคนมาดูแล เป็นต้น นอกจากนี้เป็นผลกระทบต่องบประมาณด้านสาธารณสุขที่มากขึ้นเนื่องจากการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต เช่น ฟอกเลือด หรือการล้างไตทางช่องท้องเป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งก็เป็นเงินที่มาจากการเสียภาษีของประชาชนด้วย

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเรื้อรัง
– ที่พบมากที่สุดคือโรคเบาหวาน พบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีสาเหตุมาจากเบาหวาน 30-40 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยไตเรื้อรังทั้งหมด ดังนั้นหากผู้ป่วยเบาหวานดูแลตัวเองได้ไม่ดี ควบคุมโรคไม่ได้ท้ายที่สุดการดำเนินของโรคจะสู่ระยะสุดท้ายและต้องฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง
-ความดันโลหิตสูง
-โรคหัวใจและหลอดเลือด
-โรคไตอักเสบ หรือโรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น กลุ่มโรค SLE
-ผู้ที่ได้รับยาหรือสารที่เป็นพิษต่อไต เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มเอนเสด ยาสมุนไพรบางชนิด ยาปฏิชีวนะบางชนิด
-เป็นนิ่วในไตหรือในระบบทางเดินปัสสาวะ
-โรคถุงน้ำในไต
-โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนซ้ำหลายครั้ง
-มีมวลไตน้อยหรือลดลง หรือมีไตข้างเดียว
-ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป
-มีประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัว
-ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือ โรคอ้วน
-สูบบุหรี่

บุคคลที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคไตเรื้อรัง และเป็นโรคไตเรื้อรังอยู่แล้ว ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร
-ถ้ามีโรคที่เป็นความเสี่ยงอยู่แล้ว ต้องควบคุมดูแลควบคุมรักษาให้ดี อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง ยกตัวอย่าง เช่น โรคเบาหวาน ต้องควบคุมระดับน้ำตาลก่อนอาหารอยู่ในช่วง 80-130 มิลลิกรัม และควบคุมระดับระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (ฮีโมโกลบินเอวันซี: HbA1C) ประมาณร้อยละ 7 เป็นต้น
-ลดความอ้วนหรือลดน้ำหนัก
-ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3-4 วันในหหนึ่งสัปดาห์
-รับประทานอาหารที่เหมาะสม และจำกัดโซเดียม(ลดเค็ม)
-ไม่ซื้อยากินเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์
-หยุดสูบบุหรี่
-ผู้ที่มีความเสี่ยงควรตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะการหน้าที่ของไตอย่างสม่ำเสมอ ซึ่ง ทำได้โดยการตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะ
-ระวังภาวะหรือโรคที่ทำให้ร่างกายมีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง เช่น การติดเชื้อทางเดินอาหาร ท้องเสียอย่างรุนแรง

ยาที่มีอันตรายต่อไตอาจจะทำให้ไตวาย หรือการดำเนินของโรคแย่ลงได้ในผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือเป็นโรคไตเรื้อรังอยู่แล้ว
ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด(NSAIDs) ตัวอย่างยาชื่อในกลุ่มนี้ เช่น แอสไพริน(aspirin) ไอบูโพรเฟน(ibruprofen) พอนสแตน(ponstan?) ไดโคลฟีแน็ก(diclofenac) เป็นต้น และยาแก้ปวดกลุ่มที่สำคัญอีกกลุ่มคือยากลุ่มค็อกทู(COX-2) ตัวอย่างชื่อยากลุ่มนี้ เช่น ซีลีเบรกซ์(cerebrex?) อาร์คอกเซีย(arcoxia?) ไดนาสแตท(dynastat?) ยาแก้ปวดทั้งสองกลุ่มนี้ มีรายงานว่าทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว และกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังหากได้รับยากลุ่มนี้โดยไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากแพทย์ผู้รักษา อาจจะทำให้มีภาวะไตวาย บางรายถึงขั้นต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเพื่อแก้ไขปัญหาของเสียคั่งจากไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เนื่องจากเป็นยาแก้ปวดที่มีขายในร้านขายยาทั่วไป หากไม่ได้แจ้งเภสัชกรว่าเป็นโรคไตเรื้อรังหรือไม่ทราบว่าตัวเองมีความเสี่ยงอาจจะได้รับยากลุ่มนี้ทำให้เกิดผลเสียตามที่กล่าวมาแล้ว

