มช.-วช.-สนช.-ปตท. MOU ต่อยอดงานวิจัยพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์ ย่อยสลายได้ในร่างกายมนุษย์ ผลิตจากวัตถุดิบชีวมวลที่เป็นพืชผลทางการเกษตร มุ่งลดการนำเข้าจากต่างประเทศ 100%
22 มกราคม 2562
ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์ ระยะที่ 2 (ช่วงทดสอบตลาด “การผลิตพอลิเมอร์ดูดซึมได้คุณภาพสูงสำหรับเครื่องมือแพทย์”) เมื่อวันอังคารที่ 15 มกราคม 2562 ณ ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ดร.วิวรรณ ธรรมมงคล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนางสาวมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) ร่วมลงนามและแถลงข่าว เพื่อผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพประเภทเกรดทางการแพทย์ ที่สามารถผลิตได้ในห้องปฏิบัติการที่ใช้พืชผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบชีวมวล เมื่อโครงการแล้วเสร็จสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ 100% นำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับวัสดุทางการแพทย์ที่ย่อยสลายได้ในร่างกายมนุษย์ เช่น ไหมเย็บแผลที่ละลายได้ ท่อนำเส้นประสาท ตัวควบคุมการปล่อยตัวยาภายในร่างกาย และเครื่องมือแพทย์ เช่น วัสดุทางทันตกรรม สกรูและแผ่นดาม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วินิตา บุณโยดม หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และหัวหน้าห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก 4 หน่วยงาน ได้ร่วมทุนสนับสนุนโครงการผลิตพอลิเมอร์ดูดซึมได้คุณภาพสูงสำหรับเครื่องมือแพทย์ ในการสร้าง ห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นห้องปฏิบัติการแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้การรับรอง ISO 13485 (ระบบการบริหารจัดการคุณภาพอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์) จาก T?V S?D ประเทศสหรัฐอเมริกา ในขอบเขต “การออกแบบและพัฒนาการผลิตและจำหน่ายพอลิเมอร์การแพทย์” เพื่อผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพเกรดทางการแพทย์ตามมาตรฐานระดับนานาชาติ คือ ASTM F1925-09 (Standard Specification for Semi-Crystalline Poly(lactide) Polymer and Copolymer Resins for Surgical Implants) ซึ่งได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพของประเทศไทยเองโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาใหม่ โดยได้จดสิทธิบัตรต่างประเทศเรียบร้อยแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ตามเลขที่สิทธิบัตร US 9,637,507 B2 (May 2017) JP 6246225 (November 2017) CN 104903333B (Jan 2018) ขณะนี้ห้องปฏิบัติการได้ผลิตและจำหน่ายทางการค้าโดยใช้แผนธุรกิจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์
เม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพประเภทพอลิเอสเทอร์เกรดทางการแพทย์ที่สามารถผลิตได้ในห้องปฏิบัติการจากวัตถุดิบชีวมวลที่เป็นพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ตัวอย่างเช่น พอลิ(แอล-แลคไทด์) (พีแอลแอล) พอลิ(แอล-แลคไทด์-โค-คาโปรแลคโทน) (พีแอลซี) พอลิ(แอล-แลคไทด์-โค-ไกลคอไลด์) (พีแอลจี) มีชื่อทางการค้าคือ CMU-Bioplasorb? PLA, CMU-Bioplasorb? PLC และ CMU-Bioplasorb? PLG จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 78,000-90,000 บาท ซึ่งถูกกว่าสั่งซื้อจากต่างประเทศซึ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 120,000-200,000 บาท โดยเม็ดพลาสติกเกรดการแพทย์นี้สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตวัสดุทางการแพทย์ที่ย่อยสลายได้ในร่างกายมนุษย์ เช่น ไหมเย็บแผลที่ละลายได้ ท่อนำเส้นประสาท ตัวควบคุมการปลดปล่อยตัวยาภายในร่างกาย และ เครื่องมือแพทย์ เช่น วัสดุทางทันตกรรม สกรูและแผ่นดาม เป็นต้น อย่างไรก็ตามทั้งเม็ดพอลิเมอร์และวัสดุทางการแพทย์ดังกล่าวไม่สามารถผลิตใช้ได้เองในประเทศไทย ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผลักดันให้เกิดการใช้วัสดุทางการแพทย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและผลิตขึ้นเองในประเทศไทย ซึ่งจะส่งให้ลดการซื้อวัสดุและอุปกรณ์สิ้นเปลืองทางการแพทย์จากต่างประเทศซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยให้มีสุขภาพดี ทำให้แพทย์และคนไข้มีทางเลือกในการรักษา ซึ่งอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมปลายน้ำของพลาสติกที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงมาก มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แนวโน้มการขยายตัวคาดว่าจะต่อเนื่องไปในอนาคต เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุจึงต้องการการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพลาสติกและนวัตกรรมในการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบันคณะผู้วิจัยห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์ ร่วมมือกับทีมแพทย์และสัตวแพทย์ ในการนำเม็ดพลาสติกชีวภาพดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดโดยการขึ้นรูปเป็น ไหมเย็บแผลละลายได้ชนิดเส้นเดี่ยว ดำเนินการติดเข็ม ฆ่าเชื้อ บรรจุภัณฑ์ พร้อมใช้ ซึ่งไหมเย็บแผลละลายได้นี้สามารถย่อยสลายได้ด้วยปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสโดยระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย จึงช่วยลดขั้นตอนในการรักษา ทำให้ไม่ต้องทำการผ่าตัดซ้ำ ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและไม่ต้องทนเจ็บปวดหลายครั้ง ทั้งนี้เมื่อโครงการนี้สำเร็จสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ 100%
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด 4 หน่วยงานจึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์ ระยะที่ 2 (ช่วงทดลองตลาด “การผลิตพอลิเมอร์ดูดซึมได้คุณภาพสูงสำหรับเครื่องมือแพทย์”) ซึ่งจะมีการลงนามในวันนี้ โดยศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ ดร.วิวรรณ ธรรมมงคล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันนวัตกรรม ปตท. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
................................................................................................................................................................................................................
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วินิตา บุณโยดม
หัวหน้าห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โทรศัพท์ : 081-4810781 E-mail : winitacmu@gmail.com
สนใจซื้อผลิตภัณฑ์ ติดต่อ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP)
ชั้น 2 (อาคาร A) อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (เชียงใหม่)
155 หมู่ 2 ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100 โทรศัพท์ : 081-969-6919 โทรศัพท์ 053-942088-91 ต่อ 308