ยาปฏิชีวนะรับประทานบางชนิด เช่น ยาซิโปรฟลอกซาซีน(ciprofloxacin) ยาปฏิชีวนะฉีดกลุ่มอะมิโนไกล์โคไซด์(aminoglycoside) เช่น ยาเจนตามัยซิน(gentamycin) ยาอะมัยกิน(amikin) นอกจากนี้ยาหรือสารทึบรังสีที่ใช้ในการตรวจซีทีแสกน ก็มีความเสี่ยงจะทำให้ไตเสื่อมมากขึ้นได้ ปกติแพทย์จะพิจารณาใช้ด้วยยากลุ่มนี้ความระมัดระวัง

กลุ่มสมุนไพรหรือผลไม้ที่มีข้อมูลว่าอันตรายต่อผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงหรือเป็นโรคไตเรื้อรัง ดังนั้นควรใช้สมุนไพรด้วยความระมัดระวัง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอโดยฌพาะผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไตเรื้อรังอยู่ตัวอย่างสมุนไพรหรือผลไม้ที่มีหลักฐานว่ามีอันตรายสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเป็นโรคไตเรื้อรัง เช่น มะเฟือง ลูกเนียง(มีสารที่ก่อให้เกิดอาการพิษที่ชื่อว่า กรดแจงโคลิค (djenkolic acid) ซึ่งเป็นพิษต่อไตอาจส่งผลให้ระบบไตล้มเหลวได้) ไคร้เครือ(เป็นพิษต่อตับ ไต และ ต่อมหมวกไต โดยทำให้เกิดไตวายและเป็นมะเร็งทางเดินปัสสาวะ) แฮ่ม นอกจากนี้สมุนไพร เช่น หนานเฉาเหว่ยหรือ(ป่าช้าเหงา) จากประสบการณ์ทำงานในหน่วยไตเทียมพบว่าทำให้ไตเสื่อมมากขึ้นเมื่อใช้ในผู้ป่วยไตเรื้อรัง

นอกจากนี้ตัวอย่างสมุนไพรที่อาจจะมีความเสี่ยง เช่น ชะเอมเทศ(อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง) เห็ดหลินจือ โสม(เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงหากรับประทานมากเกินไป) ลูกยอ(อาจทำให้มีโพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นอันตรายต่อไต) หญ้าไผ่น้ำ(มีฤทธิ์ขับปัสสาวะทำให้ไตต้องทำงานหนักมากเกินไป) ปอบิด(หรือปอกะบิด:เพิ่มการทำงานของตับและไต) หญ้าหนวดแมว(อาจทำให้มีโพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นอันตรายต่อไต) มะนาวโห่(อาจมีผลทำให้ไตขับสารโพแทสเซียมออกมาไม่ทัน ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ) เถาวัลย์เปรียง(มีสารแก้ปวดคล้ายยากลุ่มเอ็นเสด) ปวยเล้ง(มีปริมาณโพแทสเซียมที่สูง ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง) ตะลิงปลิง เครนเบอรี่ (รับประทานมากทำให้เกิดนิ่ว และผลการทำงานของไตผิดปกติ) ต้นอ่อนข้าวสาลี(มีปริมาณฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมสูงมาก ผู้ป่วยโรคไตจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน) เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: คุณเสาวรส ปริญญะจิตตะ หัวหน้าหน่วยไตเทียมฉุกเฉิน งานการพยาบาลผู้ป่วยอายุรศาสตร์ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แกลลอรี่